ดาวน์โหลดบทความดาวน์โหลดบทความ

คุณอาจกำลังฝันอยากเป็นนักเขียนระดับตำนาน หรืออาจเพียงแค่อยากถ่ายทอดความคิดและความรู้สึก ลงบนหน้ากระดาษให้ได้ดั่งใจ และไม่ว่าคุณจะฝึกไปเพื่อเป็นนักเขียนเชิงสร้างสรรค์ หรือแค่ต้องการเขียนรายงานส่งคุณครู คุณก็สามารถเขียนให้ออกมาดีได้ด้วยขั้นตอนการฝึกฝนบางอย่าง ซึ่งการจะเป็นนักเขียนที่เก่งกาจ หรือถึงขนาดเป็นตำนานได้นั้น คุณยังต้องหมั่นฝึกฝนและหาความรู้ใส่ตัวด้วย หากคุณตั้งใจและพยายามตามที่เราแนะนำ สักวันหนึ่ง คุณอาจจะเป็นนักเขียนต้นแบบของใครหลายๆ คนก็ได้

วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 4:

ปรับพื้นฐานกันก่อน

ดาวน์โหลดบทความ
  1. How.com.vn ไท: Step 1 ใช้ประโยคสื่อการกระทำ แทนการถูกกระทำ.
    ลักษณะการเขียนที่ไม่เหมาะสมอย่างหนึ่งก็คือ การใช้รูปประโยคแบบถูกกระทำเยอะเกินไป ทั้งนี้ ไม่ว่าจะในภาษาไทยหรืออังกฤษ โครงสร้างประโยคพื้นฐานจะเรียงโดยมีประธาน-กริยา-กรรม ตามลำดับ ซึ่งหากเปลี่ยนเป็นรูปแบบถูกกระทำแล้ว อาจทำให้คนอ่านงง และยังต้องเขียนคำกริยาช่วยเพิ่มขึ้นมากโดยไม่จำเป็นด้วย เช่น หากประโยคปกติกล่าวว่า “ผีดิบขย้ำผู้ชายคนนั้น” เมื่อเปลี่ยนเป็นประโยคถูกกระทำ จะกลายเป็น “ผู้ชายคนนั้น ถูก ผีดิบขย้ำ”[1]
    • ประโยคแบบถูกกระทำย่อมใช้ได้ในบางกรณี เช่น เมื่อคุณต้องการสื่อความหมายที่ให้ความรู้สึกนุ่มนวลลงเล็กน้อย แต่โดยรวมแล้ว ขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำก่อนหน้านี้เป็นหลัก
    • ข้อยกเว้นเมื่อสักครู่ พบได้บ่อยในการเขียนบทความทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งใช้ประโยคถูกกระทำเพื่อเน้นไปที่ผลการทดลอง มากกว่าที่ตัวนักวิจัย (ปัจจุบัน รูปแบบการเขียนเช่นนี้กำลังเปลี่ยนไป ดังนั้น ลองหาข้อมูลดูอีกครั้งก่อนเขียน) เช่น “หนูตัวหนึ่งในห้องทดลอง ถูก นำมาแยกออกจากกลุ่มหนูตัวอื่นๆ เพื่อวิจัยเรื่องภาวะอารมณ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และ ได้รับ การสรุปว่า….” จะเห็นได้ว่า ประโยคนี้พยายามไม่เน้นว่าใครเป็นผู้ทำการทดลอง แต่เน้นไปที่ผลลัพธ์กับสิ่งถูกทดลองแทน[2]
