ดาวน์โหลดบทความดาวน์โหลดบทความ

การเป็นผู้ฟังที่ดีทำให้มองเห็นโลกในมุมมองของผู้อื่น เสริมสร้างความเห็นอกเห็นใจ อีกทั้งยังเพิ่มพูนทักษะการสื่อสารกับบุคคลทั่วไป ทักษะการฟังที่ดีช่วยให้เข้าใจสถานการณ์ของผู้อื่นได้ดีขึ้นซึ่งมีประโยชน์ต่อการเลือกหรือเลี่ยงใช้คำพูด แม้ว่าการฟังดูเหมือนง่ายดาย แต่เมื่อมีข้อขัดแย้งเกิดขึ้นก็ต้องฝึกฝนอย่างมากเพื่อจะฟังด้วยกริยาที่เหมาะสม ฉะนั้นสมควรฝึกตนให้เป็นผู้ฟังที่ดีตั้งแต่บัดนี้

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 3:

เปิดใจฟัง

ดาวน์โหลดบทความ
  1. How.com.vn ไท: Step 1 สมมติว่าตนเองเผชิญสถานการณ์เดียวกันกับผู้พูด....
    สมมติว่าตนเองเผชิญสถานการณ์เดียวกันกับผู้พูด. คนเรามักหมกมุ่นคิดถึงแต่ผลกระทบของเรื่องที่คนอื่นเล่าต่อตนเอง รู้ไหมว่าความคิดส่วนตัวของคุณกำลังปิดโอกาสที่จะฟังอย่างตั้งใจ คุณควรเปิดใจให้กว้างแล้วมองปัญหาในสายตาของผู้พูด ให้สมมติว่าคุณอยู่ในสถานการณ์เดียวกับเขาแล้วจะเข้าใจปัญหาได้ดีขึ้น การเป็นผู้ฟังที่ดีสามารถช่วยให้คุณเป็นเพื่อนที่ดีขึ้นได้ด้วยการทำความรู้จักกันให้มากขึ้น
    • มีเหตุผลที่มนุษย์มีสองหูและหนึ่งปาก ความจริงนี้แสดงให้เห็นว่าคุณควรฟังมากกว่าพูด การฟังมีประโยชน์กว่าการพูด เมื่อต้องฟังใครสักคนพูด ให้สบตาและมีส่วนร่วมในบทสนทนาผู้พูดจะได้รู้ว่าคุณใส่ใจสิ่งที่เขาพูด (แม้ว่าความจริงคุณอาจไม่สนใจ แต่เป็นมารยาทที่ต้องรู้) คนที่ฟังมาก ช่างสังเกต จะเข้าใจสิ่งรอบตัวได้ดีกว่า ตรวจสอบตนเองว่าได้ตั้งใจฟังอย่างแท้จริง ไม่ได้ทำอย่างอื่นไปด้วยขณะฟัง พยายามพุ่งความสนใจไปที่ผู้พูดโดยไม่วอกแวก
    • ใช้เวลานิ่งฟังอีกฝ่ายพูดจากมุมมองของเขาแทนที่จะรีบหาข้อสรุปหรือทางแก้ทันที ลองนึกว่าตนเองจะรู้สึกอย่างไรหากทราบว่าอีกฝ่ายตัดสินเราอย่างเงียบๆ อยู่ การย้อนคิดลักษณะนี้จะทำให้คุณฟังได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง ดีกว่ารีบแสดงความคิดเห็นก่อนที่จะเข้าใจสถานการณ์ตรงหน้า
  2. How.com.vn ไท: Step 2 อย่าเปรียบเทียบประสบการณ์ของตนเองกับผู้อื่น....
    อย่าเปรียบเทียบประสบการณ์ของตนเองกับผู้อื่น. แม้คุณอาจเข้าใจว่าการโยงประสบการณ์ของผู้อื่นกับตนเองนั้นเหมาะสมที่สุดแล้ว แต่นั่นไม่เป็นคงามจริงเลย หากมีคนมาปรับทุกข์เรื่องการสูญเสียสมาชิกในครอบครัว สามารถให้คำปรึกษาได้แต่อย่ากล่าวว่า "อือ แย่เหมือนกันเลย" เพราะนอกจากจะแสดงความรู้เท่าไม่ถึงการณ์แล้ว อาจดูหมิ่นความรู้สึกอีกฝ่ายอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเหตุการณ์ที่นำไปเปรียบเทียบมีความรุนแรงน้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด เช่นเปรียบเทียบการหย่าร้างกับ เลิกกับแฟนที่คบมาสองสามเดือน จะทำให้ผู้ฟังรู้สึกไม่สบายใจ
