ดาวน์โหลดบทความดาวน์โหลดบทความ

ความเครียดเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นเวลาที่เราอยู่ในสภาวะกดดัน ซึ่งความกดดันทางอารมณ์ จะส่งผลให้เกิดอาการเครียดในแบบต่างๆ ทันที หากเราไม่สามารถจัดการกับมันได้ แต่ทุกคนมักมีวิธีตอบสนองและอัตราความไวต่อสิ่งเร้าความเครียดแตกต่างกันไป โดยรวมแล้ว คนเรามักเครียดมากๆ ในเรื่องงาน เรื่องความสัมพันธ์ และเรื่องเงิน ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบต่อความคิดและจิตใจแล้ว มันยังส่งผลต่อสุขภาพร่างกายด้วย สัญญาณเตือนว่าคุณกำลังเริ่มถูกความเครียดเล่นงานแล้ว ก็คืออาการวิตกกังวล ว้าวุ่น ปัญหาในการนอนหลับ มีเหงื่อออกง่าย เบื่ออาหาร และขาดสมาธิ [1] ดังนั้น คงจะดีกว่า หากคุณใช้เวลาสักนิด เพื่อศึกษาเทคนิคเอาไว้รับมืออาการเครียดที่อาจเกิดขึ้น ก่อนที่มันจะส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพกายและใจของคุณจนเกินเยียวยา

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 4:

ผ่อนคลายร่างกาย

ดาวน์โหลดบทความ
  1. How.com.vn ไท: Step 1 ออกกำลังกาย.
    แค่เพียงครั้งละ 30-45 นาที สักสองสามครั้งต่อสัปดาห์ ก็จะทำให้คุณรู้สึกกระปี้กระเปร่าขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และพร้อมสู้ชีวิตต่อไปแล้ว [2] ผลการศึกษาพบว่า การออกกำลังกายช่วยบรรเทาความเครียด ลดอาการซึมเศร้า และเพิ่มประสิทธิภาพในการรับรู้ด้วย [3] นอกจากนี้ การออกกำลังกายยังช่วยกระตุ้นฮอร์โมนเอ็นโดฟีน ซึ่งเป็นสารเคมีในร่างกายที่ทำให้รู้สึกแจ่มใสด้วย ลองมาดูตัวอย่างการออกกำลังกายแบบง่ายๆ กัน:
    • ออกไปวิ่ง การวิ่งจะช่วยหลั่งสารเอ็นโดฟีนในร่างกาย และยังทำให้คุณรู้สึกดีกับตัวเองด้วย คุณอาจจะลองตั้งเป้าหมายในการวิ่งไว้สัก 5-10 กิโลเมตร/ครั้ง และค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป วิธีนี้จะทำให้คุณมีแรงจูงใจในตัวเอง และยังเป็นการเสริมสร้างจิตใจให้คุณแข็งแกร่งขึ้น พร้อมรับมือความท้าทายในชีวิตด้วย
    • ว่ายน้ำที่สระ ประมาณวันเว้นวันก็พอ โดยพยายามตั้งเป้าว่ายไปกลับ ให้ได้ระยะทางรวมสัก 1 กิโลเมตรขึ้นไป การว่ายน้ำนอกจากจะช่วยให้คุณรู้สึกกระฉับกระเฉงขึ้น และลดความเครียดลงแล้ว ยังเป็นผลดีต่อกล้ามเนื้อและข้อต่อของคุณด้วย
    • เล่นโยคะ กิจกรรมประเภทนี้ไม่เพียงแต่ดีต่อสุขภาพกาย แต่ยังเป็นการฝึกให้คุณหายใจอย่างเป็นระบบ และมีสมาธิดีขึ้นด้วย
    • เข้าร่วมทีมกีฬา หรือคุณอาจจะตั้งขึ้นเองเลยก็ได้ เช่น ทีมโบว์ลิ่ง วอลเลย์บอล ซอฟท์บอล ฯลฯ ตามความชอบของตัวเอง นอกจากจะได้พบปะเพื่อนใหม่ๆ แล้ว ยังได้ออกกำลังกายในตัว เรียกว่า ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว
    • ออกทริปกลางแจ้ง ไม่ว่าจะเป็นการตั้งแคมป์ในป่า หรือปีนเขา คุณก็จะได้ทั้งสูดอากาศสดชื่น และชื่นชมธรรมชาติอันงดงาม [4]
  2. How.com.vn ไท: Step 2 การนวดเป็นวิธีผ่อนคลายที่ยอดเยี่ยม.
    [5] ซึ่งส่งผลดีทั้งต่ออารมณ์และร่างกายของคุณ คุณอาจลองนวดให้ตัวเองดูก็ได้ เช่น คลึงเบาๆ ที่ต้นคอ หรือบีบด้านหน้าแขนและฝ่ามือเป็นจังหวะ ถ้าจะให้ดีก็ลองไหว้วานเพื่อนของคุณ หรือไปใช้บริการตามร้านนวดทั่วไป
    • ร้านนวดบางแห่ง อาจมีราคาแพงสักนิด แต่หากมีคุณภาพ ก็ย่อมคุ้มราคาที่จ่ายไป เพราะหมอนวดที่มีทักษะดี จะสามารถสลัดความตึงเครียดทั้งหลายแหล่ ออกไปจากร่างกายคุณจนรู้สึกผ่อนคลาย หากเป็นกรณีนวดเพื่อกายภาพบำบัด ประกันสุขภาพของคุณอาจจะครอบคลุมค่าใช้จ่ายด้วย ลองเช็คดูกับทางบริษัทประกันอีกครั้ง
    • การนวดยังช่วยสร้างความใกล้ชิดทางกายด้วย คุณอาจลองขอให้คนรักของคุณนวดคลึงเท้า หรือบริเวณต้นคอให้ บางทีอาจช่วยให้ชีวิตรักของคุณซู่ซ่าขึ้นมาอีกครั้ง
  3. How.com.vn ไท: Step 3 ทานอาหารที่มีประโยชน์.
    โภชนาการมีส่วนสำคัญต่อการคลายความเครียดอย่างมาก สุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์ จะช่วยให้คุณรับมือกับความเครียดทางกายและใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ[6] ความเครียดอาจส่งผลให้คุณรับประทานแบบไม่ยั้ง โดยเฉพาะอาหารจำพวกไขมันและแคลอรีสูง[7] หากคุณต้องการลดความเครียดในชีวิตประจำวัน ควรเริ่มจากการดูแลเรื่องอาหารการกินให้ดี ด้วยแนวทางต่อไปนี้:
    • ใส่ใจอาหารเช้า[8] เนื่องจากอาหารเช้าเป็นมื้อสำคัญที่สุดเลยก็ว่าได้ ดังนั้น คุณควรพิถีพิถันในเรื่องของโภชนาการมากหน่อย นอกจากคาร์โบไฮเดรตจำพวกข้าวกล้องหรือข้าวโอ๊ต และโปรตีนจากเนื้อสัตว์ต่างๆ แล้ว ควรจะเพิ่มผักและผลไม้สดเข้าไปด้วย[9]
    • ทานวันละสามมื้อ ในปริมาณเท่าๆ กัน อย่าข้ามมื้อใดมื้อหนึ่งไป และอย่ารับประทานชดเชยมื้อที่ขาดไป การรักษาวินัยเช่นนี้จะช่วยให้คุณมีพลังงานอย่างสม่ำเสมอ และรับมือกับความยุ่งเหยิงในแต่ละวันได้ดีขึ้น [10]
    • อาหารทานเล่นที่มีประโยชน์ เช่น แอ๊ปเปิ้ล กล้วย หรือถั่วประเภทต่างๆ จะช่วยให้คุณสดชื่นและมีเรี่ยวแรงตลอดทั้งวัน แต่จงหลีกเลี่ยงของขบเคี้ยว ของหวาน หรือน้ำอัดลม เพราะมันจะทำให้คุณหมดแรงและซึมเซา
    • พยายามลดคาเฟอีนและน้ำตาล ซึ่งอาจทำให้คุณรู้สึกมีแรงขึ้นมาชั่วครู่ แต่พอมันหมดฤทธิ์แล้วล่ะก็ ทั้งกำลังวังชาและอารมณ์ของคุณดิ่งเหวเลยทีเดียว การลดคาเฟอีนและน้ำตาล ยังช่วยให้คุณนอนหลับดีข้นในเวลากลางคืนด้วย[11]
  4. How.com.vn ไท: Step 4 ลองจิบชาหรือสมุนไพรคลายเครียดระหว่างวัน.