  2. How.com.vn ไท: Step 2 ใช้คำแบบเข้าถึงอารมณ์.
    การเขียนที่ดีไม่ว่าจะงานเขียนประเภทใด หากคุณใช้คำขยายหรือคุณศัพท์ได้ถึงใจ และตรงประเด็น จะทำให้แม้แต่ข้อความธรรมดาๆ กลายเป็นข้อความหรือประโยคได้รับการจดจำ และมีผู้อ่านนำมาอ้างถึงหรือบอกต่อกันไปอีก ตราบนานเท่านาน ดังนั้น พยายามหาคำที่เข้าถึงอารมณ์และตรงจุด อย่าใช้คำซ้ำแล้วซ้ำอีก ยกเว้นในกรณีต้องการใช้คำพ้องเสียง
    • เทคนิคการเขียนข้อนี้ ก็มีข้อยกเว้นเช่นกัน นั่นคือ เวลาเขียนบทพูดต่างๆ ซึ่งคุณอาจใช้แค่คำว่า “เขากล่าว/เธอกล่าว” แบบเดียวซ้ำกันบ่อยๆได้ แทนที่จะใช้คำพร่ำเพรื่อไปหมด เช่น “เขาเปรย” “เธอพูด” “เธอตอบ” ฯลฯ แน่นอนว่าการใช้กริยาซ้ำๆ อาจทำให้งานเขียนดูไม่มีชั้นเชิง แต่กระนั้น ก็ยังดีกว่าใช้คำพร่ำเพรื่อแบบที่ยกตัวอย่างมา เพราะจะทำให้ผู้อ่านรู้สึกสะดุดกับการโต้ตอบของตัวละคร จนทำให้นิยายเสียอรรถรสไปมาก[3]
    • คำที่ถึงอารมณ์ ไม่ได้หมายถึงคำที่ประดิษฐ์ประดอยเกินเหตุ คุณไม่จำเป็นต้องใช้คำว่า “รับประทาน” หากมันสามารถใช้คำว่า “กิน” หรือ “ทาน” ได้ในบริบทนั้น แต่หากคุณอยากใช้คำว่า “บรรทม” แทนคำว่า “นอน” ก็ใช้ได้เลย ขอเพียงคุณกำลังเขียนในบริบทที่เหมาะสมอย่างนิยายจักรๆวงศ์ๆ เป็นต้น
    • คุณอาจเปิดพจนานุกรมคำพ้องความหมาย หรือที่เรียกว่า “คำไวพจน์” เพื่อช่วยให้มีทางเลือกในการเขียนมากขึ้นได้ แต่อย่าลืมตรวจเช็คความหมายของศัพท์ทางเลือกเหล่านั้น ประกอบกับบริบทในการใช้ดูอีกทีก่อน มิฉะนั้น มันจะฟังดูทะแม่งๆ เช่น หากคุณจะเขียนว่า “เธอคนนั้นกำลังคิดฟุ้งซ่าน” แต่หากใช้คำไวพจน์โดยไม่ดูตาม้าตาเรือ โดยเขียนว่า “เธอคนนั้นกำลังคิดขจรขจาย” ผู้อ่านอาจหงายหลังตกเก้าอี้เลยทีเดียว
  3. How.com.vn ไท: Step 3 อย่าเวิ่นเว้อ.
    งานเขียนที่ดีมักเรียบง่าย ชัดเจน ตรงไปตรงมา คุณอาจจะได้ค่าจ้างเพิ่ม หากเขียนบทความหรือหนังสือในต่างประเทศ ที่มีการจ่ายเงินตามจำนวนตัวอักษร แต่หากคุณเน้นที่คุณภาพ คุณไม่ควรพยายามยืดจำนวนคำออกไปเป็น 50 คำ ทั้งๆ ที่สามารถใช้แค่ 20 คำในการสื่อได้ และไม่ควรพยายามหาคำยาวๆ มาใช้แทนคำสั้นๆ เหมือนที่คนเขียนบทความต่างประเทศบางคนทำ จำเอาไว้ว่า แม้แต่บทความทางวิชาการ ผู้อ่านยังต้องการให้สั้นและกระชับไว้ก่อน ดังนั้น ลองเช็คงานเขียนของคุณดูว่า คำหรือประโยคไหนจงใจเติมให้ยาว จงตัดออกเสีย[4]
