ดาวน์โหลดบทความดาวน์โหลดบทความ

วันดีคืนดีเกิดปวดหัวขึ้นมา ถือเป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าจะปวดแค่พอรำคาญ หรือปวดเหมือนหัวจะแตกก็ตาม คุณแก้ปวดหัวได้หลายวิธี แล้วแต่ลักษณะการปวด บทความวิกิฮาวนี้มีแนะนำทั้งวิธีแก้ปวดหัวเฉพาะหน้า และวิธีป้องกันไม่ให้ปวดหัวในระยะยาว ก่อนที่อาการปวดของคุณจะรุนแรงจนทนไม่ไหว เกินควบคุม

วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 4:

แก้ปวดหัวเฉพาะหน้า

ดาวน์โหลดบทความ
  1. How.com.vn ไท: Step 1 คุณปวดหัวแบบไหน.
    อาการปวดหัวมีหลายแบบ สำคัญมากว่าต้องหาให้ได้ ว่าคุณปวดหัวแบบไหน จะได้เลือกวิธีแก้ไขหรือรักษาถูกต้อง ให้พิจารณาจากความรุนแรงและระยะเวลาที่ปวดหัว รวมถึงสังเกตว่าปวดตรงไหน ถึงจะบอกได้ว่าเป็นการปวดหัวชนิดใด ลักษณะการปวดหัวที่พบบ่อยก็คือ
    • ปวดหัวเครียด: ลักษณะอาการคือปวดหัวอ่อนๆ ถึงปานกลางทั้งหัว เน้นหนักแถวหน้าผากหรือท้ายทอย ปวดหัวเครียดมักมีอาการนานหลายชั่วโมง
    • ปวดไซนัส: ลักษณะอาการคือปวดลึกๆ ในหน้า แถวสันจมูกหรือแก้มตรงใต้ตา มักควบคู่ไปกับอาการคัดจมูก ปวดหัวไซนัสมักเป็นนานหลายชั่วโมง ตามฤดูกาลที่เกิดอาการแพ้
    • ปวดไมเกรน: ลักษณะอาการคือปวดปานกลางไปจนถึงปวดมาก ควบคู่ไปกับอาการคลื่นไส้และไวต่อแสง/เสียง เน้นหนักที่ขมับ ดวงตา และท้ายทอย โดยจะปวดนานเป็นวันๆ หรือนานกว่านั้น[1]
    • ปวดหัวแบบคลัสเตอร์ (Cluster headache): ลักษณะอาการคือปวดแปลบรอบดวงตาข้างหนึ่ง หรือที่หัวข้างใดข้างหนึ่ง ปวดหัวแบบคลัสเตอร์จะปวดเรื่อยๆ ในระยะเวลาหลายอาทิตย์หรือเป็นเดือนๆ
  2. How.com.vn ไท: Step 2 ซื้อยาแก้ปวดกินเอง.
    ยาแก้ปวดส่วนใหญ่กว่าจะออกฤทธิ์ต้องรอ 1 - 2 ชั่วโมง เพราะงั้นให้รีบกินทันทีที่เริ่มปวดหัว[2] การแก้ปวดหัวต้องลงมือเร็วที่สุด ถึงจะปวดหัวแทบระเบิด แต่ยาอย่างไอบูโพรเฟน อะเซตามิโนเฟน นาพรอกเซน แอสไพริน กระทั่งสเปรย์แคปไซซินฉีดจมูก ถ้ากินหรือใช้เร็วพอ ก็ช่วยบรรเทาอาการได้
    • ถ้ามีโรคประจำตัวหรืออยู่ระหว่างการรักษาตัว จะกินยาอะไรต้องปรึกษาคุณหมอซะก่อน และถ้าซื้อยากินเอง ห้ามกินเกินขนาดหรือกินบ่อยกว่าที่ฉลากแนะนำ
    • ถ้ากินยาแก้ปวดเองทุกวัน จะเกิด Medication Overuse Syndrome หรืออาการจากการกินยาเกินขนาดได้ คือกินยาทั้งๆ ที่ไม่จำเป็น เพราะกลัวจะปวดหัว เลยกินกันไว้ก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิด จนเกิด ผลเสีย คือปวดหัวถี่กว่าเดิม เรียกว่า "rebound headaches" ถ้ารู้ตัวว่ากินยาแก้ปวดเกินอาทิตย์ละ 3 ครั้ง ให้รีบไปหาหมอจะดีกว่า
  3. How.com.vn ไท: Step 3 เมื่อไหร่ต้องไปหาหมอ.
    ถ้าปวดหัวควบคู่ไปกับอาการอื่นๆ เป็นไปได้ว่าเป็นสัญญาณบอกโรคอื่นที่ร้ายแรงกว่า เช่น โรคหลอดเลือดสมอง (stroke) ไข้สมองอักเสบ (encephalitis) และเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (meningitis) ต้องรีบไปหาหมอ ตรงไปแผนกฉุกเฉิน หรือเรียกรถพยาบาล ถ้าปวดหัวแล้วมีอาการดังต่อไปนี้[3]
    • มีปัญหาทางการมอง เดิน หรือพูดคุย
    • คอแข็ง
    • คลื่นไส้และ/หรืออาเจียน
    • มีไข้สูง (38 - 40 องศาเซลเซียส)
    • คล้ายจะเป็นลม
    • เหมือนจะเป็นอัมพาตครึ่งซีก
    • อ่อนแรงผิดปกติ มีอาการชา หรือขยับตัวไม่ได้
    • และต้องไปหาหมอเช่นกัน ถ้าปวดหัวบ่อย หรือปวดหัวรุนแรง กินยาแล้วไม่หาย หรือร่างกายเกิดอาการผิดปกติใดๆ
  4. How.com.vn ไท: Step 4 ระวังเรื่องคาเฟอีน เพราะเป็นดาบสองคม.
    ถึงคาเฟอีน (รวมถึงในยาแก้ปวดที่ขายกัน) จะช่วยแก้ปวดหัวได้ในช่วงแรกๆ แต่หลังจากนั้นอาจทำให้ปวดหัวหนักกว่าเดิม เพราะทำให้เกิดอาการร่างกายต้องการคาเฟอีนหรือต้องการหนักกว่าเดิม ช่วงที่กำลังปวดหัว ระดับ adenosine ในกระแสเลือดจะสูงขึ้น และคาเฟอีนจะไปบล็อกตัวรับ adenosine
    • ถ้าปวดหัวบ่อยๆ แนะนำให้งดคาเฟอีนไปเลยจะดีที่สุด
    • ถ้าปกติค่อนข้างติดคาเฟอีน (มากกว่า 200 มิลลิกรัมต่อวัน หรือประมาณกาแฟ 2 แก้ว) แล้วอยู่ๆ ก็หักดิบ มักมีผลข้างเคียงคือปวดหัว[4] ให้ค่อยๆ เอาชนะภาวะถอนคาเฟอีนไป ถ้าดื่มคาเฟอีนเยอะแล้วกลัวจะเป็นสาเหตุของอาการปวดหัว

    คำเตือน: พยายามใช้คาเฟอีนแก้ปวดหัว ไม่เกินอาทิตย์ละ 2 ครั้ง ถ้าบ่อยกว่านั้น ร่างกายจะเริ่มติดคาเฟอีน โดยเฉพาะคนที่ปวดหัวไมเกรน