    • คุณอาจเข้าใจว่าการเปรียบเทียบเป็นทางเลือกที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อการเข้าถึงความรู้สึกของผู้อื่นมากที่สุด แต่การคิดแบบนี้นั้นบั่นทอนมาก อีกทั้งยังทำให้ผู้พูดรู้สึกว่าคุณไม่ได้ตั้งใจฟังเลย
    • หลีกเลี่ยงการใช้สรรพนามบุรุษที่ 1 (คำที่ใช้แทนตนเอง) บ่อยๆ เพราะเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าคุณนึกถึงตนเองมากกว่าปัญหาของผู้อื่น
    • มีโอกาสที่ผู้พูดจะเร่งเร้าขอความคิดเห็นหากเขาทราบว่าคุณเคยผ่านประสบการณ์คล้ายกันมา ในกรณีนี้สามารถให้คำแนะนำได้ แต่ต้องไม่ทึกทักเอาเองว่าประสบการณ์ของคุณกับผู้พูดเหมือนกันทุกประการเพราะจะฟังเหมือนคุณสร้างสถานการณ์ปลอมขึ้นมาให้ดูเป็นประโยชน์
  3. How.com.vn ไท: Step 3 อย่าช่วยทันที.
    หลายคนเข้าใจว่าต้องรีบคิดวิธีแก้ปัญหาง่ายๆ มาช่วยผู้พูด ให้เปลี่ยนความคิดเสียใหม่ว่าแท้จริงแล้วสิ่งที่ผู้พูดเล่ามีค่าควรแก่การฟังอย่างตั้งใจ การใช้เวลาขณะที่ผู้พูดเล่าเรื่องของเขาไปคิดวิธีแก้ปัญหาเป็นการไม่เหมาะสม เว้นแต่เขาต้องการให้เราช่วยในลักษณะนี้แต่ต้น ถ้าไม่มีสมาธิขณะฟังมัวแต่รีบเร่งหาวิธีช่วยแก้ปัญหาก็ไม่นับเป็นการฟังที่ดี
    • จงตั้งสมาธิเปิดรับสิ่งที่ผู้พูดเล่าทุกอย่าง หลังจากนั้นค่อยหาทางช่วย
  4. How.com.vn ไท: Step 4 แสดงความเห็นอกเห็นใจ.
    พยักหน้าเป็นระยะระหว่างฟังเพื่อแสดงความห่วงใย กล่าวถ้อยคำแสดงว่าเห็นด้วย เช่น ใช่ เนอะ เมื่อผู้มาปรึกษาต้องการให้คุณเห็นด้วยกับสิ่งที่เขาพูด (สามารถสังเกตได้จากน้ำเสียง) หรือ กล่าว "โห" เมื่อเขาปรึกษาเรื่องร้ายแรงหรือระบายความทุกข์ การกล่าวถ้อยคำเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าคุณไม่ได้แค่ฟังอย่างเดียวแต่ตั้งใจรับสารอย่างเต็มที่ ให้กล่าวถ้อยคำเหล่านี้อย่างนิ่มๆ และเลือกเวลาให้เหมาะสมจะได้ไม่ดูเยอะเกินหรือเป็นการขัดจังหวะ พยายามเรียกความอ่อนโยนออกมาเมื่อปลอบคนทุกข์ ระลึกไว้เสมอว่าไม่มีใครชอบให้สงสาร เวทนาจนเกินเหตุ ปลอบโยนได้แต่อย่าเผลอยกตนเหนือกว่า
  5. How.com.vn ไท: Step 5 จดจำสิ่งที่ผู้พูดเล่าให้มั่น.