    มีชาและสมุนไพรหลายประเภทที่ช่วยให้คุณผ่อนคลาย หายโกรธ และลดความกังวล รวมถึงนอนหลับตอนกลางคืนได้ดีขึ้น ทั้งนี้ คุณควรขอคำแนะนำหรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนซื้อ แต่เรามีข้อมูลเบื้องต้นมาแนะนำกัน:[12]
    • คาโมไมล์ (Chamomile) – คาโมไมล์เป็นพืชที่ได้รับความนิยมอย่างสูง เนื่องจากคุณสมบัติด้านการรักษาของมันมีมากมาย และยังหาได้ง่ายด้วย โดยส่วนใหญ่แล้ว มักนำมาสกัดเป็นชาชงดื่มกัน เพื่อช่วยลดอาการตึงเครียด รวมถึงอาการนอนไม่หลับ และท้องไส้ปั่นป่วนด้วย [13]
    • ดอกเสาวรส (Passion Flower) – หรือที่เรียกกันติดปากว่า แพสชั่นฟลาวเวอร์ มักมีการนำมาใช้รักษาอาการนอนไม่หลับ ภาวะวิตกกังวล รวมถึงโรคในระบบลำไส้ ผลการทดลองล่าสุดพบว่า แพสชั่นฟลาวเวอร์มีประสิทธิภาพเทียบเท่ายาแผนปัจจุบันเลยทีเดียว และส่วนใหญ่จะถูกนำมาทำเป็นชาสกัด[14]
    • ลาเวนเดอร์ (Lavender) – ผลการวิจัยพบว่า ลาเวนเดอร์สามารถช่วยให้เรารู้สึกผ่อนคลาย เคลิบเคลิ้ม และจิตใจสงบลงได้ เพียงแค่สูดดมกลิ่นของมันเข้าไป ด้วยเหตุนี้ มันจึงมักถูกนำมาสกัดเป็นน้ำมันอะโรมา ชา สบู่ โลชั่น และครีมอาบน้ำ รวมถึงผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพต่างๆ [15]
    • รากของต้นวาเลอเรียน (Valerian root) – พืชชนิดนี้มีผลในการช่วยควบคุมความวิตกกังวล และทำให้นอนหลับง่ายขึ้น แต่ก็มีคำแนะนำว่า ไม่ควรใช้มันติดต่อกันเกินกว่าหนึ่งเดือน [16]
  5. How.com.vn ไท: Step 5 จัดตารางการนอนให้เหมาะสม.
    การนอนหลับเป็นเรื่องสำคัญมากเกินกว่าที่จะละเลย หรือผ่อนปรนกับตัวเองได้[17] การนอนหลับให้เพียงพอมีส่วนสำคัญมาก ในการลดความเครียดของคุณ เพราะมันมีผลทั้งต่ออารมณ์ ความจำ และการตัดสินใจ[18] ผลการศึกษาพบว่า คนเราจะมีความสุข ปลอดภัย และสุขภาพดีมากขึ้น แค่นอนหลับให้มากขึ้นอีกเพียง 60-90 นาทีต่อคืน[19]
    • คนส่วนใหญ่ต้องการนอนหลับประมาณ 7-9 ชั่วโมงต่อวัน สำหรับการนอนหลับในยามค่ำคืน หากนอนมากกว่าหรือน้อยกว่านั้น จะทำให้คุณรู้สึกเบลอ และไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
    • พยายามนอนหลับให้เท่าๆ กันทุกคืน หากคุณนอนแค่ 5 ชั่วโมงในแต่ละคืนช่วงสัปดาห์การทำงาน แต่กลับนอนชดเชยในช่วงสุดสัปดาห์ทั้งวันทั้งคืน ร่างกายคุณจะยิ่งอ่อนเพลียและเสียสมดุล
    • เข้าและตื่นนอนให้เป็นเวลา จะทำให้ร่างกายคุณพร้อมสำหรับการนอนหลับอย่างเป็นปกติทุกคืน และสามารถลุกจากเตียงทุกเช้าอย่างกระฉับกระเฉงด้วย
    • ใช้เวลาบนเตียงสักครู่ ก่อนที่จะหลับจริงๆ โดยคุณอาจจะอ่านหนังสือ ฟังดนตรีเพราะๆ หรือเขียนไดอารี่ส่วนตัว แต่ไม่ควรดูโทรทัศน์ เล่นโทรศัพท์หรือแท็บเล็ต อันจะทำให้สมองของคุณตื่นตัว และยังอาจส่งผลสุขภาพดวงตาด้วย
  6. How.com.vn ไท: Step 6 เช็คร่างกายให้เรียบร้อย.
    หลายๆ คนเห็นร่างกายกับจิตใจเป็นคนละส่วนกัน หากแต่มันมีประโยชน์มาก ที่จะใช้ใจของคุณ คอยตรวจตราดูทุกคืนว่า ความเครียดระหว่างวันส่งผลอะไรกับร่างกายคุณบ้าง [20]
    • นอนหรือนั่งเอนหลัง วางฝ่าเท้าให้นาบกับพื้น อยู่ในท่าที่ผ่อนคลายและสำรวจด้วยความรู้สึกว่า ร่างกายแต่ละส่วนของคุณ มีส่วนไหนบ้างที่กำลังเกิดอาการตึงเครียด โดยไม่จำเป็นต้องไปจัดการอะไรกับมัน แค่ตระหนักรู้เฉยๆ ก็พอแล้ว[21]
    • ใช้เวลาสัก 2-3นาที ในการวางใจให้สงบ จากนั้นสูดลมหายใจช้าๆ และจินตนาการว่า การสูดหายใจเข้าแต่ละครั้งนั้น เป็นไปเพื่อชาร์จพลังและเยียวยาให้ร่างกายแต่ละส่วน โดยไล่จากล่างขึ้นมาข้างบน[22]
  7. How.com.vn ไท: Step 7 ซุกร่างกายให้อบอุ่น.
    นำผ้าห่มหรือชุดวอร์มขนาดพอเหมาะ มาห่มร่างกายให้มิดประมาณช่วงคอและหัวไหล่ ในระหว่างที่กำลังหลับตานอน อย่าเกร็งกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า ลำคอ และหัวไหล่ ปล่อยให้มันผ่อนคลายเต็มที่[23]
    • คุณอาจใช้ลูกเทนนิสหรือลูกนวดแบบกดจุด (Acuball) คลึงไล่ไปตามบริเวณช่วงคอ ศีรษะ หรือหัวไหล่ ที่รู้สึกว่าเกิดอาการตึง และคุณยังใช้อุปกรณ์ดังกล่าวนวดหลังให้ตัวเองได้ ด้วยการเอาแผ่นหลังนอนทับเจ้าลูกบอลดังกล่าวไว้ หรือนั่งชนกับกำแพง และค่อยๆ ขยับไปมาให้มันนวดคลึงแผ่นหลังของคุณสักประมาณหนึ่งนาที ก่อนที่จะเก็บมันไว้ให้ห่างจากเตียง เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่โหมดการนอนหลับเต็มตัว [24]
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 4:

ผ่อนคลายจิตใจ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. How.com.vn ไท: Step 1 อ่าน.
    การอ่านเป็นทำสมาธิที่ดีวิธีหนึ่ง แถมยังได้ความรู้เพิ่มอีกด้วย มันเป็นประโยชน์ทั้งเวลาที่คุณต้องการนอนหลับ และเวลาที่คุณต้องการลุกจากเตียงด้วย การติดตามอ่านหนังสือสักเล่ม ไม่ว่าจะเป็นนิยาย หนังสือพัฒนาตนเอง หรือเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ จะช่วยให้คุณอยู่โลกส่วนตัวที่แสนจะสงบ และสามารถลดระดับความเครียดได้มากกว่าครึ่ง ถึงแม้ว่าจะเป็นระยะเวลาเพียงแค่ 5-6 นาทีที่อยู่ในสภาวะดื่มด่ำดังกล่าวก็ตาม[25]
    • การอ่านและฟังดนตรีบรรเลงไปพลางๆ พร้อมกัน อาจจะช่วยให้จิตใจคุณรู้สึกสงบได้ง่ายกว่าเดิมอีก
    • อย่าลืมเรื่องของแสงสว่างด้วยล่ะ ปรับแสงให้พอดีๆ ไม่สว่างจ้าหรือมืดเกินไป เพื่อช่วยถนอมสายตา และนำร่างกายคุณให้พร้อมเข้าสู่โหมดการนอนหลับ
    • หากคุณติดการอ่านมากกว่าที่คิดล่ะก็ น่าจะลองตั้งชมรมนักอ่านขึ้นมาด้วย เพื่อหาเพื่อนที่มีความสนใจเดียวกัน และยังทำให้คุณรักการอ่านมากขึ้นไปอีก นี่ก็เป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัวอีกเช่นกัน คือ ได้ทั้งเพื่อนคอเดียวกันและทำในสิ่งที่ตัวเองรักควบคู่กันไป
  2. How.com.vn ไท: Step 2 คิดบวก.
    หัดเป็นคนมองโลกในแง่ดี และหาความสุขในทุกๆ การปฏิสัมพันธ์ นักจิตวิทยาได้ชี้ให้เห็นว่า คนที่มองโลกแง่ลบกับแง่บวก ต่างก็เจอปัญหาคล้ายๆ กันในชีวิต เพียงแต่คนที่มองโลกแง่บวกจะสามารถก้าวผ่านปัญหาไปได้โดยสง่างามกว่า [26]
  3. How.com.vn ไท: Step 3 หัวเราะให้มากขึ้น.
    การหัวเราะได้รับการพิสูจน์มาแล้วว่าลดความเครียดได้ นักกายภาพบำบัดที่มีชื่อเสียงบางท่าน เชื่อว่าอารมณ์ขันช่วยให้ร่างกายฟื้นจากอาการเจ็บป่วยหรือการผ่าตัดได้เร็วขึ้น[28] ผลการศึกษายืนยันว่า แค่เพียงการยิ้ม ยังทำให้คุณรู้สึกดีขึ้นได้เลย[29]
    • การหัวเราะก็ช่วยกระตุ้นร่างกายให้ผลิตเอ็นโดฟีนเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งทำให้อารมณ์ของคุณดีขึ้นทันตาเห็น[30]
    • อารมณ์ขันจะช่วยให้คุณรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ดีขึ้น โดยคุณจะมองปัญหาต่างออกไปจากเดิม และกำจัดเรื่องรบกวนจิตใจให้หายโดยฉับพลัน เป็นภูมิคุ้มกันไม่ให้ใครมาสร้างความกังวลใจแก่คุณได้ อารมณ์ขันและเสียงหัวเราะจะทำให้คุณมองชีวิตเป็นเหมือนละครฉากหนึ่งเท่านั้น ไม่เครียดกับมันจนเกินไปนัก
  4. How.com.vn ไท: Step 4 ฝึกการหายใจที่ทรงพลัง.
    การจดจ่ออยู่กับลมหายใจเข้าออก จะช่วยให้จิตใจผ่อนคลายได้ทันทีเมื่อเกิดความเครียด การหายใจลึกๆ หรือบางคนอาจจะเรียกว่า หายใจจากกะบังลม หายใจแบบสุดปลายทาง หรือหายใจให้ทั่วท้อง ฯลฯ ต่างก็มีประโยชน์ต่อสุขภาพกายทั้งนั้น เพราะทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนเต็มที่ ในขณะที่กำจัดคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ออกไป ทำให้หัวใจเต้นสม่ำเสมอ และช่วยลดความดันด้วย [31]
    • เริ่มจากการหาที่เงียบๆ นั่งหรือนอนลงไป และหายใจเข้าออกตามปกติก่อนสักพัก จากนั้นจึงค่อยเริ่มหายใจเข้าอย่างลึกๆ ช้าๆ ให้รู้สึกถึงลมที่โชยผ่านปลายจมูก แผ่ซ่านเข้าไปถึงทรวงอกและช่องท้อง ตามลำดับ ให้ปอดได้ซึมซับอากาศและช่องท้องแผ่ขยายอย่างเต็มที่ อย่าแขม่วท้องเอาไว้ เมื่อสุดลมหายใจแล้ว ให้ค่อยๆ ผ่อนลมออกทางปากหรือจมูกก็ได้ เอาตามความเคยชิน ทั้งนี้ คุณอาจจะซ้อมดูก่อนก็ได้ในช่วงแรกๆ จนกว่าจะคล่อง โดยคุณอาจท่องบริกรรมหรือใช้จินตนาการนึกภาพร่วมด้วยก็ได้ เพื่อให้รู้สึกสงบและผ่อนคลายมากขึ้น [32]
    • การหายใจในแบบปกติของคนส่วนใหญ่ มักให้ผลที่ตรงกันข้ามกับวิธีดังกล่าว เนื่องจากกะบังลมจะเคลื่อนไหวไม่สะดวก และปอดส่วนล่างก็จะได้รับออกซิเจนน้อยเกินไปด้วย ส่งผลให้บางคนหายใจขัดๆ และรู้สึกกระวนกระวาย
  5. How.com.vn ไท: Step 5 เจริญสติ.
    การเจริญสติเป็นการฝึกจดจ่อประสาทรับรู้ ให้อยู่กับปัจจุบัน เพื่อช่วยปรับสมดุลทางความคิดและอารมณ์ อันถูกกระทบจากปัจจัยภายนอกหรือเหตุการณ์ต่างๆ ตลอดเวลา [33] การฝึกเจริญสติ มักมีการนำเอาเทคนิคด้านสมาธิและโยคะมาร่วมด้วย ซึ่งจะช่วยให้ความเครียดในแต่ละวันลดลงอย่างเห็นได้ชัด[34]
    • ลองศึกษาเกี่ยวกับเทคนิคการทำสมาธิ หากคุณไม่มีเวลาไปเข้าคอร์สโยคะหรือปฏิบัติธรรม และคุณควรฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ แค่เพียงวันละ 20 นาที ก็สามารถช่วยให้อาการเครียดลดลงได้มากแล้ว ซึ่งโดยทั่วไป คุณแค่ต้องหาที่สงบๆ นั่ง หลับตา เอามือวางในท่าที่ผ่อนคลาย และจดจ่ออยู่กับลมหายใจ ปล่อยกายใจให้สบาย คอยตามดูลมหายใจหรืออาการตึงเกร็งที่สะสมตามร่างกาย ทั้งนี้ ขั้นตอนที่อาจจะยากสักหน่อย ก็คือการปล่อยวางอารมณ์ด้านลบทั้งหลาย ที่มักจะประดังเข้ามาในขณะที่คุณกำลังนั่งสมาธิ ดังนั้น หากเกิดความคิดฟุ้งซ่านหรือปรุงแต่ง ให้พยายามดึงความสนใจกลับมาที่ลมหายใจเข้าออกตามเดิม ช่วงเวลาที่คนส่วนใหญ่ทำสมาธิได้ดีที่สุด ก็คือ หลังตื่นนอนตอนเช้า และก่อนเข้านอนในตอนกลางคืน [35]
    โฆษณา
ส่วน 3
ส่วน 3 ของ 4:

ดำเนินชีวิตเชิงรุก

ดาวน์โหลดบทความ
  1. How.com.vn ไท: Step 1 ปล่อยวาง (สักนิดก็ยังดี!
    ). จงตระหนักว่า โลกนี้มีอะไรหลายอย่างที่คุณไม่สามารถควบคุมได้ ดังนั้น ชีวิตย่อมเกิดความเครียดบ้างเป็นธรรมดา หากคุณทำหน้าที่ในส่วนของตัวเองให้ดีที่สุด และปล่อยวางส่วนที่เหลือได้ ความเครียดก็จะลดลงไปมากทีเดียว[36]
    • บันทึกเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ที่คุณควบคุมไม่ได้ เช่น สภาพเศรษฐกิจ ปัญหารถติด หรือปัญหาเรื่องหัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน และนำกลับมาอ่านทบทวนเพื่อย้ำเตือนตัวเองบ่อยๆ จะช่วยให้คุณมองมันอย่างเป็นกลาง และปล่อยวางได้ง่ายขึ้น
    • การปล่อยวางสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของคุณ อาจไม่ใช่เรื่องง่าย มันเป็นเรื่องยากที่จะเพิกเฉยต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ของของคนรอบข้าง หรือการมองข้ามอคติของหัวหน้างาน แต่หากคุณทำได้ในที่สุด คุณก็จะรู้สึกมีพลังในการเลือกตอบสนองต่อเหตุการณ์ใดๆ ก็ตามที่จะผ่านเข้ามา และความนับถือตัวเองก็จะเพิ่มขึ้น รวมถึงรู้สึกอยากจะขอบคุณตัวเองด้วย
  2. How.com.vn ไท: Step 2 เผชิญหน้ากับเหตุการณ์ที่คุณกังวล.
    แทนที่จะหลีกเลี่ยง หรือทำเป็นตีมึนใส่เหตุการณ์ที่กำลังตึงเครียด ทำไมไม่ลองเผชิญหน้ามันดูสักตั้ง เพราะต่อให้คุณไม่สามารถคลี่คลายปัญหาดังกล่าวได้ แต่อย่างน้อยก็น่าจะพอทำอะไรได้บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการป้องกันปัญหาที่คุณกำลังประสบ ไม่ให้เลวร้ายหนักกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างสาหัสต่อทั้งกายและใจของคุณ
    • จัดการกับปัญหาในที่ทำงาน หากคุณรู้สึกถูกเอาเปรียบ หรือถูกมองข้ามหัว ให้ลองคุยกับหัวหน้าของคุณอย่างใจเย็นและตรงไปตรงมา หรือหากคุณรู้สึกว่าตัวเองกลับบ้านดึกเกินไป ก็ลองหาวิธีจัดการกับงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อที่จะได้กลับบ้านเร็วกว่าเดิมสักชั่วโมง พยายามหาทางรับมือกับความขัดแย้งอย่างมีสติ ในขณะที่คุณชี้แจงจุดยืนของตัวเองให้ผู้อื่นทราบ ในเวลาเดียวกัน[37]
    • จัดการกับความสัมพันธ์อันเป็นปัญหา ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์กับคนรัก สมาชิกในครอบครัว หรือเพื่อนฝูงก็ตาม คุณควรเริ่มเจรจาหรือเคลียร์ให้เรียบร้อยแต่เนิ่นๆ เพราะปัญหาเรื่องความสัมพันธ์มักจะแย่ลงเรื่อยๆ หากปล่อยไปตามมีตามเกิด
    • สะสาง “เรื่องจุกจิก” กวนใจ เรื่องเล็กๆ น้อยๆ นานวันเข้า ก็สามารถสั่งสมกลายเป็นขยะทางใจก้อนใหญ่ได้ ดังนั้น หากคุณไม่อยากเหนื่อยในภายหลัง ก็ควรเริ่มจดบันทึกรายการสิ่งต่างๆ ที่ต้องทำ ไม่ว่าจะเป็นการท่องหนังสือสอบ การไปหาหมอฟัน การเปลี่ยนน้ำมันเครื่องรถ ไปต่ออายุบัตรประชาชน พาสัตว์เลี้ยงไปฉีดยา ฯลฯ หากคุณจดเอาไว้ทั้งหมด และค่อยๆ จัดสรรเวลาสะสางไปทีละเรื่อง อารมณ์ของคุณอาจปลอดโปร่งมากขึ้นอย่างคาดไม่ถึงมาก่อน
  3. How.com.vn ไท: Step 3 รักษาความเป็นระเบียบ.
    การบริหารเวลา วางแผน และเตรียมพร้อมล่วงหน้าก่อนที่จะทำเรื่องต่างๆ จะทำให้ความเครียดลดลงได้มากเลยทีเดียว[38] การใช้สมุดออร์กาไนเซอร์ หรือแอพพลิเคชันในสมาร์ทโฟน เพื่อช่วยในการจดบันทึกนัดหมาย การประชุม รวมถึงการตั้งเวลาแจ้งเตือนกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานหรือการไปเที่ยวพักผ่อน จะช่วยให้คุณเห็นภาพรวมและสามารถเตรียมตัวให้พร้อมไว้แต่เนิ่นๆ
    • วางแผนระยะสั้น หากคุณกำลังกังวลเกี่ยวกับการไปเจรจาธุรกิจ ก็ลองไล่รายละเอียดปลีกย่อยของเรื่องดังกล่าวออกมาดูว่า คุณจะต้องรับมือหรือเจอคำถามอะไรบ้าง การซักซ้อมแก้ไขปัญหาไว้ล่วงหน้า จะช่วยให้คุณรู้สึกผ่อนคลายลง แต่มั่นใจมากขึ้นเมื่อถึงเวลาจริง
    • จัดวางที่มั่นให้เป็นระเบียบ การเคลียร์สิ่งของต่างๆ ไม่ให้รกรุงรัง และจัดวางให้เข้าที่เข้าทางอย่างเป็นระเบียบ จะช่วยให้คุณรู้สึกมีพลังในการควบคุมมากขึ้น ซึ่งในตอนเริ่มแรก คุณอาจจะรู้สึกเหนื่อยหน่อย แต่ผลที่ได้รับมักจะคุ้มค่ามากอย่างไม่เคยคิดมาก่อน ทั้งนี้ หากมีพวกเสื้อผ้า ของใช้ หรืออุปกรณ์เล็กๆ น้อยๆ ที่เก่าและไม่ได้ใช้งานนานแล้ว คุณควรจะจัดเก็บให้ดี หรืออาจจะทิ้ง รวมถึงบริจาคไปบ้างตามความเหมาะสม ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้ คุณไม่จำเป็นต้องทำให้เสร็จสิ้นในวันเดียวก็ได้ แต่สามารถแบ่งเวลาในแต่ละคืน สัก 10-15 นาที ค่อยๆ เลือกทิ้งและจัดเก็บไปทีละส่วน
  4. How.com.vn ไท: Step 4 จัดลำดับความสำคัญของภารกิจ.
    ภารกิจบางอย่างคุณอาจเลือกไม่ได้ แต่ภารกิจที่คุณเลือกได้ก็มีอีกมากมายเช่นกัน ดังนั้น พยายามจัดเรียงความสำคัญให้ดี สาเหตุหนึ่งที่คนมักเครียดกัน ก็เพราะพวกเขามักหลงลืมเรื่องสำคัญบางอย่าง แต่กลับไปหมกมุ่นอยู่กับเรื่องที่สำคัญน้อยกว่า แถมอาจนำปัญหามาใส่ตัวอีกด้วย เช่น แทนที่จะรีบกลับบ้านไปหาญาติผู้ใหญ่ในครอบครัวที่นานๆ จะมารวมตัวกันสักที กลับเลือกที่จะพาลูกค้าไปดื่มสังสรรค์เพียงเพราะต้องการเอาใจ