  5. How.com.vn ไท: Step 5 ดื่มน้ำเยอะๆ.
    ถ้าร่างกายขาดน้ำ ก็เปิดอาการปวดหัวได้ โดยเฉพาะถ้าหมู่นี้มีอาการอาเจียนหรือเมาค้างด้วย[5] ให้ดื่มน้ำแก้วใหญ่ๆ ทันทีที่เริ่มปวดหัว และจิบต่อไปเรื่อยๆ ตลอดวัน น่าจะช่วยคลายปวดได้ในที่สุด
    • ผู้ชายให้ดื่มน้ำวันละ 13 แก้ว (3 ลิตร) ขึ้นไป ส่วนผู้หญิงให้ดื่มน้ำวันละ 9 แก้ว (2 ลิตรกว่าๆ) ขึ้นไป ถ้าปกติอยู่ไม่นิ่ง ออกกำลังกายบ่อย อากาศร้อนชื้นแบบบ้านเรา มีโรคที่ทำให้อาเจียนหรือท้องเสีย หรือกำลังอยู่ในช่วงให้นม ก็ต้องดื่มมากกว่านั้น[6]
    • อีกวิธีช่วยคำนวณปริมาณน้ำที่ควรดื่มในแต่ละวัน ก็คืออ้างอิงจากน้ำหนักตัว ทุกวันให้ดื่มน้ำประมาณ 15 - 30 มล. (0.5 - 1 ออนซ์) ต่อน้ำหนักตัว 0.5 กก. (1 ปอนด์)[7]
    • อย่าดื่มน้ำเย็นจัดเกินไปถ้าปวดหัวอยู่ เพราะน้ำเย็นจัดหรือน้ำใส่น้ำแข็ง จะไปกระตุ้นให้ปวดหัวไมเกรนได้ในบางคน โดยเฉพาะถ้าปกติปวดหัวไมเกรนอยู่เรื่อยๆ[8] ถ้าดื่มน้ำอุณหภูมิห้องได้จะดีที่สุด
  6. How.com.vn ไท: Step 6 พักผ่อนในมุมที่มืดและสงบ.
    ถ้าเป็นไปได้ ให้นอนพักผ่อนสัก 30 นาที ปิดม่าน มู่ลี่ ปิดไฟ และทำสมาธิ จดจ่อที่ลมหายใจ[9] เป็นการลดสิ่งเร้า ให้รู้สึกผ่อนคลาย ฟื้นตัว จะนอนเฉยๆ หลับไปเลย หรือแค่งีบครู่สั้นๆ ก็ได้
    • ถ้าจำเป็นต้องพักผ่อนโดยที่มีคนอื่นอยู่รอบข้าง ก็อธิบายไปว่าคุณปวดหัว ขอพักสักครู่ ให้เขาช่วยเงียบเสียง ขอความเป็นส่วนตัวสักพัก จะได้เข้าใจตรงกัน ไม่ถูกปลุกหรือรบกวนระหว่างพักผ่อน
    • เตียงหรือโซฟาต้องนอนสบาย มีอะไรรองหัวไว้ในท่าที่ไม่ทำให้คอตึงเกร็ง ถ้าคอเอียงไปข้างใดข้างหนึ่งจนตึงหรือปวด ให้ปรับท่าทางให้คอและหัวอยู่ในระนาบเดียวกัน
    • หลีกเลี่ยงการพักผ่อนในห้องที่มีแสงไฟจ้าๆ ที่ไม่ใช่แสงธรรมชาติ เพราะอาจทำให้ปวดหัวหนักกว่าเดิม ถึงจะเป็นคนตาบอดก็ไม่แนะนำ[10] อาจจะต้องใส่ผ้าปิดตากันแสงไว้แทน
    • บางคนจะผ่อนคลายได้ต่อเมื่ออยู่ในห้องที่อากาศเย็นๆ บางคนก็ชอบห่มผ้าหนาๆ หรือชอบห้องที่อุ่นๆ หน่อย ไม่เปิดแอร์ ก็ต้องลองดูว่าบรรยากาศแบบไหนทำให้คุณผ่อนคลายได้มากที่สุด โดยเฉพาะตอนนอนหลับในแต่ละคืน
  7. How.com.vn ไท: Step 7 ฝึกการเกร็งแล้วคลายกล้ามเนื้อ.
    การเกร็งแล้วคลายกล้ามเนื้อ ช่วยบรรเทาอาการปวดหัวได้[11] หรือจะออกกำลังกายแบบอื่น ที่เน้นการผ่อนคลาย คลายกล้ามเนื้อ เช่น โยคะท่าไม่ยาก หรือการทำสมาธิ ก็ช่วยได้เหมือนกัน
    • เริ่มฝึกการเกร็งแล้วคลายกล้ามเนื้อ โดยเอนตัวลงนอนในท่าสบายๆ หลับตา แล้วหายใจเข้า-ออกลึกๆ ช้าๆ เริ่มฝึกกล้ามเนื้อจากบริเวณหน้าผาก ให้เกร็งกล้ามเนื้อกลุ่มนั้น 5 วินาที จากนั้นผ่อนคลาย จับความรู้สึกที่กล้ามเนื้อคลายตัวออก แล้วขยับขยายไปยังกล้ามเนื้อกลุ่มถัดไป
    • กลุ่มกล้ามเนื้อที่แนะนำให้เกร็งแล้วคลาย คือหน้าผาก, ดวงตาและจมูก, ริมฝีปาก แก้ม ขากรรไกร, มือ, แขน, ไหล่, หลัง, หน้าท้อง, สะโพกและบั้นท้าย, ต้นขา, เท้า และนิ้วเท้า
  8. How.com.vn ไท: Step 8 ประคบเย็น.
    ประคบเย็นที่หน้าผากและดวงตา ช่วยให้หลอดเลือดหดตัว ลดการอักเสบและแก้ปวดหัวได้ โดยเฉพาะถ้าปวดบริเวณขมับหรือปวดไซนัส
    • เวลาประคบเย็น ให้เอาผ้าขนหนูชุบน้ำเย็น ใช้ประคบหน้าผาก ถ้าผ้าเริ่มอุ่น ให้เอากลับไปชุบน้ำเย็นจัดใหม่ทันที
    • หรือเอาผ้าขนหนูเปียกๆ ใส่ในถุงซิปล็อค แล้วเอาไปแช่ช่องฟรีซ 30 นาที เสร็จแล้วเอาออกมาประคบเย็นที่หน้าผากได้นานๆ ไม่ต้องชุบน้ำเพิ่มบ่อยๆ[12]

    เคล็ดลับ: ถ้า ปวดหัวเครียด จากความเครียด วิตกกังวล หรือปวดกล้ามเนื้อ ให้ ประคบร้อน จะแก้ปวดได้เห็นผลกว่าประคบเย็น[13]

  9. How.com.vn ไท: Step 9 นวดหน้าและหนังศีรษะ.
    เหมาะกับคนปวดหัวเครียด การนวดช่วยกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนดี คลายความตึงเครียด เลยบรรเทาอาการปวดหัวได้ นอกจากนี้ปวดหัวเครียด ยังเกิดได้เพราะหลายสาเหตุ ไม่ใช่แค่ความเครียด เช่น ผิดท่าทาง กัดกราม ไปจนถึงกล้ามเนื้อฉีก ความวิตกกังวลและซึมเศร้าก็กระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวชนิดนี้ได้ด้วย[14]
    • ถ้าจะนวดขมับ ให้เอานิ้วโป้งกดจุดที่นิ่มๆ ตรงกลางระหว่างใบหูกับหางตา เอานิ้วโป้งแตะขมับแล้วออกแรงกดลงไปตรงๆ จากนั้นนวดวนเป็นวงเล็กๆ จากขมับไปจนถึงกลางหน้าผาก[15]
    • ค่อยๆ นวดสันจมูก ก็ช่วยแก้ปวดหัวไซนัสและไมเกรนได้
    • อาบน้ำร้อน แล้วนวดหนังศีรษะนาวๆ ตอนสระผม หรือเทน้ำมันมะพร้าวหรืออาร์แกนออยล์ใส่นิ้วเล็กน้อย ใช้นวดหนังศีรษะได้เลย
  10. How.com.vn ไท: Step 10 นวดคอและไหล่.
    คอและไหล่ที่ตึงเกร็ง ทำให้ปวดหัวได้เหมือนกัน[16] อาการปวดหัวเครียดเป็นอาการปวดหัวที่พบบ่อยที่สุด แต่ก็แก้ได้ง่ายที่สุดเช่นกัน
    • เวลาจะนวดคอและไหล่ ให้นั่งลง เอามือจับไหล่ โดยที่ปลายนิ้วชี้ไปทางสะบัก หายใจออก อย่าเกร็งคอ ปล่อยตามสบาย ถ่ายน้ำหนักหัวไปด้านหลัง
    • ใช้นิ้วบีบนวด ออกแรงกดที่กล้ามเนื้อไหล่ โดยกดลงไปลึกๆ นวดวนเป็นวงเล็กๆ ขยับไปเรื่อยๆ ทางท้ายทอย
    • ประสานมือที่ท้ายทอย ก้มหน้าเล็กน้อย ใช้น้ำหนักของแขนถ่วงเล็กน้อย ค่อยๆ ยืดกล้ามเนื้อคอและไหล่