    การจดจำเรื่องราวที่ได้ยินอย่างลึกซึ้งเป็นปัจจัยสำคัญในการเป็นผู้ฟังที่ดี สมมติว่ามีคนมาปรึกษาเรื่องนายสมหมายซึ่งเป็นเพื่อนสนิทที่สุดของเขา แต่คุณไม่รู้จักนายสมหมายมาก่อน ก็ควรจำชื่อให้ได้เป็นอย่างน้อยเพื่อจะได้เรียกถูก ให้ทำเหมือนว่าคุณคุ้นเคยกับเรื่องราวนั้น ถ้าจำชื่อ รายละเอียด หรือเหตุการณ์สำคัญไม่ได้เลยก็แปลว่าไม่ได้ฟังอยู่นั่นเอง
    • ไม่เป็นไรถ้าความจำไม่ดี อย่างไรก็ตามหากต้องหยุดเพื่อขอความกระจ่างบ่อยๆ หรือลืมประจำว่าใครเป็นใคร คุณก็ยังไม่ใช่ผู้ฟังที่ดี ไม่จำเป็นต้องจำรายละเอียดยิบย่อยทุกอย่างให้ได้ แต่ก็อย่าน่าเกลียดถึงขั้นให้ผู้พูดต้องหยุดอธิบายซ้ำหลายรอบ
  6. How.com.vn ไท: Step 6 ติดตามผล.
    ทักษะอีกอย่างหนึ่งที่ผู้ฟังควรมีคือ เป็นคนที่ใส่ใจมากขึ้น อย่าฟังเพียงอย่างเดียว พอบทสนทนาจบก็เลิกรากันไปแล้วก็ลืมเรื่องราวเสียหมด หากต้องการแสดงความปรารถนาดี ควรไถ่ถามสารทุกข์สุขดิบของผู้พูดเมื่อเจอกันตามลำพังครั้งต่อไป ส่งข้อความหรือโทรไปถามว่าเป็นอย่างไรบ้าง ยิ่งผู้พูดกำลังเผชิญเรื่องเคร่งเครียดต่างๆ เช่น หย่าร้าง หางานใหม่ ปัญหาสุขภาพ การติดตามผลแสดงให้เห็นว่าคุณห่วงใยจริงก็เป็นที่พึงกระทำ แม้ว่าเขาจะไม่ได้ขอก็ตาม อย่าท้อใจหากเขาไม่อยากให้คุณมายุ่งด้วยแล้ว เคารพการตัดสินใจของเขา แต่ก็อย่าลืมบอกว่า คุณจะอยู่ตรงนี้เป็นกำลังใจให้เสมอ
    • การแสดงความห่วงใยและติดตามสถานการณ์หลังจบบทสนทนาทำให้ผู้พูดซาบซึ้งใจ อีกทั้งยังพัฒนาทักษะการฟังของคุณไปอีกระดับ
    • แน่นอนว่าการติดตามห่วงใยกับตามตื๊อนั้นต่างกัน สมมติว่าผู้พูดมาปรึกษาว่าเธออยากลาออกจากงาน คุณคงไม่คิดจะส่งข้อความไปถามทุกวันว่าลาออกหรือยังซึ่งส่งผลให้สถานการณ์กดดันมากขึ้นและกลายเป็นสร้างความเครียดที่ไม่จำเป็นแทนที่จะช่วยแก้ไข
  7. How.com.vn ไท: Step 7 รู้ว่าอะไรควรไม่ควร.
    ผู้ฟังที่ดีควรรู้ว่าต้องไม่พูดอะไร เรื่องนี้สำคัญเท่าเทียมกับรู้ว่าควรพูดอะไร หากอยากให้ผู้พูดไว้ใจและคิดว่าคุณเคารพเขาจริง ให้ระวังกริยาเหล่านี้:
    • ห้ามพูดแทรกระหว่างสนทนาเด็ดขาด
    • ห้ามคาดคั้นผู้พูด ให้ถามอย่างสุภาพเมื่อจำเป็นจริงๆ (ถามต่อเมื่อเกิดความเงียบระหว่างบทสนทนาหรือเมื่อผู้พูดหยุดพูด)
    • ห้ามเปลี่ยนหัวข้อแม้ว่าไม่สบายใจจะฟัง
    • อย่าพูดว่า "แค่นี้ไม่ตายหรอก" หรือ "เดี๋ยวก็ดีขึ้นเอง" เพราะจะทำให้ปัญหาของผู้พูดฟังดูเป็นเรื่องเล็กน้อยส่งผลให้ผู้พูดรู้สึกแย่ สบตาด้วยตอนพูด ผู้พูดจะได้รู้ว่าคุณฟังอยู่และใส่ใจสิ่งที่เขาเล่า
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 3:

พูดให้ถูกวิธี

ดาวน์โหลดบทความ
  1. How.com.vn ไท: Step 1 นิ่งฟัง.
    ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ทุกคนรู้อยู่แล้ว แต่การข่มใจตนเองไม่ให้ออกความเห็นแล้วนิ่งฟังแท้จริงแล้วเป็นอุปสรรคใหญ่ หลายคนแสดงความเห็นใจอย่างผิดวิธีโดยอ้างอิงจากประสบการณ์ของตนเองที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน การกระทำโดยสัญชาติญาณในลักษณะนี้อาจเป็นประโยชน์ในบางครั้งแต่โดยมากแล้วใช้กันผิดกาละเทศะ
    • มองข้ามความต้องการของตนเองแล้วรออย่างอดทน ให้โอกาสผู้พูดคิดและเล่าเรื่องในแบบที่เขาถนัด
  2. How.com.vn ไท: Step 2 ให้ความมั่นใจว่าคุณเชื่อถือได้.
    ในกรณีที่ผู้พูดเล่าเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องสำคัญมาก คุณควรแสดงตนให้ชัดเจนว่าคุณไม่ใช่คนปากโป้ง แต่เก็บความลับเป็นและไว้ใจได้ ให้บอกผู้พูดว่าบทสนทนานี้เป็นเรื่องระหว่างคุณสองคนเท่านั้น และคำพูดของคุณจะเป็นพันธะผูกมัดให้รักษาสัญญา ผู้พูดมีแนวโน้มจะไม่เปิดอกคุยกับคุณหากเขาคิดว่าคุณไม่น่าไว้ใจ อย่าบังคับให้คนอื่นเปิดใจเล่าเรื่องใดๆ ก็ตามเพราะอาจทำให้เขาไม่สบายใจหรือโกรธเคือง
    • ถ้าตกลงจะเก็บสิ่งที่ได้ยินเป็นความลับ ก็ควรรักษาสัญญาเว้นแต่จะเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง จำเป็นต้องบอกต่อจริงๆ เช่นผู้พูดมาระบายให้ฟังว่าอยากฆ่าตัวตาย หากคุณเป็นคนไร้ความสัตย์ ไม่น่าเชื่อถือก็ไม่สามารถเป็นผู้ฟังที่ดีได้เลย
  3. How.com.vn ไท: Step 3 ใช้น้ำเสียงให้กำลังใจเมื่อต้องพูด.
    การใช้น้ำเสียงหนักแน่นในจังหวะที่เหมาะสมเป็นเรื่องสำคัญมาก เพื่อผู้พูดจะได้ไม่เข้าใจผิดว่าคุณไม่ได้ฟังเขาอยู่ การ "สรุปและย้ำ" หรือ "พูดซ้ำและให้กำลังใจ" เป็นหัวใจของการฟัง อีกทั้งยังช่วยให้บทสนทนาราบรื่น ผู้พูดก็รู้สึกประหม่าน้อยลง สิ่งที่คุณควรทำในแต่ละขั้นตอนมีดังนี้:
    • พูดซ้ำและให้กำลังใจ: กล่าวสิ่งที่ผู้พูดเล่าให้ฟังซ้ำพร้อมกับโต้ตอบในเชิงบวกเพื่อให้กำลังใจ ตัวอย่างเช่น คุณอาจพูดว่า “ฉันรู้ว่าคุณไม่อยากเป็นแพะรับบาป ฉันก็ไม่อยากเหมือนกัน” อย่างไรก็ตามใช้วิธีนี้อย่างระมัดระวัง เอาไว้กระตุ้นผู้พูดเป็นระยะเพราะหากพูดบ่อยไปอาจดูเหมือนสงสารจนเกินเหตุได้
    • สรุปและย้ำ: การสรุปบทสนทนาด้วยถ้อยคำของคุณเองบ่งชี้ถึงความเข้าใจในสิ่งที่ผู้พูดเล่า ทำให้ผู้พูดรู้สึกว่าคุณได้ฟังอย่างตั้งใจแถมยังเข้าใจอย่างถ่องแท้ อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้พูดแก้ไขข้อสันนิษฐานที่ผิดหรือความไม่เข้าใจของคุณในบางส่วน
    • พยายามใช้ประโยคปลายเปิด เช่น "ไม่รู้ว่าเข้าใจถูกหรือเปล่านะ แต่…" หรือ "...บอกด้วยนะว่าเข้าใจผิดตรงไหน" เคล็ดลับนี้เป็นประโยชน์อย่างมากเมื่อรู้สึกอึดอัดที่จะฟังหรือเมื่อรู้สึกว่าความตั้งใจฟังลดลง
  4. How.com.vn ไท: Step 4 ถามคำถามที่มีความหมายและมีพลัง.
    อย่ายุแหย่หรือทำให้คู่สนทนาต้องปกป้องตนเองจากคำถามของคุณ มุ่งใช้คำถามเป็นตัวช่วยให้ผู้พูดสรุปปัญหาของเขาได้ การตั้งคำถามช่วยกระตุ้นให้ผู้พูดเริ่มสรุป โดยที่ไม่ดูช่างตัดสินหรือคาดคั้นจนเกินไป จงจำไว้ว่า:
    • หลังจากฟังอย่างเข้าใจแล้ว ถึงเวลาที่คุณจะฟังอย่างมีพลัง ลองปรับเปลี่ยนวิธีการถามใหม่ เช่น "เข้าใจแล้วว่าไม่ชอบให้ใครมาโทษ แต่ก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดีว่าทำไมถึงรู้สึกว่าเขากล่าวโทษ ทำไมไม่รู้สึกว่ามีคนขอไม่ให้ทำล่ะ"
    • การสร้างคำถามในลักษณะนี้ทำให้ผู้พูดรู้สึกอยากไขข้อข้องใจของคุณโดยตรง ผู้พูดควรเปลี่ยนจากการตอบคำถามโดยใช้อารมณ์เป็นหลักมาตอบแบบมีเหตุผล
  5. How.com.vn ไท: Step 5 รอให้เขาเปิดใจ.
    ระหว่างการกระตุ้นให้ตอบแบบมีเหตุผล ผู้ฟังที่ดีควรอดทนรอให้ผู้พูดใช้เวลารวบรวมความคิด ความรู้สึกต่างๆ อาจใช้เวลานานในครั้งแรกกว่าจะเห็นผล แต่ถ้าคุณอดรนทนไม่ได้แล้วจี้ให้เขาตอบเลยด้วยการถามคำถามส่วนตัวทันที ผู้พูดอาจรู้สึกกลัวและไม่กล้าเปิดใจกับคุณอีกในครั้งต่อไป
    • จงอดทนอยู่เสมอและคิดว่าตนเองอยู่ในสถานการณ์เดียวกับผู้พูด จะช่วยให้จินตนาการเรื่องราวที่ผู้พูดเล่าได้ดีขึ้น
  6. How.com.vn ไท: Step 6 อย่าขัดผู้พูดด้วยความคิดเห็นส่วนตัวของคุณเกี่ยวกับเรื่องนั้น....
    อย่าขัดผู้พูดด้วยความคิดเห็นส่วนตัวของคุณเกี่ยวกับเรื่องนั้น. ก่อนแสดงความคิดเห็นออกไป รอจนกว่าผู้พูดจะถามเองว่าคุณคิดอย่างไร ผู้ฟังที่ดีรู้ว่าควรเก็บความคิดเห็นส่วนตัวไว้ชั่วคราวก่อนและอดทนรอจนกว่าจะได้จังหวะเหมาะสมในการแสดงความคิดเห็น เมื่อได้เวลาแล้วให้สรุปบทสนทนาหรือแสดงความเห็นอกเห็นใจ
    • การขัดจังหวะคู่สนทนาเร็วเกินไป เขาอาจรู้สึกอึดอัด ไม่อยากฟังความเห็นของคุณ เขากระตือรือร้นที่จะเล่าเรื่องของเขาแต่คุณกลับสร้างความลำบาก ว้าวุ่นใจให้แทน
    • อย่าแนะนำไปตรงๆ (เว้นแต่ผู้พูดขอความเห็นคุณ) ให้เขาเล่าเรื่องไปและหาทางแก้เอง การกระทำนี้ช่วยส่งเสริมทั้งเขาและคุณ บทสนทนาจะเป็นเชิงแลกเปลี่ยนและเน้นทำความเข้าใจกัน
  7. How.com.vn ไท: Step 7 ทำให้ผู้พูดรู้สึกอุ่นใจ.
    ไม่ว่าบทสนทนาจะจบลงอย่างไร ให้ผู้พูดทราบว่าคุณยินดีฟังและเป็นผู้ช่วยสะท้อนความคิดที่ดีได้ บอกผู้ฟังให้ชัดเจนว่าคุณจะเปิดใจรับฟังหากอยากคุยเพิ่มเติม แต่คุณจะไม่กดดันเขา ทำให้ผู้พูดมั่นใจอีกครั้งว่าบทสนทนานี้จะเป็นความลับ แม้ว่าผู้พูดดูเคร่งเครียดกับปัญหามากจนดูไม่เหมาะสมหากจะปลอบว่า ไม่ต้องกังวล คุณยังสามารถให้กำลังใจได้ว่าคุณจะอยู่เคียงข้างเขาเพื่อรับฟังและช่วยเหลือเสมอ
    • คุณอาจเอื้อมไปแตะมือหรือหัวเข่าผู้พูดเบาๆ โอบกอดเขาหรือเธอ หรือแตะตัวเพื่อให้กำลังใจ ดูสถานการณ์ให้เหมาะสมหากต้องแตะเนื้อต้องตัวคู่สนทนาจะได้ดูไม่น่าเกลียดหรือล้ำเส้น
    • อาสาให้ความช่วยเหลือตามความสามารถ เวลา และความรู้ อย่าให้ความหวังลมๆ แล้งๆ หากสิ่งเดียวที่ทำได้คือฟัง ก็บอกให้ชัดเจนว่าสามารถฟังได้เท่านั้น ช่วยเหลืออย่างอื่นไม่ได้ การฟังก็เป็นความช่วยเหลือที่มีค่ามากแล้ว
  8. How.com.vn ไท: Step 8 เมื่อให้คำแนะนำ พยายามแสดงความเห็นที่เป็นกลางและอย่าอิงประสบการณ์ของตนเอง....
    เมื่อให้คำแนะนำ พยายามแสดงความเห็นที่เป็นกลางและอย่าอิงประสบการณ์ของตนเอง. คิดว่าสิ่งใดดีที่สุดสำหรับเขาแทนที่จะคิดว่าถ้าเป็นเราจะจัดการกับปัญหานี้อย่างไร
    โฆษณา
ส่วน 3
ส่วน 3 ของ 3:

ใช้ภาษากายที่เหมาะสม

ดาวน์โหลดบทความ
  1. How.com.vn ไท: Step 1 สบตาผู้พูด.
    การสบตาจำเป็นมากขณะฟัง หากผู้พูดเห็นว่าคุณไม่ได้สนใจจริงและวอกแวกบ่อยครั้ง เขาอาจไม่อยากเปิดใจคุยกับคุณอีก หากคุยอยู่กับใครสักคนให้สบตาตรงๆ เขาจะได้รู้ว่าคุณตั้งใจฟังทุกถ้อยคำ แม้ว่าหัวข้อการสนทนาอาจไม่ถูกใจคุณ อย่างน้อยการฟังเขาพูดก็เป็นการแสดงความเคารพอีกฝ่าย
    • เพ่งความคิดและโสตประสาทไปที่ผู้พูด จงเป็นผู้ฟังที่ดี อย่ามัวแต่สนใจว่าจะพูดอะไรต่อ มีสมาธิกับสิ่งที่ผู้พูดเล่า (จำไว้ว่ากำลังฟังเรื่องของเขา ไม่ใช่เรื่องของคุณ)
  2. How.com.vn ไท: Step 2 สนใจให้เต็มร้อย.
    ผู้ฟังที่ประสบความสำเร็จรู้ว่าต้องตีกรอบความคิดและพฤติกรรมของตนเองอย่างไร กำจัดความวอกแวกให้หมด จากนั้นเพ่งความสนใจไปที่สิ่งที่ผู้พูดกล่าวอย่างเดียว ปิดเครื่องมือสื่อสารทั้งหมด (รวมถึงโทรศัพท์มือถือ) และนัดสนทนาในที่ไม่จอแจ เมื่อผู้พูดอยู่ต่อหน้าคุณแล้ว ให้ทำใจให้สงบและตั้งใจฟัง แสดงให้เห็นว่าคุณพึ่งพาได้
    • เลือกสถานที่ไม่จอแจเพื่อคุยมิฉะนั้นคุณอาจวอกแวกได้ หากเลือกนั่งในร้านกาแฟ ให้เพ่งความสนใจไปที่ผู้พูด อย่ามัวแต่มองลูกค้าที่เข้าออกร้าน
    • หลีกเลี่ยงที่นั่งใกล้โทรทัศน์หากไปสถานที่สาธารณะเช่นร้านอาหารหรือคาเฟ่ ถึงแม้คุณอาจคิดว่าจะสนใจผู้พูดเต็มที่ ก็อาจรู้สึกอยากชะโงกมองจอโทรทัศน์ได้เมื่อเห็นรายการที่ชอบ
  3. How.com.vn ไท: Step 3 ให้กำลังใจคู่สนทนาด้วยภาษากาย.
    พยักหน้าเพื่อสร้างกำลังใจให้พูดต่อและแสดงให้เห็นว่าคุณเข้าใจสิ่งที่เขาสื่อ ทำตัวให้เหมือนเป็นกระจกเงา ผู้พูดมีท่าทางการเคลื่อนไหวแบบไหนตอนเล่าเรื่องอย่างไรก็ให้ทำตามเขา จะช่วยให้ผู้พูดผ่อนคลายและเปิดใจเล่าเรื่องมากขึ้น สบตาเพื่อแสดงว่าคุณไม่ได้แค่ฟังอย่างเดียวแต่ยังสนใจสิ่งที่เขาพูดด้วย
    • ภาษากายอีกแบบที่ควรใช้คือ ให้หันตัวไปทางผู้พูด หากคุณหันไปทางอื่นจะดูเหมือนอยากลุกหนีไป ไม่อยากฟังแล้ว ถ้านั่งไขว้ขาให้ไขว้ไปด้านผู้พูดแทนที่จะหันไปทางตรงกันข้าม
    • อย่ากอดอก จะทำให้ดูแปลกๆ และผู้พูดจะสงสัยว่าคุณไม่จริงใจ
  4. How.com.vn ไท: Step 4 แสดงความสนใจด้วยการฟังอย่างตั้งใจ.
    การฟังอย่างตั้งใจนั้นครอบคลุมการใช้ภาษากายและสีหน้าด้วย ทั้งคุณและคู่สนทนา คุณอาจนิ่งเงียบแต่ก็ยังแสดงให้ผู้พูดเห็นว่ายังฟังอยู่ทุกคำ วิธีการพัฒนาทักษะส่วนนี้คือ:
    • ใส่ใจพูด: แม่ว่าคุณไม่จำเป็นต้องพูด อืม รู้แล้ว หรือ อ่าหะ ทุกห้าวินาที ให้น่ารำคาญ แต่คุณสามารถพูดให้กำลังใจเป็นระยะเพื่อแสดงความสนใจได้ ยิ่งผู้พูดเป็นคนสำคัญสำหรับคุณ คุณยิ่งต้องตั้งใจฟังและช่วยหาทางแก้ไขปัญหา