    • คำกริยาวิเศษ มักเป็นจุดบอดของงานเขียนทั่วๆ ไป คือ มักใช้กันอย่างเกินจำเป็น ทั้งนี้ คำกริยาทั่วไปในประโยคส่วนใหญ่ มักได้รับการขยายในตัวมันเองอยู่แล้ว (ในบางบริบท อาจมีคำคุณศัพท์ช่วยขยายร่วมอีกแรงด้วย) เช่น คุณอาจไม่จำเป็นต้องเขียนว่า “กรีดร้องอย่างหวาดกลัว” เพราะแค่ “กรีดร้อง” ก็แสดงถึงอาการหวาดกลัวอยู่แล้ว หากคุณพบว่างานเขียนของคุณมีคำว่า “อย่าง” มากเกินไป คุณคงต้องพักหายใจและตั้งสมาธิให้ดีก่อนจะเขียนต่อ[5]
    • การตัดคำที่เวิ่นเว้อ หรือเป็นส่วนเกินออกไป ควรทำรวบยอดครั้งเดียว ในช่วงของการแก้ไขขัดเกลาต้นฉบับ ซึ่งจะทำให้คุณประหยัดเวลาได้มาก ดีกว่ามานั่งเขียนไปตรวจไปทีละประโยค
    • คุณกำลังอยู่ร่วมโลกเดียวกันกับนักอ่านทั้งหลาย ดังนั้น ในบางกรณี คุณอาจไม่จำเป็นต้องลงรายละเอียดจนครบทุกเม็ด แต่สามารถที่จะละไว้ในฐานที่เข้าใจ โดยใช้เครื่องหมายจุด 3 จุด (…) แทนได้ เพื่อเปิดโอกาสให้นักอ่านได้ใช้จินตนาการเข้ามามีส่วนร่วมในงานเขียนของคุณ
  4. How.com.vn ไท: Step 4 จงบอกเป็นนัย ไม่ใช่เอาแต่บรรยาย.
    ในบางบริบท คุณสามารถเขียนบอกเป็นนัย แทนการเขียนบรรยายให้คนอ่านรู้สึกเซ็ง เช่น แทนที่จะบอกว่าตัวละครตัวนี้ มีที่มาอย่างไร มีความเกี่ยวพันกับตัวละครอื่นแบบไหน หรือมีนิสัยเป็นอย่างไร คุณสามารถค่อยๆ เผยไต๋ทีละนิด ด้วยการปล่อยให้ตัวละครดังกล่าวดำเนินไปตามเนื้อเรื่อง โดยมีนัยยะให้ผู้อ่านส่วนใหญ่ปะติดปะต่อเรื่องราวและที่มาได้เอง เทคนิคดังกล่าวนี้ถือเป็นหนึ่งในเคล็ดวิชาขั้นสุดยอด ที่นักเขียนทุกคนควรนำไปฝึกใช้ให้ชำนาญ[6]
    • ตัวอย่างเช่น แทนที่จะบรรยายว่า “เขารู้สึกโกรธทันทีที่ได้อ่านจดหมาย” ซึ่งฟังดูน่าเบื่อและไม่ค่อยคล้อยตามนัก คุณอาจ “บอกเป็นนัย” ให้เห็นภาพแทนว่า “เขาขย้ำจดหมายและเขวี้ยงมันทิ้งไปในเตาผิง ก่อนที่หล่อนจะผละเข้ามา” ซึ่งเป็นการเขียนที่มีชั้นเชิง และทำให้ผู้อ่านเห็นภาพจนคล้อยตามไปด้วย