    วิธีทางเลือก: แทนที่จะนวดคอกับไหล่ ลองหาลูกเทนนิส หรือลูกแร็กเกตมาสัก 2 ลูก เอาใส่ถุงเท้า จากนั้นนอนราบบนพื้น ใช้ลูกบอล 2 ลูกที่ว่า รองที่ท้ายทอย แล้วผ่อนคลาย ตอนแรกอาจจะรู้สึกแน่นไซนัสหรือนอนไม่สบาย แต่เดี๋ยวก็จะดีขึ้นเอง

  11. How.com.vn ไท: Step 11 บริหารคอ.
    ปกติการยืดเหยียดและบริหารกล้ามเนื้อคอ ใช้บรรเทาอาการปวดหัวเรื้อรังในระยะยาว[17] แต่จริงๆ ก็ช่วยแก้ปวดเฉพาะหน้าได้เช่นกัน ต่อไปนี้คือท่ายืดเหยียดกล้ามเนื้อคอง่ายๆ ให้ได้ลองทำกัน[18]
    • ค่อยๆ ก้มหน้า เอาคางชิดอก อย่างอไหล่ จะรู้สึกตึงๆ ที่ต้นคอด้านหลัง เสร็จแล้วเงยหน้ากลับมาท่าตั้งต้น
    • ค่อยๆ หันหน้าไปข้างใดข้างหนึ่ง ค้างไว้ 15 - 30 วินาที กลับไปหน้าตรง แล้วทำซ้ำ คราวนี้หันไปอีกทาง แล้วกลับไปท่าตั้งต้น
    • ค่อยๆ เอียงคอ เหมือนจะให้หูแตะไหล่ (ระวังอย่ายกไหล่) ค้างไว้ 15 - 30 วินาที กลับมาหน้าตรง แล้วเอียงคอไปหาไหล่อีกข้าง ค้างไว้ 15 - 30 วินาทีตามเดิม
    • ระวังอย่ายืดเหยียดเกินองศาจนเจ็บ และทำซ้ำตามสมควร
  12. How.com.vn ไท: Step 12 ใช้เทคนิคกดจุด.
    กดจุดแล้วส่วนใหญ่ช่วยคลายเส้น แก้ปวดหัวได้ โดยเฉพาะคนที่ปวดหัวเพราะกล้ามเนื้อตึงเกร็งหรือความเครียด[19] ถ้ากดถูกจุด ที่คอ ไหล่ และมือ จะช่วยบรรเทาอาการปวดหัวได้
    • หลังหู: หากระดูก mastoid หลังหู แล้วคลำไปตามแนวโค้งของคอ จนถึงจุดที่กล้ามเนื้อยึดกับกะโหลก ให้กดจุดนี้ลึกลงไปตรงๆ 4 - 5 วินาที ระหว่างนั้นหายใจเข้า-ออกลึกๆ[20]
    • ไหล่: หาจุดที่กล้ามเนื้อไหล่ ตรงกลางระหว่างคอกับขอบไหล่ แล้วใช้มือฝั่งตรงข้าม (มือขวาจับไหล่ซ้าย มือซ้ายจับไหล่ขวา) บีบกล้ามเนื้อไหล่ ใช้นิ้วชี้กดค้างไว้ 4 - 5 วินาที[21]
    • มือ: นวดส่วนที่นุ่มๆ ของมือ ตรงกลางระหว่างนิ้วชี้กับนิ้วโป้ง โดยกดหนักๆ แล้วนวดวน 4 - 5 วินาที แต่ไม่ควรทำระหว่างตั้งครรภ์ เพราะกระตุ้นให้คลอดก่อนกำหนดได้[22]
    • หลัง: เอาลูกปิงปองใส่ในถุงเท้า แล้วเอนหลังพิงเก้าอี้ (หรือเบาะนั่งในรถ) ให้ลูกปิงปองอยู่ระหว่างหลังกับพนักพิง เพื่อใช้กดจุด
  13. How.com.vn ไท: Step 13 ฝึกเทคนิคคลายเครียด.
    คนทั่วโลกต่างก็มีเทคนิคดีๆ ไว้เบี่ยงเบนความสนใจตัวเองไปจากความเจ็บปวด ถ้ากำลังปวดหัวได้ที่ ก็ไม่เสียหายที่จะลองใช้ทางแก้ใหม่ๆ ดู ขอแค่เลือกวิธีที่ไม่แหวกแนวเกินไปสำหรับคุณ วิธีผ่อนคลายที่คนนิยมกันก็เช่น
    • นั่งสมาธิ
    • สวดมนต์
    • หายใจเข้า-ออกลึกๆ
    • จินตนาการที่สถานที่หรือเรื่องที่ชอบ
    • บำบัดด้วย binaural beats คือฟัง 2 คลื่นที่มีความถี่แตกต่างกัน
    • ทำใจให้สงบ ถ้าผ่อนคลายจนหลับไปได้ยิ่งดี
  14. How.com.vn ไท: Step 14 ฝึกหายใจ.
    ถึงจะเป็นแค่การหายใจเข้า-ออก แต่ถ้าทำถูกวิธีก็ช่วยได้ บางคนอาจจะมองว่าแค่หายใจจะช่วยอะไร แต่การผ่อนคลาย หายใจเข้า-ออกลึกๆ ช้าๆ จริงๆ แล้วเป็นการฝึกสมาธิจดจ่อ แค่หายใจเข้า-ออกลึกๆ ก็คลายความตึงเครียด ให้คุณสบายตัว ให้ปวดหัวได้ในไม่กี่นาที[23]
    • ก่อนจะฝึกหายใจ ให้หาที่มืด เงียบๆ อากาศเย็นสบาย ทำตัวให้สบายที่สุด จากนั้นนอนราบหรือนั่งในท่าสบายๆ เสื้อผ้าคับแน่นให้คลายออก หายใจเข้าช้าๆ ทางจมูก จะรู้สึกว่าท้องป่องขึ้น ตอนสูดลมเข้าปอด ค้างไว้ 2 - 3 วินาที จากนั้นหายใจออกช้าๆ ทางปาก จนลมหมดปอด[24]
    โฆษณา
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 4:

ใช้วิธีธรรมชาติ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. How.com.vn ไท: Step 1 วิธีธรรมชาติใช้ได้แต่ต้องระวัง.
    มีบางวิธีธรรมชาติที่ช่วยแก้ปวดหัวได้ แต่ต้องคำนึงถึงผลข้างเคียงและความเสี่ยงที่จะเกิดอาการแพ้ ที่สำคัญคือพิจารณาจากสุขภาพของคุณเองด้วย (เช่น ห้ามใช้วิธีธรรมชาติโดยไม่ปรึกษาแพทย์ ถ้าตั้งครรภ์หรือเจ็บป่วยด้วยโรคอะไรอยู่)
    • วิธีธรรมชาติต่างๆ ยังไม่ค่อยผ่านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ องค์การอาหารและยารวมยังไม่รองรับ และขาดใบอนุญาตต่างๆ
  2. How.com.vn ไท: Step 2 ลองใช้สมุนไพร.
    เลือกสมุนไพรในรูปอาหารเสริมที่รับรองมาตรฐานแล้ว โดยมี active ingredient เพียงพอในแต่ละโดส มีสมุนไพรหลายตัวที่มีสรรพคุณแก้ปวดหัวได้[25] แต่บางตัวก็ยังไม่มีหลักฐานงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์มารับรองผลแน่ชัด ยังต้องรอการวิจัยเพิ่มเติมต่อไป ถ้าจะใช้แก้ปวดหัว ต้องใช้อย่างมีวิจารณญาณ และหยุดใช้ทันที ถ้ามีผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์[26]