    • แสดงอารมณ์: สบตาผู้พูดและแสดงท่าทางว่าสนใจเป็นระยะ อย่าจ้องผู้พูดจนเขาเกร็ง ให้เขารับรู้ความเป็นมิตรและเปิดกว้างของคุณ
    • เข้าใจความหมายแฝง: สังเกตสิ่งที่ผู้พูดไม่ได้กล่าวหรือท่าทางอื่นๆ ที่บ่งชี้ความรู้สึกที่แท้จริงของผู้พูด จับตาดูสีหน้าและภาษากายของผู้พูด ไม่ใช่แค่สิ่งที่เขากล่าวเท่านั้น เก็บข้อมูลให้มากที่สุด จินตนาการว่าสถานการณ์แบบไหนที่ทำให้เขาแสดงความรู้สึก ใช้ภาษากาย และน้ำเสียงแบบนั้น
    • โต้ตอบด้วยความกระตือรือร้นระดับเดียวกันกับผู้พูด. การใช้วิธีนี้ทำให้รู้กันว่า ผู้ฟังเข้าใจเรื่องราวทั้งหมดดีแล้ว ไม่จำเป็นต้องเล่าซ้ำ
  5. How.com.vn ไท: Step 5 อย่าคาดหวังให้ผู้พูดเปิดใจทันที.
    จงอดทนฟังโดยไม่เผลอให้คำแนะนำ
    • ย้ำสิ่งที่ผู้พูดเล่าซ้ำอีกครั้งเพื่อยืนยันว่าเข้าใจความหมายถูกต้องแล้ว บางครั้งคำพูดสามารถแปลได้หลายแบบ วิธีที่ได้ผลที่สุดในการหลีกเลี่ยงความไม่เข้าใจระหว่างการสนทนาคือ กล่าวเนื้อหาซ้ำอีกครั้ง เพื่อผู้พูดจะได้รู้ว่าคุณกำลังฟังและย้ำว่าคุณสองคนเข้าใจตรงกัน
    • พิจารณาสถานการณ์ตรงหน้าให้ดี หากคู่สนทนาเป็นคนอ่อนไหวก็อย่าใช้ไม้แข็ง
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • ยิ่งการนิ่งฟังดูยากมากขึ้นเท่าไหร่ นั่นหมายความว่ายิ่งต้องฟังให้หนักขึ้นเท่านั้น
  • การเป็นผู้ฟังที่ดีเป็นหนึ่งในทักษะที่สำคัญที่สุดหากต้องการเจริญก้าวหน้าในที่ทำงานหรือมีความสัมพันธ์ที่มีความหมายกับผู้อื่น
  • แค่เขามาปรึกษาไม่ได้หมายความว่าคุณต้องช่วยแก้ไขปัญหาไปเสียทุกครั้ง บางครั้งเขาแค่ต้องการคนคุยด้วยเพื่อสะท้อนความคิด
  • อย่าพูดตามคู่สนทนาทุกประโยคเป็นนกแก้วนกขุนทอง จะเป็นที่น่ารำคาญมาก
  • นับแต่นี้เป็นต้นไป ให้ตั้งใจฟังผู้พูด และสังเกตบรรยากาศรอบตัว คุณจะประทับใจกับประสบการณ์ที่ได้รับจากการฟัง เพียงแค่สังเกตผู้คนว่าเขาพูดและทำอะไร การเรียนรู้ด้วยการฟังนั้นดีมาก
  • เลื่อนการสนทนาที่สำคัญออกไปหากยังไม่อยู่ในอารมณ์จะฟัง อย่าคุยเลยจะดีกว่าถ้าไม่พร้อม ไม่มีประโยชน์เลยหากจะบังคับตนเองให้สนทนาต่อไปขณะที่ในหัวมีแต่ อารมณ์อื่น ความกังวล หรือ สิ่งรอบตัวที่ทำให้วอกแวก
  • อย่าบังคับให้คู่สนทนาฟังคำแนะนำของคุณ
  • เปิดใจกว้าง รับฟังทุกอย่าง ไม่ใช่แค่สิ่งที่อยากได้ยินเท่านั้น บางเรื่องที่ไม่อยากได้ยินอาจมีประโยชน์ ไม่จำเป็นต้องแย่เสมอไป บางครั้งคำแนะนำที่มีค่าที่สุดคือสิ่งที่คุณไม่อยากได้ยิน โดยมากแล้วคนทั่วไปมักพูดแต่สิ่งที่คนอื่นอยากได้ยินเพราะกลัวจะไปกระทบจิตใจเข้า
  • คุยกับคนให้หลากหลายที่สุดเท่าที่จะทำได้ ฟังอย่างตั้งใจและเรียนรู้จากประสบการณ์
  • หากไม่เข้าใจความหมาย อย่าเก็บไว้ ให้ถามทันที
โฆษณา