  5. How.com.vn ไท: Step 5 อย่าใช้สำนวนล้าสมัย.
    สำนวนล้าสมัย อาจเป็นได้ทั้งวลี ข้อความ สุภาษิต คำพังเพย รวมถึงสภาพการณ์บางอย่าง ซึ่งมักถูกนำมาใช้กันจนเกร่อ มนขลังต์ของมันจึงค่อยๆ น้อยลง[7] ซึ่งทำให้ผู้อ่านประเมินคุณค่างานเขียนชิ้นนั้นต่ำลง (รวมถึงอาจรู้สึกดูแคลนผู้เขียนด้วย) ดังนั้น คุณควรหัดคิดสร้างสรรค์ และพยายามตัดสำนวนล้าสมัยออกไป[8]
    • "มันเป็นค่ำคืนอันมืดมิดและมีพายุรุนแรง" คือ ตัวอย่างอันคลาสสิกของสำนวนล้าสมัย ซึ่งแม้แต่ปัจจุบันนี้ ก็ยังมีบางคนนำไปใช้บรรยายเกริ่นนำเข้าเรื่อง เพื่อพยายามสื่อถึงความตื่นเต้นลี้ลับของท้องเรื่อง แต่หากเป็นนักเขียนระดับตำนานบางคน พวกเขาจะสามารถใช้สำนวนในแบบของตัวเองได้อย่างหลักแหลม เช่น:[9]
      • “มันเป็นวันอันเจิดจ้าและหนาวเหน็บในเดือนเมษายน และเข็มนาฬิกากำลังชี้เลขสิบสาม”—จากนวนิยายเรื่อง 1984 โดย จอร์จ ออร์เวลล์ ซึ่งเมื่ออ่านแล้ว คุณอาจรู้สึกได้ถึงความไม่ชอบมาพากลของปี 1984 โดยไม่จำเป็นต้องเอ่ยถึงค่ำคืนหรือพายุเลย
      • “ท้องฟ้าเหนือท่าน้ำมีสีสันดั่งที่เรามักเห็นในจอโทรทัศน์สี หากแต่เป็นช่องไร้สัญญาณ” จากนวนิยายเรื่อง Neuromancer โดย วิลเลียม กิ้บสัน ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของคำว่า "โลก" จะเห็นได้ว่า เขาสามารถบรรยายเปิดเรื่องโดยสื่อให้เห็นถึงสภาวะอากาศ และยังถึงขั้นที่เราสามารถรู้สึกถึงสังคมอันเสื่อมทราม ตามท้องเรื่องในหนังสือได้ตั้งแต่เริ่มต้นเลยทีเดียว
    • แม้แต่การเขียนแนะนำตัว ยังควรหลีกเลี่ยงการใช้สำนวนล้าสมัย เช่น แทนที่จะบอกว่า “ผม/ดิฉันเข้ากับคนง่าย” ซึ่งใครๆ ก็เขียนกันแบบนี้ทั้งนั้น คุณอาจเปลี่ยนเป็น “ผม/ดิฉันชอบทำความรู้จักกับผู้คน และสามารถพูดคุยได้ทุกเรื่อง เนื่องจากผม/ดิฉันมีความสนใจเป็นพิเศษและอยากรู้ว่า คนอื่นๆ ในสังคมมีมุมมองและทัศนคติต่อสิ่งต่างๆ อย่างไร” เห็นไหมล่ะว่า ประโยคหลังเป็นการแสดงให้เห็นถึงความอัธยาศัยดี ได้ชัดเจนกว่ากันเยอะ
  6. How.com.vn ไท: Step 6 อย่ามักง่าย.
    เช่น หากคุณเขียนจดหมายแนะนำตัวเพื่อสอบชิงทุน หรือสมัครเรียนต่อในต่างประเทศว่า “ต้องการไปเรียนกฎหมายเพื่อนำความรู้กลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและส่วนรวม” นอกจากจะแสดงถึงความมักง่ายในการเขียนแล้ว มันยังฟังดูไม่มีหัวคิดด้วย ซึ่งหากคุณเปลี่ยนมาเขียนว่า “ต้องการเรียนต่อด้านกฎหมาย เพราะกระผม/ดิฉันมีแรงผลักดันในการประกอบอาชีพในแวดวงดังกล่าว ซึ่งในปัจจุบันนี้ กระบวนการด้านกฎหมายในประเทศไทย ยังมีช่องโหว่และจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพทัดเทียมกับนานาประเทศ หากเป็นไปได้ กระผม/ดิฉันอยากกลับมามีส่วนร่วมในกระบวนการร่างกฎหมายต่างๆ เพื่อประกอบสัมมาอาชีพ และยังถือเป็นโอกาสในการรับใช้และตอบแทนประเทศชาติด้วย” จากตัวอย่างที่ยกมา หากคุณเป็นคณะกรรมการพิจารณาทุนการศึกษา คุณจะให้คะแนนกับการเขียนแบบไหนมากกว่ากันล่ะ[10]
    • ในการเขียนเชิงสร้างสรรค์ก็เช่นกัน อย่าเหมาเอาเองก่อนที่จะค้นหาข้อมูลเสียก่อน เช่น หากคุณจะเขียนบรรยายลักษณะของตัวละครหญิงสักตัว อย่าเหมาเอาว่าเธอจะต้องมีอารมณ์อ่อนไหว หรืออ่อนโยนกว่าผู้ชาย เพราะหากคุณคิดง่ายๆ แค่นั้น มันจะทำให้คุณสมองตัน และไม่เหลือช่องว่างไว้ให้ใส่ลูกเล่น หรือใช้จินตนาการสร้างสรรค์ใดๆ เพื่อให้สอดคล้องกับชีวิตจริง