    สมุนไพรแนะนำ
    Butterbur: ใช้ลดความถี่ของอาการปวดหัวไมเกรน ถ้ากินบัตเตอร์เบอร์ในรูปของอาหารเสริม (เพราะตัวพืชเองมีส่วนที่เป็นพิษ ซึ่งถูกกำจัดไปตอนแปรรูปเป็นแคปซูล)[27]
    ขิง: นอกจากแก้ปวดหัวแล้ว ขิงยังช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน ซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่พบบ่อยเวลาปวดหัวรุนแรง[28]
    ผักชี: เมล็ดผักชีใช้บรรเทาอาการอักเสบอันเป็นสาเหตุของอาการปวดหัวได้[29]
    ชา: ชงชาสักถ้วยจาก passion flower (ดอกกะทกรก), โรสแมรี่ หลิว หรือลาเวนเดอร์ ก็ช่วยบรรเทาอาการปวดหัวได้[30]

  3. How.com.vn ไท: Step 3 ใช้อโรมาเธอราพี.
    วิธีเตรียมอโรมาเธอราพีจะต่างกันไปพอสมควร แต่น้ำมันหอมระเหยส่วนใหญ่ที่ใช้แก้ปวดหัวจะเป็น น้ำมันลาเวนเดอร์ สวีทมาร์จอรัม และคาโมไมล์ โดยใช้นวดคอ ผสมน้ำอาบ หรือสูดดม[31]
    • สำหรับแก้ปวด ให้ผสมน้ำมันโรสแมรี่ 5 หยด น้ำมันจันทน์เทศ 5 หยด น้ำมันลาเวนเดอร์ 5 หยดในน้ำมันตัวพา (carrier oil) อย่างน้ำมันมะกอกหรือน้ำมันมะพร้าว จากนั้นใช้นวดคอและหลังส่วนบน
  4. How.com.vn ไท: Step 4 แก้ปวดหัวด้วยอาหาร.
    ขาดอาหารก็ทำให้ปวดหัวได้ ต้องกินอาหารเป็นเวลาในปริมาณที่เพียงพอ อาหารและเครื่องดื่มบางอย่างกระตุ้นให้ปวดหัวได้ (ตัวการที่พบบ่อยคือไวน์แดง ผงชูรส และช็อคโกแลต)[32] จะกินอะไรต้องระวัง อย่ากินอาหารที่รู้ว่าทำคุณปวดหัวบ่อยๆ และอาหารบางอย่าง กินแล้วแก้ปวดหัวได้เช่นกัน

    เคล็ดลับ: คุณแก้ปวดหัวได้โดย กินอาหารที่มีแมกนีเซียม เช่น อัลมอนด์ กล้วย มะม่วงหิมพานต์ และอะโวคาโด อาหารเผ็ดร้อน เช่น พริกหวาน พริกขี้หนู และอาหารที่อุดมสารอาหาร อย่างผักใบเขียวเข้ม เช่น ปวยเล้ง[33]

    โฆษณา
วิธีการ 3
วิธีการ 3 ของ 4:

ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตไม่ให้กลับมาปวดหัว

ดาวน์โหลดบทความ
  1. How.com.vn ไท: Step 1 นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ.
    ถ้ามี "กิจวัตรการนอน" ที่ดี นอนหลับสนิทเพียงพอ ก็ช่วยให้รู้สึกดีขึ้นโดยรวม ไม่ปวดหัวบ่อยๆ เหมือนเดิม ถ้าเป็นผู้ใหญ่ แนะนำให้นอนหลับวันละ 7 - 8 ชั่วโมงขึ้นไป[34] ถ้ามีปัญหาการนอน ให้ลองใช้เทคนิคต่อไปนี้ดู
    • ลด "การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์" ก่อนเข้านอน
    • เตียงเอาไว้จู๋จี๋กับคนรู้ใจ และนอนหลับพักผ่อนเท่านั้น
    • พยายามงดคาเฟอีนหลังเที่ยงเป็นต้นไป
    • ลดแสงในห้องเหลือแค่สลัวๆ ให้ร่างกายได้ "ค่อยๆ ผ่อนคลาย" เตรียมตัวเข้านอน
  2. How.com.vn ไท: Step 2 ระวังเรื่องกลิ่นฉุน.
    [35] ถึงน้ำหอมกับผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่แต่งกลิ่น เช่น สบู่ และโลชั่น จะช่วยให้ตัวเราหอมสะอาด แต่ก็อาจทำคุณปวดหัวได้ ให้ลองเปลี่ยนไปใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่แต่งกลิ่นหรือผสมน้ำหอม รวมถึงขอให้คนใกล้ตัวทำแบบเดียวกัน อาจถึงขั้นเอาน้ำหอมปรับอากาศออกจากห้องนั่งเล่น ห้องทำงาน หรือในรถด้วย
  3. How.com.vn ไท: Step 3 ปรับเปลี่ยนอาหารการกิน.
    ถึงจะไม่ได้แก้ปวดหัวเฉพาะหน้า แต่ถ้าปรับเปลี่ยนอาหารการกินในระยะยาว จะช่วยแก้ต้นตอของอาการปวดหัวได้ ถ้าไม่แน่ใจว่าควรเริ่มตรงไหน ลองปรึกษาคุณหมอหรือนักโภชนาการดู[36]
    • เช็คว่าตัวเองมีอาการแพ้อาหารไหม ถ้ามี ให้ตัดอาหารชนิดนั้นออกจากแต่ละมื้อของวัน
    • ลดปริมาณคาเฟอีน เพราะคาเฟอีนไปกระตุ้นให้ปวดหัวได้ งดคาเฟอีนแรกๆ อาจจะดูไม่ค่อยเห็นผล เพราะบางคนก็ปวดหัว แต่จะเป็นแค่ชั่วคราว พอผ่านระยะนี้ไปได้ จะอาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
    • พยายามหลีกเลี่ยงหรือลดอาหารที่กระตุ้นให้ปวดหัว โดยเฉพาะอาหารที่มีผงชูรส ไนไตรต์ และไนเตรท (เนื้อหมัก) ไทรามีน (ชีสบ่ม ไวน์ เบียร์ และเนื้อแปรรูป) ซัลไฟต์ (ผลไม้อบแห้ง ซอสต่างๆ และไวน์) และซาลิไซเลต (ชา น้ำส้มสายชู และผลไม้)[37]
  4. How.com.vn ไท: Step 4 รักษาโรคระบบกล้ามเนื้อและกระดูก.
    ถ้ากระดูกหลังและคอคด หรือมีปัญหาเรื่องร่างกายผิดรูป กล้ามเนื้อตึงเกร็ง ก็ต้องแก้ไขก่อน เพราะเป็นต้นตอของอาการเจ็บปวด ถึงปกติเราจะบรรเทาอาการผิดปกติในระบบกล้ามเนื้อและกระดูกได้บางส่วน โดยออกกำลังกาย เช่น ยืดเหยียด โยคะ และพิลาทิส แต่แนะนำให้ไปหาคุณหมอเฉพาะทางร่วมด้วย หรือนักกายภาพบำบัด และนักจัดกระดูก (chiropractor) เพื่อประเมินสภาพร่างกายให้รักษาอาการได้เห็นผล
  5. How.com.vn ไท: Step 5 เล่นโยคะ.
    โยคะเน้นลดอาการตึงเกร็ง เลยแก้หรือบรรเทาอาการปวดหัวได้ และป้องกันไม่ให้กลับมาปวดหัวอีกบ่อยๆ ไม่ต้องเล่นท่ายาก แค่หมุนคอหรือทำโยคะผ่อนคลายก็เพียงพอแล้ว
  6. How.com.vn ไท: Step 6 จัดโต๊ะทำงานให้ตรงตามหลักการยศาสตร์ (Ergonomics).
    บางทีท่านั่งทำงานหรือใช้คอมของคุณ ก็เป็นตัวการทำคุณปวดหัวได้ ต้องปรับระดับความสูงของโต๊ะและเก้าอี้ให้เหมาะสม รวมถึงระยะห่างระหว่างตัวคุณและโต๊ะ โดยอ้างอิงจากสรีระของคุณ[38]
    • คอต้องไม่ก้มหรือเงยตอนนั่งทำงาน เรามักจะเผลอตัวห่อไหล่ หลังงอ จนคอยื่นไปข้างหน้าเหมือนเต่า ตอนนั่งทำงานหน้าคอมหรือใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นานๆ ถ้ารู้ตัวว่าชอบนั่งคอยื่น ให้ขยับหน้าจอคอม เพื่อให้หน้ามองตรง
    • พักจากการทำงานหรือใช้คอมเป็นระยะ บริหารสายตาโดยมองใกล้-ไกลสลับกันไปสัก 2 - 3 นาที ต่อการทำงานทุกชั่วโมง รวมถึงยืดเหยียดร่างกายด้วยท่าง่ายๆ
  7. How.com.vn ไท: Step 7 หาหมอตามโรค.
    มีหลายโรคที่ทำให้คุณปวดหัวได้ ถ้ายังปวดหัวจนเป็นปัญหาต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แนะนำให้คุณหมอตรวจวินิจฉัยว่าอะไรเป็นต้นตออาการปวดหัวของคุณ เพื่อทำการรักษาต่อไป