คำเตือน

  • เมื่อผู้พูดเล่าเรื่องที่สำคัญสำหรับเขา พยายามอย่าพูดเยอะ ในเมื่อเขาคิดว่าคุณเชื่อใจได้มากพอที่จะบอกเรื่องสำคัญของเขาได้ คุณก็ไม่ควรจะไม่เคารพในทุกกรณีหรือแสดงให้เห็นถึงความไม่ใส่ใจ (แม้ว่าจะไม่ได้กระทำโดยตั้งใจก็ตาม) มิฉะนั้นเขาจะคิดว่าบอกอะไรคุณไม่ได้อีกซึ่งอาจทำลายความเป็นเพื่อนหรือลดโอกาสสร้างความสัมพันธ์แต่แรก การสังเกตสีหน้าผู้พูดแล้วโต้ตอบอย่างเหมาะสมนั้นสำคัญมากเมื่อคุยเรื่องจริงจัง
  • แม้ว่าเรื่องที่คู่สนทนาเล่าจะยาวเกินกว่าจะสนใจต่อไปได้ พยายามกำจัดความรู้สึกนั้นและตั้งใจฟัง ไม่แน่เขาจะรู้สึกขอบคุณอย่างสุดซึ้งที่คุณฟัง อีกทั้งยังทำให้สายสัมพันธ์เหนียวแน่นขึ้นอีกด้วย
  • สบตาเสมอเวลาฟัง การไม่มองผู้พูดทำให้เขารู้สึกว่าคุณไม่สนใจฟัง
  • ถ้าคุณเริ่มคิดคำตอบในหัวก่อนผู้พูดเล่าเสร็จนั่นแปลว่าคุณไม่ได้ฟังจริงๆ อดทนรอจนเขาพูดเสร็จจึงค่อยออกความเห็น ทำหัวสมองให้ว่างโล่ง ไม่วอกแวก
  • อย่าวอกแวก สนใจผู้พูดให้เต็มที่ เพ่งสมาธิราวกับว่าชีวิตของคุณขึ่้นอยู่กับการฟังนี้
  • อย่าพูดแค่ อืม เออ เหรอ หรือพยักหน้าเพียงอย่างเดียว ผู้พูดจะเข้าใจว่าคุณเสียสมาธิเกินกว่าจะใส่ใจฟังจริงๆ
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

How.com.vn ไท: ทีมงานวิกิฮาว
ร่วมเขียน โดย:
นักเขียนในทีมวิกิฮาว
บทความนี้ร่วมเขียนโดยเหล่าบรรณาธิการและนักวิจัยที่ผ่านการฝึกฝนมาเพื่อความถูกต้องและครอบคลุมของเนื้อหา

ทีมผู้จัดการด้านเนื้อหาของวิกิฮาว จะตรวจตราผลงานจากทีมงานด้านเนื้อหาของเราเพื่อความมั่นใจว่าบทความทุกชิ้นได้มาตรฐานตามที่เราตั้งไว้ บทความนี้ถูกเข้าชม 17,787 ครั้ง
มีการเข้าถึงหน้านี้ 17,787 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

⚠️ Disclaimer:

Content from Wiki How ไท language website. Text is available under the Creative Commons Attribution-Share Alike License; additional terms may apply.
Wiki How does not encourage the violation of any laws, and cannot be responsible for any violations of such laws, should you link to this domain, or use, reproduce, or republish the information contained herein.

Notices:
  • - A few of these subjects are frequently censored by educational, governmental, corporate, parental and other filtering schemes.
  • - Some articles may contain names, images, artworks or descriptions of events that some cultures restrict access to
  • - Please note: Wiki How does not give you opinion about the law, or advice about medical. If you need specific advice (for example, medical, legal, financial or risk management), please seek a professional who is licensed or knowledgeable in that area.
  • - Readers should not judge the importance of topics based on their coverage on Wiki How, nor think a topic is important just because it is the subject of a Wiki article.

โฆษณา