  7. How.com.vn ไท: Step 7 หาเหตุผลมาสนับสนุน.
    อย่าสันนิษฐานพร่ำเพรื่อโดยไม่มีหลักฐานหรือข้อมูลอ้างอิง แม้ว่ามันมีความเป็นไปได้ก็ตาม โดยในแง่ของการเขียนเชิงสร้างสรรค์นั้น มันอาจเปรียบได้กับการให้ข้อมูลที่มีนัยยะ เกี่ยวกับสิ่งที่คุณกำลังเขียนถึงด้วย เช่น หากคุณจะบอกว่า “หากความแตกต่างทางชนชั้นยังเป็นเช่นนี้ต่อไป ประชาชนส่วนใหญ่จะลุกฮือ” คำถามคือ คุณรู้ได้อย่างไรว่าจะเป็นเช่นนั้น มีการทำแบบสอบถามแล้วหรือยัง หรืออย่างน้อยที่สุด คุณมีหลักฐานหรือทฤษฎีอะไรมาสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว ซึ่งหากคุณสามารถเขียนกำกับไปด้วยได้ ผู้อ่านก็จะยอมคล้อยตามและอยากติดตามงานเขียนของคุณ
  8. How.com.vn ไท: Step 8 ใช้คำเปรียบเปรยอย่างระมัดระวัง.
    ถึงแม้ว่าการอุปมาอุปไมย การใช้คำโวหาร และคำอุปลักษณ์ใดๆ เพื่อการเปรียบเทียบและเปรียบเปรย จะช่วยให้งานเขียนของคุณดูมีชีวิตชีวาขึ้น แต่หากคุณใช้อย่างไร้ทักษะ งานเขียนของคุณจะดูเหมือนเด็กทารกไปเลย (นั่นคือตัวอย่างของการเปรียบเทียบแบบไร้ทักษะ) และการใช้บ่อยเกินไป ยังเป็นการบ่งชี้ถึงการขาดความมั่นใจในสิ่งที่คุณพยายามจะสื่อ และยังอาจฟังดูล้าสมัยด้วย
    • บางครั้งคุณอาจเผลอเอาคำอุปมาไปใช้แบบผิดๆ โดยไม่ตั้งใจ อันจะส่งผลให้มันไร้ความหมายไปได้ เช่น “ขาวราวกับวอกเป็นไข่ปอก” ซึ่งเป็นการเข้าใจผิดโดยนำ “ขาวเป็นวอก” กับ “ขาวราวไข่ปอก” มาปนกัน ดังนั้น หากไม่แน่ใจในคำอุปมาอุปไมยใด พยายามอย่าสุ่มมั่วหรือขี้เกียจ ต้องตรวจเช็คงานเขียนของตัวเองกับแหล่งอ้างอิงให้ดีก่อน เพราะสมัยนี้มีความสะดวกสบายกว่าสมัยก่อนมากมาย เพียงแค่ใช้อินเตอร์เน็ทหรือกูเกิ้ล
  9. How.com.vn ไท: Step 9 ประยุกต์และพลิกแพลง.
    บรรดานักเขียนที่เก่งกาจ อาจไม่ได้ว่าตามกฎไปเสียทุกเรื่อง พวกเขาสามารถแหกกฎได้ในบางคราว ทั้งเรื่องไวยากรณ์และหลักการเขียนที่กล่าวมา อาจใช้เป็นมาตรฐานอ้างอิงในการเขียนส่วนใหญ่ แต่หากคุณเริ่มเข้าใจและเข้าถึงการเขียนแล้ว คุณก็ย่อมพลิกแพลงได้เหมือนกัน ขอเพียงทำเช่นนั้นโดยมีวัตถุประสงค์ที่ดี
    • โดยทั่วไปแล้ว ยึดหลักทางสายกลางเอาไว้เป็นดี เช่น หากคุณเปิดเรื่องด้วยการถามนำแบบอุปมา มันก็จะดูเป็นมืออาชีพสักหน่อย แต่หากคุณถามซ้ำซากมากกว่า 5-6 ครั้ง จะกลายเป็นให้ผลตรงกันข้ามไปเสีย ดังนั้น อย่าแหกกฎพร่ำเพรื่อ