    คุณหมอเฉพาะทาง:
    หมอฟัน ถ้าปกตินอนกัดฟัน หรือขากรรไกรไม่สบกัน ฟันผุ มีฝี หรือติดเชื้อหลังถอนฟัน ก็ทำให้ปวดหัวได้ทั้งนั้น
    หมอตา ถ้าตาสั้น เอียง ยาวแล้วไม่ได้ใส่แว่น หรือแว่นที่ใส่ไม่ตรงตามค่าสายตา ก็ทำให้ตาล้าจนปวดหัวได้เหมือนกัน
    หมอหู คอ จมูก ถ้ามีอาการติดเชื้อ เยื่อแก้วหูทะลุ หรือโรคอื่นๆ เกี่ยวกับหู คอ จมูก ที่ไม่ได้รับการรักษาให้หายขาด ก็ทำให้ปวดหัวได้

  8. How.com.vn ไท: Step 8 ใจเย็นๆ...
    ใจเย็นๆ. ถ้าโมโห หงุดหงิด รำคาญใจ เท่ากับกล้ามเนื้อตึงเกร็งสะสม จนถึงจุดที่คลี่คลายเองไม่ได้ เกิดอาการปวดหัว ทั้งความวิตกกังวล ความเครียด และซึมเศร้า ต่างก็ทำให้คุณปวดหัวได้ทั้งนั้น บางทีอาจจะต้องเข้ารับการบำบัด ปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตบำบัด เพื่อหาทางจัดการอารมณ์ที่ส่งผลต่อชีวิตประจำวันของคุณ[39]
    • ถ้าปกติชอบเผลอกัดกรามหรือเคี้ยวฟัน ต้องพยายามผ่อนคลายใบหน้า อาจจะหาวเพื่อลดกล้ามเนื้อใบหน้าตึงเกร็งก็ได้
    • ฝึกเทคนิคคลายกล้ามเนื้อก่อนเรื่องเครียด เช่น การสอบ เข้าพิธีแต่งงาน สอบใบขับขี่ และอื่นๆ
  9. How.com.vn ไท: Step 9 จดบันทึกทุกครั้งที่ปวดหัว.
    เพื่อให้เห็นรูปแบบของพฤติกรรมทำคุณปวดหัว เช่น หลังทำงานเครียดมาทั้งวัน สื่อสารกับใครไม่เข้าใจ หลังกินอาหารบางอย่าง ช่วงเริ่มเป็นเมนส์ และอื่นๆ พอรู้แล้วว่าอะไรเป็นตัวกระตุ้นให้คุณปวดหัว ก็หาทางแก้ไขป้องกันได้ก่อนจะทันปวดหัว
    • แถมบันทึกนี้ยังเป็นประโยชน์มากต่อการวินิจฉัยของคุณหมอ กรณีที่คุณปวดหัวบ่อยๆ ไปหาหมอเมื่อไหร่ก็อย่าลืมเอาบันทึกนี้ไปด้วย
  10. How.com.vn ไท: Step 10 เลิกสูบบุหรี่.
    ถ้าปกติสูบจัด ก็เท่ากับกระตุ้นให้ปวดหัวบ่อย เพราะควันบุหรี่มีสารที่ก่อให้เกิดอาการปวดหัว เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ ส่วนตัวบุหรี่เองก็มีสารอย่างนิโคติน ที่ทำให้หลอดเลือดหดตัว จนเกิดอาการปวดหัว แถมทำให้ตับย่อยยาแก้ปวดหัวไม่ได้ด้วย[40]
    • เลิกสูบบุหรี่แล้วทำให้ปวดหัวน้อยลงได้ โดยเฉพาะถ้าปกติ “ปวดหัวแบบคลัสเตอร์” คือปวดรุนแรงเป็นชุดๆ ตลอดวัน[41] มีหลายงานวิจัยชี้ว่าคนที่สูบบุหรี่น้อยลง จะช่วยให้ความถี่ในการปวดหัว น้อยลงไปครึ่งหนึ่งเลย
    • บางทีก็ปวดหัวเพราะควันบุหรี่มือสอง โดยเฉพาะถ้าแพ้หรือไวต่อควันบุหรี่ ถ้าคุณเป็นคนไม่สูบบุหรี่ แต่ต้องอยู่ท่ามกลางคนสูบบุหรี่เป็นประจำ ก็อาจจะปวดหัวเพราะสาเหตุนี้
    โฆษณา
วิธีการ 4
วิธีการ 4 ของ 4:

ป้องกันอาการปวดหัวแบบต่างๆ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. How.com.vn ไท: Step 1 หาว่าปวดหัวแบบไหน.
    ส่วนใหญ่คนจะปวดหัวเครียด หรือเกิดจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ไม่อันตรายอะไร ถึงบางทีจะปวดมากจนทำอะไรลำบากก็ตาม แต่ถ้าปวดหัวถี่มาก ปวดหัวรุนแรง ปวดหัวแบบกินยาก็ไม่หาย หรือปวดหัวแล้วมีอาการอื่นร่วมด้วย ต้องรีบไปหาหมอทันที เพื่อหาสาเหตุและรักษาต่อไป
    • สาเหตุของอาการปวดหัวกว้างมาก เลยสำคัญว่าต้องหาให้ได้ว่าปวดหัวเพราะอะไร เพื่อให้รักษาถูกจุดจนหายขาดต่อไป
  2. How.com.vn ไท: Step 2 ถ้าปวดหัวเครียด ก็ต้องไม่เครียด.
    ปวดหัวเครียดเป็นลักษณะอาการที่พบบ่อยที่สุด จะปวดหัวไม่รุนแรงเท่าแบบอื่น แต่ปวดทีเป็นชั่วโมงกระทั่งเป็นวันๆ ปวดหัวเครียดมักเกิดจากอาการตึงเกร็งของกล้ามเนื้อ เหมือนมีอะไรคาดรัดที่ตาและหน้าผาก[42]
    • อาจจะปวดหัวตื้อๆ หรือปวดเป็นระยะ ถ้าไม่แก้ที่ต้นตอ ตามมาด้วยรู้สึกไม่ค่อยดี โดยเฉพาะถ้ามีอาการวิตกกังวลหรือซึมเศร้าด้วย อาการปวดหัวลักษณะนี้ ถ้ากินยาแก้ปวด พักผ่อน และแก้ที่ต้นตอ แล้วส่วนใหญ่จะหาย[43]
    • การนวด นวดกดจุด โยคะ และเทคนิคคลายเครียดต่างๆ ช่วยป้องกันอาการปวดหัวเครียดได้[44]
    • "ปรึกษานักจิตบำบัด" พูดคุยกันเรื่องที่คุณเครียดและวิตกกังวล ก็ช่วยป้องกันและบรรเทาอาการปวดหัวเครียดได้[45]
  3. How.com.vn ไท: Step 3 ป้องกันอาการปวดหัวไมเกรนด้วยการออกกำลังกาย....
    ป้องกันอาการปวดหัวไมเกรนด้วยการออกกำลังกาย. ไมเกรนอาจเกิดเพราะพันธุกรรม แม้ว่านักวิจัยจะยังชี้ชัดไม่ได้ก็ตาม ว่าอะไรทำให้เกิดไมเกรน[46] เวลาคุณปวดหัวไมเกรน จะปวดตุบๆ บางทีก็คลื่นไส้รุนแรง และอาเจียน แถมอาจมีปัญหาทางการมองที่เรียกว่า "ออร่า" คือเห็นดาว แสงกะพริบ หรือสูญเสียการมองเห็นบางส่วน
    • บางทีก็ปวดหัวไมเกรนแล้วเกิดอาการชาหรืออ่อนแรง ไมเกรนเกิดได้ทั้งจากอาหาร ตัวก่อความเครียด ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง อุบัติเหตุ การใช้ยา กระทั่งสิ่งเร้าอื่นๆ ที่ระบุไม่ได้ ถ้าปวดหัวไมเกรนบ่อยๆ ต้องหาหมอเพื่อรับยาหรือการรักษาต่อไป[47]
    • การออกกำลังกายทั่วไป โดยเฉพาะแอโรบิก ช่วยป้องกันการปวดหัวไมเกรนได้ เพราะไปคลายความตึงเครียดของร่างกาย บางทีก็ปวดหัวไมเกรนเพราะโรคอ้วน เพราะงั้นถ้าออกกำลังกายก็ช่วยป้องกันไมเกรนได้ เพราะผอมลง หรือคงน้ำหนักไว้ไม่ให้เกินเกณฑ์[48]
    • ค่อยๆ วอร์มร่างกายไปก่อนออกกำลังกาย ถ้าอยู่ๆ มาออกแรงหนักๆ ออกท่าทางเยอะๆ โดยไม่วอร์มร่างกาย ก็เป็นสาเหตุของไมเกรนได้ กระทั่งกิจกรรมเข้าจังหวะบนเตียง ถ้าฉุกละหุกรุนแรง ก็อาจทำคุณปวดหัวไมเกรนได้เช่นกัน[49]
    • ปวดหัวไมเกรนจะดีขึ้นได้ ถ้าดื่มน้ำให้มากขึ้น และกินอาหารครบหมู่ในปริมาณที่เหมาะสม
  4. How.com.vn ไท: Step 4 แก้ปวดหัวคลัสเตอร์โดยงดแอลกอฮอล์และนิโคติน....
    แก้ปวดหัวคลัสเตอร์โดยงดแอลกอฮอล์และนิโคติน. จริงๆ แล้วนักวิจัยก็ยังไม่รู้แน่ชัด ว่าอะไรเป็นสาเหตุของอาการปวดหัวแบบคลัสเตอร์ เพราะงั้นเราทำได้แค่แก้ไขหลังปวดหัวคลัสเตอร์ขึ้นมาครั้งแรก[50] ปวดหัวแบบคลัสเตอร์เป็นหนึ่งในอาการปวดหัวที่ทรมานที่สุด โดยจะปวดรุนแรงบริเวณดวงตา (ที่หัวข้างใดข้างหนึ่ง) รวมถึงหนังตาตก มีน้ำมูก และตาฉ่ำ[51]
    • ถ้าปวดหัวแบบนี้บ่อยๆ อย่านิ่งนอนใจ ให้รีบไปหาหมอเพื่อตรวจรักษาโดยด่วน ต่อไปนี้คือยาและการรักษาที่ช่วยบรรเทาอาการได้[52]
    • หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์และนิโคติน ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดอาการปวดหัวคลัสเตอร์ในอนาคตได้ แต่ใช้ตอนกำลังปวดหัวคลัสเตอร์ไม่ได้[53]
    • เขาวิจัยกันมาแล้ว ว่าการบำบัดด้วยออกซิเจน คือสูดดมออกซิเจนผ่านหน้ากาก ช่วยเรื่องปวดหัวคลัสเตอร์ได้[54]
    • มีหลายงานวิจัยชี้ว่า ถ้าร่างกายได้รับเมลาโทนิน 10 มิลลิกรัมก่อนเข้านอน จะช่วยลดความถี่ของอาการปวดหัวคลัสเตอร์ได้[55] อาจเพราะอาการปวดหัวคลัสเตอร์จะเกิดตอนวงจรการนอนหลับของคุณถูกรบกวน[56]
  5. How.com.vn ไท: Step 5 ป้องกันอาการปวดหัวเพราะใช้ยาเกินขนาด (medication overuse...
    ป้องกันอาการปวดหัวเพราะใช้ยาเกินขนาด (medication overuse headache (MOH)) โดยใช้ยาแก้ปวดอย่างระวัง. อาการปวดหัวเพราะใช้ยาเกินขนาด (medication overuse headache (MOH)) หรือ "rebound headache" เกิดจาก withdrawal symptoms หรืออาการถอนยา จากการกินยาแก้ปวดต่อเนื่องนานๆ (โดยเฉพาะกินยาเพราะปวดหัวเครียด) ทั้งนี้อาการปวดหัวแบบ MOH นั้นรักษาหายขาดได้แน่นอน
  6. How.com.vn ไท: Step 6 ป้องกันอาการปวดหัวเพราะเมาค้าง โดยดื่มน้ำ....
    ป้องกันอาการปวดหัวเพราะเมาค้าง โดยดื่มน้ำ. ปวดหัวเพราะเมาค้างเป็นหนึ่งในอาการปวดหัวที่พบบ่อยมาก เรียกว่าในแต่ละปี หลายบริษัทสูญเสียรายได้ไปเป็นพันเป็นหมื่นล้าน เพราะพนักงานปวดหัวด้วยสาเหตุนี้นี่แหละ (แฮงก์แล้วก็ปวดหัว ปวดหัวก็โทรลางาน ที่ร้ายกว่าคือฝืนมาทำงานแบบลวกๆ)[61] อาการปวดหัวชนิดนี้จะปวดตุบๆ คลื่นไส้ และรู้สึกไม่สบาย เหมือนจะทำอะไรไม่ไหว
    • วิธีเดียวที่รับประกันว่าป้องกันอาการปวดหัวเมาค้างได้ ก็คืออย่าดื่มแอลกอฮอล์แต่แรก แต่ถ้าอยากได้ทางแก้ ไม่ให้ปวดหัวเมาค้างในวันรุ่งขึ้น ก็คือต้องดื่มน้ำเยอะๆ
    • หรือจะดื่มน้ำอื่นๆ เช่น เครื่องดื่มเกลือแร่ หรือน้ำซุปแทนก็ได้ แน่นอนว่าต้องงดแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เพราะทั้ง 2 อย่างนี้ทำให้ร่างกายขาดน้ำได้

    เคล็ดลับ: จำง่ายๆ ว่าให้ดื่มน้ำเป็น 4 เท่าของแอลกอฮอล์ที่ดื่มเข้าไป ปกติคอกเทลจะมีเหล้าผสมอยู่ 1 - 2 ออนซ์ ก็แนะนำให้ดื่มน้ำแก้วใหญ่ๆ ต่อแอลกอฮอล์ 1 แก้ว[62]