    • นัดหมายตัวเอง เรื่องนี้เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ควรจะจำไว้เป็นพิเศษ คือ การพยายามหาเวลาให้กับตัวเองบ้าง นอกเหนือไปจากการเข้าร่วมกลุ่มกับเพื่อนฝูง การไปออกงานต่างๆ การเลี้ยงลูก หรือกิจกรรมใดๆ ก็ตาม คุณควรมีเวลาให้กับตัวเอง เพื่อทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการบ้าง เช่น ไปทำเล็บทำผม ไปออกทริปบิ๊กไบค์ ฯลฯ
    • แบ่งแยกระหว่างเรื่อง “ควรทำ” และ “ต้องทำ” บางครั้งเรื่องที่ควรทำ อาจทำให้คุณรู้สึกผิดหรือบกพร่อง หากว่าไม่ได้ทำหรือทำไม่เต็มที่ แต่อย่าปล่อยให้เรื่องที่จำเป็นต้องทำถูกกระทบ เช่น หากลูกๆ ของคุณพอจะเริ่มหาอะไรทานเองได้แล้ว คุณก็อาจจะปล่อยให้พวกเขาลองทำอาหารเองดู หรืออาจจะให้เงินไปนั่งทานที่ร้านแถวบ้าน โดยเฉพาะในกรณีที่คุณต้องรีบเอาเช็คไปฝากก่อนที่ธนาคารจะปิด หรือกำลังง่วนอยู่กับการซ่อมคอมพิวเตอร์ของตัวเอง [39] ลองฝึกจัดลำดับความสำคัญของเรื่องที่ต้องทำและควรทำ โดยใช้จินตนาการหรือสมมติเหตุการณ์บางอย่าง
    • รู้จักปฏิเสธบ้าง หากเพื่อนในกลุ่มคุณ ชวนไปสังสรรค์ติดต่อกันไม่เว้นแต่ละคืน คุณอาจจะเลือกเฉพาะงานสำคัญๆ อย่างเช่นวันเกิดเพื่อนสนิท หรืองานแต่งเพื่อนเก่าที่คุ้นเคย จะช่วยให้สุขภาพกายและจิตของคุณดีขึ้น ดีกว่าการเพิ่มความเครียดให้ตัวเองเพียงเพราะไม่กล้าปฏิเสธ[40]
    • จดรายการสิ่งที่ “คัดออกได้”. บางครั้งการจดจ่อแต่สิ่งที่ต้องทำ อาจส่งผลให้คุณเหนื่อยล้าได้ง่าย ลองจดรายการ “สิ่งที่พอยืดหยุ่นได้” ออกมาดูบ้าง อาจช่วยให้คุณรู้สึกเครียดหรือกดดันน้อยลง เช่น:
      • คุณมีนัดทานข้าวกับแฟนที่ร้านย่านชานเมือง ในค่ำวันจันทร์นี้ แต่หากคุณเพิ่งได้ทราบในวันดังกล่าวว่า คุณจำเป็นต้องอยู่ที่ทำงานจนถึงดึกดื่น คุณก็ควรยกเลิกนัดทานข้าวไปก่อน อย่ามัวแต่คิดมาก หรืออาจนัดแฟนมาทานที่ร้านแถวๆ ออฟฟิสคุณ เสร็จแล้วค่อยกลับขึ้นไปทำงานต่อก็ได้
      • หากคุณต้องเอารถไปต่อทะเบียนที่กรมขนส่งฯ เพราะทะเบียนหมดอายุพอดี แต่ในวันเดียวกัน ลูกสาวคุณก็กำลังจะขึ้นประกวดร้องเพลงและต้องการให้คุณไปช่วยเชียร์เป็นกำลังใจ กรณีเช่นนี้ คุณก็อาจใช้บริการตัวแทนรับต่อทะเบียนรถ ซึ่งอาจอยู่ใกล้ๆ บ้าน โดยยอมจ่ายเพิ่มแค่นิดเดียว
      • คุณจองตั๋วดูฟุตบอลทีมโปรดเอาไว้ แต่พอใกล้วันแข่ง ภรรยาที่ตั้งครรภ์เกิดถุงน้ำคร่ำแตก ไม่ต้องเสียดาย โพสท์ประกาศขายตั๋วทางอินเตอร์เน็ทไปเลย อาจมีคนเห็นใจคุณและให้ราคาแพงกว่าเดิมด้วย
  5. How.com.vn ไท: Step 5 หาเวลาพักผ่อนบ้าง.
    คุณควรหาเวลาพักเบรกจากกิจกรรมต่างๆ อย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็นช่วงเช้าหรือช่วงเย็นก็ตาม โดยควรจะจดลงในตารางเวลาของคุณด้วย เพราะการพักผ่อนให้หายเหนื่อย เป็นเรื่องจำเป็นไม่น้อยไปกว่ากิจกรรมอื่นๆ ของชีวิต[41]
    • ทำสิ่งที่ตนเองชอบสักวันละนิด อย่างการเล่นเปียโนสักเพลง ถักโครเชท์ ต่อจิ๊กซอว์ เล่น Sudoku ดูละครซีรี่ส์เกาหลี อ่านหนังสือแต่งรถ ฯลฯ อะไรก็ตามที่ทำให้คุณรู้สึกว่าโลกนี้ยังมีความรื่นรมย์เหลืออยู่ [42]
  6. How.com.vn ไท: Step 6 ใช้เทคนิคแก้ปัญหาอย่างถูกวิธี.
    แทนที่จะคิดแบบเดิมๆ ซึ่งมักจะวนเวียนอยู่กับปัญหา ให้ลองเบี่ยงเบนความสนใจไปที่ทางแก้ดูบ้าง จะเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดความคิดดีๆ และมีกำลังใจมากกว่า [43]
    • ตัวอย่างเช่น หากคุณต้องเจอกับสภาวะรถติด แทนที่จะบ่นถึงความน่าเบื่อและการเสียเวลาบนท้องถนน ลองโฟกัสไปที่การนึกหาวิธีฆ่าเวลาแบบเพลิดเพลินบันเทิงใจ เช่น การหมุนหาคลื่นวิทยุใหม่ๆ ที่ไม่เคยฟังมาก่อน หรือการโพสท์ภาพจราจรที่ติดขัดลงบนโซเชียลเน็ทเวิร์ค หรือจะร้องเพลงและอัดเสียงตัวเองไว้โพสท์ในภายหลังก็ได้ (ยิ่งหากมีเพื่อนร่วมทางในรถด้วยล่ะก็ ลองผลัดกันร้องเพลงแบบดวลไมค์กันไปเลย) การหาทางออกที่กล่าวมา เป็นการฝึกฝนการคิดหาทางออกอย่างสร้างสรรค์ให้ตัวเองด้วย เพราะทุกปัญหาย่อมมีทางออก [44]
  7. How.com.vn ไท: Step 7 ห้อมล้อมตนเองด้วยคนรู้ใจ.
    ผลการศึกษาพบว่า ผู้ที่ประสบปัญหาในชีวิตครั้งใหญ่ เช่น การตกงาน การสูญเสียคนรัก หรือการล้มละลาย จะสามารถผ่านพ้นวิกฤติไปได้ง่ายกว่า หากมีกลุ่มคนรอบข้างที่เห็นอกเห็นใจ และคอยให้กำลังใจ[45] จงอยู่ท่ามกลางเหล่าคนที่ทำให้คุณรู้สึกดี และทำให้คุณรู้สึกซาบซึ้ง มีคุณค่า รวมถึงกระตุ้นให้คุณมีความหวังในการเปลี่ยนแปลงตนเอง ไปในทางที่ดีขึ้น
    • ออกห่างจากคนที่ทำให้คุณรู้สึกแย่ หากคุณกำลังรู้สึกเครียดทุกครั้งที่เจอใครบางคน ก็ถึงเวลาแล้วที่จะต้องตีตัวออกห่างให้มากเท่าที่จะทำได้ ในกรณีเป็นเพื่อนร่วมงาน คุณอาจไม่สามารถตัดสัมพันธ์ได้แบบเด็ดขาด แต่ก็สามารถจำกัดเวลาที่ต้องพบปะกับเขาหรือเธอให้น้อยลงได้[46]
    • หลีกเลี่ยงคนมองโลกในแง่ร้าย โดยเฉพาะคนที่ทำให้คุณรู้สึกสมเพชตัวเองมากขึ้นไปอีก การอยู่คนเดียวโดยไม่มีคนเหล่านี้ จะส่งผลดีต่อชีวิตคุณมากกว่า[47]
    โฆษณา
ส่วน 4
ส่วน 4 ของ 4:

ทบทวนหาสาเหตุ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. How.com.vn ไท: Step 1 พยายามหาต้นเหตุของความเครียดให้ได้.
    หากไม่สามารถหาต้นเหตุของความเครียดได้ ก็ยากที่คุณจะปลอดภัยจากการถูกมันเล่นงานอีก การลิสท์รายชื่อเหตุปัจจัยต่างๆ ออกมาให้หมด และค่อยๆ ทบทวนดูว่าสาเหตุใดน่าจะเป็นตัวที่กระตุ้นความเครียดของคุณมากที่สุด จะช่วยให้คุณเข้าใจตัวเองและหาทางออกได้ดีขึ้น [48]
    • ทำแบบทดสอบความเครียด. Holmes-Rahe Life Stress Inventory เป็นแบบทดสอบความเครียดที่จะช่วยประเมินผลบางอย่าง ในทางจิตวิทยาและจิตเวช โดยประกอบด้วยสถานการณ์ตึงเครียด 43 แบบ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของคนทั่วไป ไล่ตั้งแต่เหตุการณ์ร้ายแรงอย่างการสูญเสียคนรักหรือการหย่าร้าง ไปจนถึงระดับอ่อนๆ อย่างเช่น การถูกดำเนินคดีลหุโทษทั่วไปทางกฎหมาย หรือการต้องย้ายที่อยู่แบบกะทันหัน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม จำไว้ว่า แบบทดสอบดังกล่าวอาจไม่ได้ครอบคลุมสถานการณ์ต้นเหตุของความเครียด ในแบบที่คุณกำลังเผชิญอยู่ นอกจากนี้ คุณอาจมีวิธีตอบสนองต่อสถานการณ์เดียวกันในแบบของคุณเองก็ได้
    • การใช้เวลาจดบันทึกความคิดและอารมณ์ของตัวเอง แค่เพียง 20 นาทีต่อวัน สามารถช่วยให้คุณมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ผลการศึกษายังพบว่า การจดบันทึก นอกจากจะช่วยให้เข้าใจตนเองและเห็นรูปแบบของอารมณ์ ยังมีผลต่อการคลายเครียดและช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางอารมณ์ได้อีกด้วย [49]
    • ลองไล่หาต้นตอไปเรื่อยๆ [50] เช่น คุณอาจคิดว่าคุณกำลังเครียดเพราะได้เงินเดือนน้อย แต่สาเหตุที่แท้จริง อาจเป็นไปได้ว่า งานที่คุณกำลังทำ เป็นงานที่ไม่น่าสนใจ จึงทำให้คุณรู้สึกหมดหวังต่ออนาคต หรือหากคุณโกรธที่ลูกๆ ซื้อของเล่นไร้สาระ มันเป็นเพราะคุณมองว่ามันไร้ประโยชน์จริงๆ หรือเป็นเพียงเพราะคุณรู้สึกเสียดายเงินกันแน่
    • ประเมินความสัมพันธ์ส่วนตัว ลองสำรวจดูว่าความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดบางคน ทำให้คุณรู้สึกนับถือและภาคภูมิใจในตนเอง รวมถึงมีกำลังใจมากขึ้น หรือว่าทำให้คุณรู้สึกแย่กว่าเดิมกันแน่
  2. How.com.vn ไท: Step 2 สำรวจความถี่.
    ความเครียดของคุณเกิดขึ้นเฉพาะเวลาที่ถูกกระตุ้นโดยเหตุการณ์บางอย่าง หรือเกิดขึ้นเกือบตลอดเวลา เพราะความเครียดที่เกิดจากความผิดหวังในตัวเพื่อนร่วมงาน ย่อมมีลักษณะแตกต่างจากความเครียดที่เริ่มจู่โจมทันทีตั้งแต่คุณตื่นนอนจนกระทั่งเข้านอน ซึ่งหากเป็นกรณีหลัง ก็มักจะมีสาเหตุซ่อนเร้นบางอย่าง และคุณก็ควรที่จะปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ โดยอาจหาข้อมูลเบื้องต้นด้วยตนเองทางอินเตอร์เน็ทก่อนก็ได้
  3. How.com.vn ไท: Step 3 จัดอันดับความเครียด.
    การจัดอันดับจะช่วยให้คุณสามารถเห็นภาพอย่างชัดเจนว่า สาเหตุใดส่งผลกระทบหรือทำให้คุณเครียดได้ง่ายที่สุด จึงทำให้คุณวางแผนในการรับมือหรือหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นได้ง่ายขึ้น
  4. How.com.vn ไท: Step 4 ออกแบบแผนการกำจัดความเครียด.
    หากคุณต้องการเอาชนะความเครียด ต้องหัดวางแผนและรู้จักคิดอย่างเป็นระบบ เพื่อที่จะหาทางแก้ไขสาเหตุของความเครียดแต่ละตัว ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
    • ลองยกตัวอย่างทางแก้ของสาเหตุแต่ละอย่าง โดยเริ่มจากเรื่องเล็กหรือเรื่องง่ายที่สุดก่อน เช่น หากความเครียดอันดับที่สิบของคุณ คือ เรื่องของการต้องปวดหัวกับรถติดทุกวัน คุณก็สามารถลิสท์ทางแก้หลายๆ แบบออกมา เช่น ออกจากบ้านให้เร็วขึ้น เปลี่ยนวิธีการเดินทาง หรือย้ายที่พักไปใกล้ๆ ที่ทำงาน เป็นต้น
    • หาทางแก้ของแต่ละสาเหตุแห่งความเครียดให้ครบทุกประการ หากคุณพบว่าสาเหตุบางประการ ไม่ได้แก้ง่ายเหมือนกับความเครียดข้ออื่นๆ ก็ขอให้ใช้เวลากับมันสักพัก เพราะต่อให้ยังคิดหาทางแก้ไม่ได้ คุณก็จะเริ่มรู้สึกว่ามีหนทางในการเอาชนะความเครียดได้ในอีกไม่นาน แถมยังเริ่มรู้สึกถึงพลังในตนเองอีกด้วย [51]
    • ลองทำ แบบฝึกหัดการรบริหารความเครียด สำหรับรับมือกับความเครียดในแต่ละสถานการณ์ดู จะทำให้คุณเข้าใจตัวเองและสาเหตุแต่ละอย่าง ได้โดยทะลุปรุโปร่ง แบบฝึกหัดดังกล่าว ยังช่วยให้คุณมองปัญหาของตัวเองอย่างเป็นกลางมากขึ้นด้วย เพราะใครๆ ต่างก็เผชิญปัญหาเฉกเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ดี แบบฝึกหัดดังกล่าวจะช่วยหนุนนำให้คุณมีความจริงจังในการขจัดความเครียด และส่งเสริมให้คุณทางทางออกให้กับตัวเอง ด้วยแนวทางเฉพาะตัว
  5. How.com.vn ไท: Step 5 ขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง.
    คุณไม่จำเป็นต้องรับมือกับมันตามลำพัง และคุณจะรู้สึกมีกำลังใจขึ้นมาก หากได้รับความเอาใจใส่จากเพื่อน และสมาชิกในครอบครัว หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ [52] หากคุณกล้าเปิดเผยความรู้สึกของตัวเอง โอกาสที่จะได้รับความเห็นใจจากคนรอบข้างมักมีสูงกว่าการเก็บงำไว้คนเดียว และถ้าจะให้ดี คุณควรเล่าปัญหาหรือความเครียดของคุณด้วยน้ำเสียงและท่าทางที่สะท้อนความรู้สึกดังกล่าวออกมา จะช่วยให้พวกเขารู้สึกเห็นใจคุณได้อย่างแท้จริง [53]
    • พูดคุยกับเพื่อนและคนในครอบครัว เกี่ยวกับลักษณะของปัญหา และรูปแบบวิธีการรับมือความเครียดที่คุณกำลังใช้อยู่ เผื่อบางคนอาจจะมีประสบการณ์มาก่อน และให้คำแนะนำที่ดีกว่าแก่คุณได้
    • พบแพทย์หากจำเป็น. เมื่อคุณรู้สึกว่าตัวเองหรือคนรอบข้างอาจรับมือกับความเครียดไม่ไหวแล้ว ถึงขนาดที่ว่ากินไม่ได้ นอนไม่หลับ หรือเกิดอาการกระสับกระส่ายตลอดเวลา อย่ารอช้า รีบปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญทันที
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • จำไว้ว่า คนอื่นๆ ก็หนีไม่พ้นความเครียดเหมือนกัน การสังเกตดูอาการเครียดของคนรอบข้างบ่อยๆ จะทำให้เข้าใจสัจธรรมที่ว่า ทุกคนบนโลกต่างต้องเผชิญความทุกข์ด้วยกันทั้งสิ้น และส่งผลให้คุณเกิดความเมตตาต่อตนเองและผู้อื่นมากขึ้น
โฆษณา