  10. How.com.vn ไท: Step 10 แก้ แก้ แก้.
    การปรับแก้งานถือเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการเขียนทุกประเภท พยายามเว้นช่วงสักหนึ่งวันหลังจากเขียนเสร็จ จากนั้นนำมันมาอ่านทวน เพื่อแก้ไขปรับปรุงทั้งจุดเล็กจุดน้อย หรืออาจจะลบไปทั้งหน้าเลยก็ได้ หากจำเป็น จากนั้นก็เริ่มกระบวนการดังกล่าวอีกสักรอบสองรอบ เป็นอันใช้ได้
    • บางคนเอาการ “ปรับแก้” ไปปนกับการ “พิสูจน์อักษร” ถึงแม้จะมีความสำคัญด้วยกันทั้งสองขั้นตอน แต่การปรับแก้จะเน้นไปที่การขัดเกลาเนื้อหาและเทคนิคการนำเสนอ ซึ่งหากคุณรู้สึกว่าการนำเสนอแบบไหนสื่อได้ดีกว่า ก็ขอให้ใช้แบบนั้น ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับแบบแผนใดๆ ในขณะที่การพิสูจน์อักษรจะเน้นแค่เรื่องของไวยากรณ์ การสะกดคำ เครื่องหมายวรรคตอน และการจัดวางหน้ากระดาษ
    โฆษณา
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 4:

อ่านเพื่อเขียน

ดาวน์โหลดบทความ
  1. How.com.vn ไท: Step 1 เลือกหนังสือมาหลายๆ เล่ม.
    ไม่ว่าคุณจะเขียนแนวใด การพยายามสร้างความคุ้นเคยกับงานเขียนของนักเขียนที่มีชื่อเสียง ในด้านทักษะและคุณภาพของหนังสือแนวนั้นๆ จะช่วยให้คุณพัฒนาทักษะขึ้นได้ แถมยังมีวัตถุดิบหรือแหล่งข้อมูลด้านเทคนิคการเขียนต่างๆ เอาไว้ไปประยุกต์ใช้ได้ตลอดเวลา[11][12]
    • พยายามค้นหาวิธีเรียบเรียงงานเขียน หรือเทคนิคการบรรยายเข้าเรื่องให้หลากหลาย
    • พยายามเปรียบเทียบผลงานของนักเขียนแต่ละคนด้วยว่า มีจุดเหมือนหรือต่างกันอย่างไร โดยเป็นงานเขียนในแนวเดียวกันหรือใกล้เคียง เช่น งานของนักเขียนอย่าง วินทร์ เลียววาริณ และปราบดา หยุ่น ซึ่งต่างก็ได้รับรางวัลซีไรท์ด้วยกันทั้งคู่
    • จำไว้ว่า ไม่ว่าคุณจะเขียนเชิงวิชาการหรือเขียนวรรณคดี การอ่านงานเขียนที่มีคุณภาพ จะทำให้คุณพัฒนาขึ้นมาก โดยมีเทคนิคมากมาย ที่สามารถนำมาประยุกต์ให้เป็นสไตล์ของตัวเองได้
  2. How.com.vn ไท: Step 2 ค้นหาวิธีท้าวความแบบร่วมสมัย.
    หากคุณสังเกต จะเห็นได้ว่างานศิลปะ งานเขียน และสื่อต่างๆ มักมีการอ้างอิงและเท้าความถึงวรรณกรรมคลาสสิกต่างๆ อยู่ตลอดเวลา ซึ่งหากคุณลองหาเวลาอ่านดูบ้าง คุณก็จะสามารถนำมาปรับใช้ในงานเขียนของคุณได้เช่นกัน