  7. How.com.vn ไท: Step 7 ป้องกันอาการปวดหัวเพราะอาการแพ้หรือเพราะอาหาร โดยหาสาเหตุซะก่อน....
    ป้องกันอาการปวดหัวเพราะอาการแพ้หรือเพราะอาหาร โดยหาสาเหตุซะก่อน. อาการแพ้และอาการไวต่อบางอย่าง กระตุ้นให้ปวดหัวรุนแรงได้ ร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น น้ำมูกไหล ตาฉ่ำ และคันหรือแสบตามตัว บางคนก็แพ้ตามฤดู เช่น แพ้เกสรดอกไม้ พวกนี้แก้ได้โดยกินยาแก้แพ้[63]
    • บางคนก็แพ้อาหารหรือไวต่อบางอย่าง จนกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัว ถ้าปวดหัวบ่อยๆ และมีอาการคันหรือตาฉ่ำร่วมด้วย ให้ลองไปทดสอบอาการแพ้ที่ผิวหนังที่โรงพยาบาลดู คุณหมอจะทดสอบ (รับรองปลอดภัย!) อาการแพ้หลายๆ อย่างที่ผิวคุณ เพื่อหาสาเหตุของอาการปวดหัว และหาทางรักษาให้ถูกจุดต่อไป
    • บางคนก็ปวดหัวเพราะผงชูรส โดยเฉพาะคนที่ไวต่อผงชูรส จนรู้สึกหน้าตึง แน่นหน้าอก แสบร้อนที่ลำตัว คอ และไหล่ รวมถึงปวดหัวตุบๆ ไนไตรต์และไนเตรตที่อยู่ในเนื้อสัตว์ ก็กระตุ้นให้ปวดหัวปานกลางถึงรุนแรงได้เช่นกัน[64]
    • ถ้ากินไอศครีมหรือดื่มอะไรเย็นๆ รวดเดียวเยอะๆ ก็ทำให้ "ปวดหัวจี๊ด (brain freeze)" หรือ "ไอศครีมจี๊ดขึ้นหัว" ชั่วขณะได้ ส่วนมากจะรุนแรงแต่หายเร็ว
  8. How.com.vn ไท: Step 8 ป้องกันอาการปวดหัวอื่นๆ โดยเปลี่ยนพฤติกรรม.
    บางทีคุณก็ปวดหัวเพราะตาล้า หิวจัด กล้ามเนื้อคอหรือหลังฉีก กระทั่งเพราะทรงผม (เช่น มัดหางม้าสูง หรือใช้ผ้าคาดหัวคับแน่น กดทับหลังหู) อาการปวดหัวลักษณะนี้มักมีอาการเหมือนปวดหัวเครียด[65]
    • ถ้าปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ บางอย่าง เช่น จัดโต๊ะและเก้าอี้ที่ใช้ทำงานอ้างอิงตามหลัก ergonomics หรือการยศาสตร์ หรือไม่รวบผมตึงๆ สูงๆ ก็ช่วยป้องกันอาการปวดหัวได้
    • กินอาหารให้ตรงเวลา ก็ช่วยป้องกันอาการปวดหัวระหว่างวันได้ ถ้ากินไม่เป็นเวลา ระดับน้ำตาลในเลือดจะตก กระตุ้นให้ปวดหัวรุนแรงและคลื่นไส้ได้[66] ให้หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป น่าจะช่วยให้ปวดหัวน้อยลง รู้สึกดีขึ้นได้โดยรวม
    • พยายามเข้านอนและตื่นนอนเวลาเดิมทุกวัน นอนหลับให้ได้วันละ 7 - 8 ชั่วโมงขึ้นไป[67]
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • ถ้าตอนแรกมัดผมอยู่ เช่น มัดหางม้าสูง หรือถักเปียแน่นๆ ให้ปล่อยผมก่อน
  • เอาผ้าห่อถุงน้ำแข็งหรือถุงผักแช่แข็งก่อน แล้วค่อยเอามาประคบเย็นบริเวณที่ปวด (หน้าผาก หลังคอ และอื่นๆ) ห้ามเอาอะไรเย็นจัดมาแนบผิวหนังโดยตรง
  • ลองหลับตา หายใจเข้า-ออกลึกๆ ช้าๆ ทำสมาธิดู
  • อาการปวดหัวส่วนใหญ่เกิดเพราะร่างกายขาดน้ำ เพราะงั้นทันทีที่ปวดหัว ลองดื่มน้ำดู จะได้คืนความชุ่มชื้นให้ร่างกาย
  • พักผ่อนเยอะๆ การงีบหลับระหว่างวันก็แก้ปวดหัวได้ ให้หลบมุมไปพักผ่อนในที่เงียบสงบ สบายๆ
  • ดื่มน้ำเย็นช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดได้
  • ถ้าปวดหัวเป็นประจำทุกวัน ต้องรีบไปตรวจเช็คร่างกายกับคุณหมอ
  • บางทีก็แก้ปวดหัวได้ ถ้านอนหงายราบไปกับพื้น โดยยกสองขาขึ้นแนบผนังห้อง เพราะดึงเลือดจากขากลับมาเลี้ยงสมอง
  • ลองเปิดเพลงฟังจนหลับไป เพราะช่วยให้ผ่อนคลาย รู้สึกดีตอนตื่นขึ้นมา
  • ถ้าติดการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แนะนำให้ลดเวลาใช้งานลง ใช้แล้วหยุดพักเป็นระยะน่าจะช่วยได้ เพราะบางทีอุปกรณ์พวกนี้ก็ทำให้ปวดหัวได้ถ้าจดจ่อเป็นเวลานาน
โฆษณา