คำเตือน

  • ในระหว่างที่รู้สึกตึงเครียด บางครั้งคุณอาจอยากจะหาทางออกด้วยทางลัด เช่น การดื่มสุรา สูบบุหรี่ หรือใช้ยาเสพติดบางประเภท พยายามแข็งใจเอาไว้ เพราะการใช้สิ่งเหล่านั้น จะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี ในระยะยาว[54]
  • หากความเครียดของคุณเริ่มหนักเกินกำลัง ขอให้ปรึกษาแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่าฝืนใจเก็บงำหรือแบกรับความเครียดนั้นไว้คนเดียว[55]
โฆษณา
  1. http://www.helpguide.org/articles/stress/stress-management.htm
  2. http://www.helpguide.org/articles/stress/stress-management.htm
  3. http://exploreim.ucla.edu/wellness/eat-right-drink-well-stress-less-stress-reducing-foods-herbal-supplements-and-teas/
  4. http://exploreim.ucla.edu/wellness/eat-right-drink-well-stress-less-stress-reducing-foods-herbal-supplements-and-teas/
  5. http://exploreim.ucla.edu/wellness/eat-right-drink-well-stress-less-stress-reducing-foods-herbal-supplements-and-teas/
  6. http://umm.edu/health/medical/altmed/herb/lavender
  7. http://exploreim.ucla.edu/wellness/eat-right-drink-well-stress-less-stress-reducing-foods-herbal-supplements-and-teas/
  8. www.health.harvard.edu/press_releases/importance_of_sleep_and_health
  9. Division of Sleep Medicine at Harvard Medical School and WGBH Educational Foundation. (n.d.). Consequences of insufficient sleep. Healthy Sleep. Retrieved from http://healthysleep.med.harvard.edu/healthy/matters/consequences.
  10. American Psychological Association. (2004, May). More sleep would make most Americans happier, healthier and safer. Retrieved from http://www.apa.org/research/action/sleep-deprivation.aspx.
  11. http://www.webmd.com/balance/guide/blissing-out-10-relaxation-techniques-reduce-stress-spot?page=1
  12. http://www.webmd.com/balance/guide/blissing-out-10-relaxation-techniques-reduce-stress-spot?page=2
  13. http://www.webmd.com/balance/guide/blissing-out-10-relaxation-techniques-reduce-stress-spot?page=2
  14. http://www.webmd.com/balance/guide/blissing-out-10-relaxation-techniques-reduce-stress-spot?page=2
  15. http://www.webmd.com/balance/guide/blissing-out-10-relaxation-techniques-reduce-stress-spot?page=2
  16. http://www.telegraph.co.uk/news/health/news/5070874/Reading-can-help-reduce-stress.html
  17. http://psychcentral.com/lib/strategies-to-reduce-anxiety-and-stress/00032
  18. http://www.helpguide.org/articles/stress/stress-management.htm
  19. http://psychcentral.com/lib/strategies-to-reduce-anxiety-and-stress/00032#one
  20. http://www.scientificamerican.com/article/smile-it-could-make-you-happier/
  21. http://www.webmd.com/balance/guide/blissing-out-10-relaxation-techniques-reduce-stress-spot?page=2
  22. http://www.health.harvard.edu/mind-and-mood/relaxation-techniques-breath-control-helps-quell-errant-stress-response
  23. http://www.health.harvard.edu/mind-and-mood/relaxation-techniques-breath-control-helps-quell-errant-stress-response
  24. http://www.mentalhealth.org.uk/content/a-to-z-of-mental-health/32776/mindfulness
  25. http://www.mentalhealth.org.uk/help-information/mental-health-a-z/S/stress/
  26. http://www.mentalhealth.org.uk/content/a-to-z-of-mental-health/32776/mindfulness
  27. http://www.betterhealth.vic.gov.au/bhcv2/bhcarticles.nsf/pages/Stress
  28. http://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/stress-management/in-depth/assertive/art-20044644
  29. http://www.betterhealth.vic.gov.au/bhcv2/bhcarticles.nsf/pages/Stress
  30. http://www.helpguide.org/articles/stress/stress-management.htm
  31. http://www.helpguide.org/articles/stress/stress-management.htm
  32. http://www.betterhealth.vic.gov.au/bhcv2/bhcarticles.nsf/pages/Stress
  33. http://www.helpguide.org/articles/stress/stress-management.htm
  34. http://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/stress-management/in-depth/stress-management/art-20044502
  35. http://www.helpguide.org/articles/stress/stress-management.htm
  36. Billings, A. G., & Moos, R. H. (1985) “Life stressors and social resources affect post-treatment outcomes among depressed patients.”Journal of Abnormal Psychology, 94, 140-153.
  37. http://www.helpguide.org/articles/stress/stress-management.htm
  38. http://psychcentral.com/lib/strategies-to-reduce-anxiety-and-stress/00032#one
  39. http://www.helpguide.org/articles/stress/stress-management.htm
  40. http://psychcentral.com/lib/the-health-benefits-of-journaling/000721
  41. http://www.helpguide.org/articles/stress/stress-management.htm
  42. http://psychcentral.com/lib/strategies-to-reduce-anxiety-and-stress/00032#one
  43. http://www.helpguide.org/articles/stress/stress-management.htm
  44. http://psychcentral.com/lib/strategies-to-reduce-anxiety-and-stress/00032
  45. http://www.helpguide.org/articles/stress/stress-management.htm
  46. http://www.betterhealth.vic.gov.au/bhcv2/bhcarticles.nsf/pages/Stress

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

How.com.vn ไท: Trudi Griffin, LPC, MS
ร่วมเขียน โดย:
ผู้ให้คำปรึกษามืออาชีพที่มีใบอนุญาต
บทความนี้ ร่วมเขียน โดย Trudi Griffin, LPC, MS. ทรูดี้ กริฟฟินเป็นผู้ให้คำปรึกษามืออาชีพที่มีใบอนุญาตในวิสคอนซิน เธอได้รับปริญญาโทด้านการให้คำปรึกษาเรื่องสุขภาพจิตจากมหาวิทยาลัยมาร์เกว็ตต์ในปี 2011 บทความนี้ถูกเข้าชม 9,155 ครั้ง
มีการเข้าถึงหน้านี้ 9,155 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

⚠️ Disclaimer:

Content from Wiki How ไท language website. Text is available under the Creative Commons Attribution-Share Alike License; additional terms may apply.
Wiki How does not encourage the violation of any laws, and cannot be responsible for any violations of such laws, should you link to this domain, or use, reproduce, or republish the information contained herein.

Notices:
  • - A few of these subjects are frequently censored by educational, governmental, corporate, parental and other filtering schemes.
  • - Some articles may contain names, images, artworks or descriptions of events that some cultures restrict access to
  • - Please note: Wiki How does not give you opinion about the law, or advice about medical. If you need specific advice (for example, medical, legal, financial or risk management), please seek a professional who is licensed or knowledgeable in that area.
  • - Readers should not judge the importance of topics based on their coverage on Wiki How, nor think a topic is important just because it is the subject of a Wiki article.

โฆษณา