  3. How.com.vn ไท: Step 3 พยายามค้นหาว่า ทำไม งานเขียนระดับคลาสสิกต่างๆ...
    พยายามค้นหาว่า ทำไม งานเขียนระดับคลาสสิกต่างๆ จึงกลายเป็นตำนาน. บางครั้งคุณอาจอ่านนิยายระดับตำนาน แต่ไม่ค่อยเข้าใจว่า ทำไมมันถึงเป็นที่กล่าวขวัญนัก อย่างเช่นเรื่อง ทุ่งฝัน (The Catcher in the Rye) ซึ่งในกรณีนี้ คุณควรไปหางานเขียนเล่มอื่นๆ ในระดับเดียวกันมาวิเคราะห์ในแง่ของคุณภาพการเขียนดู เผื่อคุณจะได้เห็นนัยยะที่ซ่อนไว้ในงานเขียนเหล่านั้น และยังได้เข้าใจลักษณะของความคลาสสิก เพื่อเป็นการเรียนรู้อีกด้วย
    • งานวรรณคดีและงานเขียนเชิงวิชาการก็เช่นกัน คุณควรพยายามหางานระดับคุณภาพยอดเยี่ยม มาเปรียบเทียบหาจุดเหมือนและจุดต่างเพื่อเรียนรู้ด้วยตนเอง
  4. How.com.vn ไท: Step 4 ดูละครเวที.
    บทนิยายมักถูกนำมาถ่ายทอดผ่านละครเวที ซึ่งหากคุณไม่ค่อยเข้าใจงานวรรณกรรมต่างๆ ลองหาชมเวอร์ชั่นแบบละครเวทีดู หากไม่มีจริงๆ ก็ลองอ่านออกเสียงงานเขียนนั้นๆ เพื่อให้เข้าถึงตัวละครและการใช้ภาษา
    • ละครเวทีสามารถสื่ออารมณ์ได้ดีและมีชีวิตชีวามากกว่าภาพยนตร์ โดยมีเพียงผู้กำกับและนักแสดงเท่านั้น ที่เป็นสื่อกลางระหว่างโสตประสาทของคุณ กับปลายปากกาของผู้เขียน
  5. How.com.vn ไท: Step 5 หมั่นอ่านนิตยสาร หนังสือพิมพ์ และสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ....
    หมั่นอ่านนิตยสาร หนังสือพิมพ์ และสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ. เพราะมันเต็มไปด้วยเรื่องราวและแนวคิดมากมาย ทั้งสถานที่ ผู้คน และเหตุการณ์ต่างๆ ที่จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้งานเขียนของคุณได้
  6. How.com.vn ไท: Step 6 ก้าวข้ามไอดอลของตัวเอง.
    บ่อยครั้งที่เมื่อคุณอ่านงานเขียนอันยอดเยี่ยมจบลง คุณมักจะมีไฟลุกโชนและเริ่มลงมือเขียนงานของตัวเองบ้าง จากนั้น คุณอาจพบว่าทั้งเนื้อหา สไตล์ และกลิ่นอายของงานเขียนที่ออกมา มีความคล้ายคลึงหรือเหมือนคัดลอกมาทั้งดุ้น จนคุณรู้สึกว่าไม่ใช่งานของตัวเอง ซึ่งกรณีดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องปกติ คุณอาจต้องทิ้งช่วงสักพัก และระหว่างนี้ก็อาจจะเอางานเก่าๆ ของตัวเองมาวิเคราะห์ทบทวน หรือฝึกเทคนิคการเขียนแบบฟรีสไตล์ รวมถึงอาจฝึกทำสมาธิไปพลางๆ ก่อน ผ่านไปสักพักคุณก็จะสามารถค้นพบแนวทางของตัวเองได้อย่างแน่นอน
    โฆษณา
วิธีการ 3
วิธีการ 3 ของ 4:

ฝึกฝนทักษะ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. How.com.vn ไท: Step 1 หาซื้อคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค.
    ขอให้เลือกแบบกะทัดรัด ซึ่งคุณจะสามารถพกพาไปทุกที่ได้สะดวก เพราะไอเดียดีๆ สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา จะได้ไม่ต้องมานั่งนึกเอ่อๆ อ่าๆ หรือเสียดายที่ไม่รีบบันทึกไว้ตั้งแต่ตอนนั้น