คำเตือน

  • เนื้องอกก็ทำให้เกิดอาการปวดหัวได้ แม้การปวดหัวจะไม่ได้หมายความว่าคุณมีเนื้องอกเสมอไป ถ้าเป็นเนื้องอก นอกจากอาการปวดหัวแล้ว ต้องมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น แขนขาชา อ่อนแรง พูดไม่ชัดเพราะลิ้นแข็ง มองเห็นภาพเบลอ เกิดลมชัก บุคลิกภาพเปลี่ยนไป ทรงตัวไม่ดี หรือเดินลำบาก ถ้าคุณมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย ให้รีบหาหมอทันที
  • ยาบางตัวก็ทำให้เกิดอาการปวดหัวได้ เช่น ยาคุมกำเนิด หรือยาต้านเศร้า แนะนำให้ปรึกษาคุณหมอ ถ้าต้องกินยาเหล่านี้เป็นประจำ แล้วเกิดปวดหัวขึ้นมา เพราะบางทีที่ปวดหัวเพราะเป็นอาการข้างเคียง หรือบ่งชี้ว่ามีความผิดปกติบางอย่าง
  • ถ้าจะดูแลตัวเองด้วย "วิธีธรรมชาติ" ต้องใช้วิจารณญาณ ถ้าดูแล้วได้ผลไม่คุ้มเสี่ยง ก็ไม่ควรทำ หรือปรึกษาคุณหมอซะก่อน หรือใช้ไปแล้วทำให้ปวดหัวมากขึ้น มีอาการอื่นๆ เพิ่มมา ให้หยุดใช้วิธีนั้นทันที แล้วไปหาหมอ
  • ถ้าเคยประสบอุบัติเหตุ กระทบกระเทือนบริเวณหัว ก็อาจเป็นสาเหตุของอาการปวดหัวได้ อาจเป็นอาการปวดหัวจากเลือดคั่ง กะโหลกร้าว ตกเลือดภายใน เป็นต้น ต้องรีบเข้ารับการรักษาทันที
  • อาการปวดหัวหลังกระทบกระเทือน มักเป็นผลจากอุบัติเหตุหรือสถานการณ์ที่หัวกระทบกระเทือน แบบนี้รักษายาก บางทีก็ต้องเข้ารับการรักษากับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญ และใช้เวลานานกว่าจะฟื้นตัวหรือหายขาด
  • ผนังหลอดเลือดแดงโป่งพอง (aneurysm) ก็ทำให้เกิดอาการปวดหัวแบบ "สายฟ้าฟาด (thunderclap)" ได้ คือปวดหัวรุนแรงเฉียบพลัน มักเกิดควบคู่ไปกับอาการคอแข็ง เห็นภาพซ้อน และหมดสติ แบบนี้ต้องได้รับการรักษาโดยด่วน หลักๆ คือผ่าตัด และปรับความดันเลือดให้สมดุล[68]
  • ถ้าซื้อยามาใช้เองต้องระวัง เพราะยาแก้ปวดตามร้านขายยา ถ้าใช้ผิดวิธี ก็เป็นอันตรายได้ ย้ำว่าต้องกินยาตามคำแนะนำที่ฉลากอย่างเคร่งครัด พยายามกินยาโดสน้อยที่สุดเท่าที่จะเห็นผล[69]
  • ถ้ามีแผลในกระเพาะ มีปัญหาในระบบทางเดินอาหาร มีปัญหาการย่อยอาหาร หรือหอบหืด อย่ากินยา NSAID (nonsteroidal anti-inflammatory drug) คือยาแก้ปวดแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน นาพรอกเซน (Aleve) และคีโตโปรเฟน (Actron, Orudis)[70]
โฆษณา
  1. http://www.webmd.com/migraines-headaches/news/20100112/why-light-worsens-migraine-headaches
  2. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/migraine-headache/basics/lifestyle-home-remedies/con-20026358
  3. http://www.everydayhealth.com/columns/paging-dr-gupta/how-do-you-know-when-to-apply-heat-or-cold-to-relieve-pain/
  4. http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/patientinstructions/000421.htm
  5. http://www.amtamassage.org/approved_position_statements/Massage-Can-Be-Effective-for-Tension-Headaches.html
  6. http://www.webmd.com/balance/stress-management/features/massage-therapy-stress-relief-much-more?page=2
  7. http://www.webmd.com/balance/stress-management/features/massage-therapy-stress-relief-much-more?page=2
  8. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/20461336
  9. http://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/adult-health/multimedia/neck-stretches/vid-20084697
  10. http://exploreim.ucla.edu/wellness/acupressure-for-headache-or-neck-and-shoulder-tension/
  11. http://exploreim.ucla.edu/chinese-medicine/acupressure-point-gb20/
  12. http://exploreim.ucla.edu/chinese-medicine/acupressure-point-gb21/
  13. http://exploreim.ucla.edu/chinese-medicine/acupressure-point-li4/
  14. http://my.clevelandclinic.org/health/diseases_conditions/hic_Overview_of_Headaches_in_Adults/hic_Relaxation_and_Other_Alternative_Approaches_for_Managing_Headaches
  15. http://www.womenshealthmag.com/health/breathing-therapy
  16. http://www.healthline.com/health/migraine-herbal-home-remedies-from-around-the-world#14
  17. http://health.nih.gov/topic/HeadacheandMigraine
  18. http://www.webmd.com/migraines-headaches/tc/butterbur-for-migraines-topic-overview
  19. http://migraine.com/migraine-treatment/natural-remedies/ginger-for-migraine-headaches/
  20. http://homeremedieslog.com/natural-products/medicinal-plants/coriander/
  21. http://www.rd.com/slideshows/home-remedies-for-headaches/
  22. http://www.everydayhealth.com/headache-migraine-pictures/soothing-scents-to-ease-headache-pain.aspx
  23. http://www.webmd.com/migraines-headaches/guide/food-related-headaches
  24. http://www.womansday.com/food-recipes/advice/a1662/9-foods-that-can-help-soothe-a-headache-108253/
  25. http://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/adult-health/expert-answers/how-many-hours-of-sleep-are-enough/faq-20057898
  26. http://www.webmd.com/allergies/features/fragrance-allergies-a-sensory-assault
  27. http://www.webmd.com/migraines-headaches/guide/food-related-headaches?page=2
  28. http://www.webmd.com/migraines-headaches/guide/food-related-headaches?page=2
  29. http://www.webmd.com/pain-management/tc/office-ergonomics-using-ergonomics-at-the-workstation-to-prevent-injury
  30. http://www.webmd.com/balance/nontraditional-headache-treatments
  31. http://www.webmd.com/migraines-headaches/guide/triggers-smoking
  32. http://www.webmd.com/migraines-headaches/guide/cluster-headaches
  33. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/tension-headache/basics/definition/con-20014295
  34. http://www.webmd.com/content/article/46/1826_50695.htm
  35. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/tension-headache/basics/alternative-medicine/con-20014295
  36. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/tension-headache/basics/treatment/con-20014295
  37. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/migraine-headache/basics/causes/con-20026358
  38. http://www.webmd.com/content/article/46/1826_50692.htm
  39. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/migraine-headache/basics/prevention/con-20026358
  40. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/migraine-headache/basics/causes/con-20026358
  41. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/cluster-headache/symptoms-causes/syc-20352080
  42. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/cluster-headache/basics/definition/con-20031706
  43. http://www.webmd.com/content/article/46/1826_50688.htm
  44. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/cluster-headache/basics/prevention/con-20031706
  45. http://www.webmd.com/a-to-z-guides/medicines-for-cluster-headaches-topic-overview
  46. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/cluster-headache/basics/treatment/con-20031706
  47. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/cluster-headache/diagnosis-treatment/drc-20352084
  48. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/22547100
  49. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/rebound-headaches/basics/definition/con-20024096
  50. http://www.webmd.com/pain-management/guide/narcotic-pain-medications
  51. http://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/butalbital-and-acetaminophen-combination-oral-route/description/drg-20070042
  52. http://www.hopkinsmedicine.org/neurology_neurosurgery/centers_clinics/headache/conditions/hangover_headache.html
  53. http://www.webmd.com/balance/features/how-to-hold-your-liquor
  54. http://www.mayoclinic.org/tests-procedures/allergy-tests/basics/definition/prc-20014505
  55. http://www.webmd.com/migraines-headaches/guide/food-related-headaches?page=2
  56. http://www.webmd.com/content/article/46/1826_50689.htm
  57. http://www.migrainetrust.org/factsheet-hypoglycaemia-and-migraine-10907
  58. http://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/adult-health/expert-answers/how-many-hours-of-sleep-are-enough/faq-20057898
  59. http://www.uptodate.com/contents/thunderclap-headache
  60. http://www.webmd.com/pain-management/features/safe-use-otc-pain-relievers
  61. http://www.webmd.com/arthritis/features/pain-relief-how-nsaids-work

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

How.com.vn ไท: Sari Eitches, MBE, MD
ร่วมเขียน โดย:
อายุรแพทย์แบบบูรณาการ
บทความนี้ ร่วมเขียน โดย Sari Eitches, MBE, MD. ดร. ซารี เอทช์เป็นอายุรแพทย์แบบบูรณาการที่ดูแล Tower Integrative Health and Wellness ในลอสแองเจลิส เธอเชี่ยวชาญในการดูแลเรื่องน้ำหนัก การโภชนาการเน้นพืช สุขภาพของสตรี ยาป้องกันและการรักษาโรคซึมเศร้า เธอได้ใบรับรองจากสภาอายุรแพทย์แห่งอเมริกา เธอจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียแห่งเบิร์กลีย์ ปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐนิวยอร์ก และเคยเป็นแพทย์ประจำของโรงพยาบาลเล็นน็อกซ์ฮิลล์ในนิวยอร์ก บทความนี้ถูกเข้าชม 38,935 ครั้ง
หมวดหมู่: สุขภาพทั่วไป
มีการเข้าถึงหน้านี้ 38,935 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

⚠️ Disclaimer:

Content from Wiki How ไท language website. Text is available under the Creative Commons Attribution-Share Alike License; additional terms may apply.
Wiki How does not encourage the violation of any laws, and cannot be responsible for any violations of such laws, should you link to this domain, or use, reproduce, or republish the information contained herein.

Notices:
  • - A few of these subjects are frequently censored by educational, governmental, corporate, parental and other filtering schemes.
  • - Some articles may contain names, images, artworks or descriptions of events that some cultures restrict access to
  • - Please note: Wiki How does not give you opinion about the law, or advice about medical. If you need specific advice (for example, medical, legal, financial or risk management), please seek a professional who is licensed or knowledgeable in that area.
  • - Readers should not judge the importance of topics based on their coverage on Wiki How, nor think a topic is important just because it is the subject of a Wiki article.

โฆษณา