  2. How.com.vn ไท: Step 2 เขียนบันทึกทุกความคิดที่เกิดขึ้นในหัว.
    ไม่ว่าจะเป็นชื่อเรื่อง คำโปรย หัวข้อ ตัวละคร สถานการณ์ คำศัพท์ คำอุปมา ฯลฯ องค์ประกอบอะไรก็แล้วแต่ที่เกี่ยวข้องกับการเขียนทั้งหมด จดเอาไว้เป็นเชื้อไฟให้จินตนาการของคุณ
    • หากคุณหมดแรงบันดาลใจ ก็แค่ใช้เวลาในการสังเกตและบันทึกสิ่งต่างๆ รอบตัว บรรยายตั้งแต่ท่าทางของสุนัขริมถนน กริยาอาการและสีหน้าของผู้คนในร้านกาแฟ ลักษณะของแสงแดดยามบ่ายที่พาดผ่านหน้าต่างเข้ามา ฯลฯ พยายามใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ จะช่วยให้คุณเอามาพัฒนางานเขียนให้ดียิ่งขึ้นได้ ไม่ว่าจะเขียนบทกวีหรือแม้กระทั่งบทความหนังสือพิมพ์.
  3. How.com.vn ไท: Step 3 เติมเต็มข้อมูลและมองหาต่อไป.
    เมื่อคุณบันทึกงานเขียนหรือข้อมูลรายละเอียดต่างๆ เสร็จแล้ว คุณอาจแปะโน้ตหรือทำเครื่องหมายกำกับเอาไว้ เผื่อจะกลับมาใช้ข้อมูลวัตถุดิบเหล่านั้นในภายหลัง
  4. How.com.vn ไท: Step 4 ลองเข้าอบรมทักษะการเขียน.
    หนึ่งในวิธีที่จะพัฒนางานเขียนของคุณแบบก้าวกระโดด ก็คือการสมัครเข้าอบรมทักษะการเขียน โดยอาจหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ท หรือจากการโฆษณาตามร้านหนังสือ และห้องสมุดต่างๆ ซึ่งการไปเข้าอบรม นอกจากคุณจะได้เรียนรู้อย่างเป็นระบบแล้ว ยังอาจได้รู้จักเพื่อนนักเขียนหน้าใหม่อีกหลายคน ไว้แลกเปลี่ยนเทคนิคและประสบการณ์กันได้ด้วย
    • นอกจากงานเขียนเชิงสร้างสรรค์แล้ว งานเขียนในเชิงวิชาการก็สามารถพัฒนาขึ้นได้ด้วยการนำไปให้เพื่อนฝูง รวมถึงคนรอบข้างได้ทดลองอ่านและวิจารณ์ดู
  5. How.com.vn ไท: Step 5 เขียนมันทุกวัน.
    พยายามพกกระดาษและปากกาเอาไว้ติดตัวเสมอด้วย เอาไว้ฝึกการเขียนแบบฟรีสไตล์ จะเขียนอะไรไม่สำคัญเท่ากับการได้เขียน ซึ่งจะส่งผลให้คุณเกิดความชำนาญมากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนอย่างกล้ามเนื้อที่แข็งแกร่งขึ้น หากได้รับการบริหารอย่างถูกวิธีโดยต่อเนื่อง [13]
    โฆษณา
วิธีการ 4
วิธีการ 4 ของ 4:

ออกแบบเนื้อเรื่อง

ดาวน์โหลดบทความ
  1. How.com.vn ไท: Step 1 เลือกหัวข้อและกำหนดจุดหักมุมคร่าวๆ.
    เริ่มแรกยังไม่จำเป็นต้องคิดมาก ขอแค่ให้เห็นภาพรวมก็พอ ลองดูจากพล็อตหนังหรือละครทั่วไปเป็นตัวอย่าง ที่มักมีรูปแบบง่ายๆ ประมาณว่า พระเอกพบกับนางเอก > พระเอกทะเลาะกับนางเอก > นางเอกกับพระเอกตกหลุมรักกัน > นางเอกเข้าใจพระเอกผิด> นางเอกกลับมารักกับพระเอกในที่สุด และจากนั้นก็ค่อยใส่รายละเอียดอื่นๆ เข้าไปในแต่ละฉากทีหลัง
  2. How.com.vn ไท: Step 2 เขียนหัวเรื่อง.
    ระหว่างที่ทำตามขั้นตอนเมื่อสักครู่ คุณอาจรู้สึกคันไม้คันมือ หรืออยากเขียนรายละเอียดลงไปเสียทีเดียวเลย แต่อย่าทำอย่างนั้นเด็ดขาด พยายามเขียนหัวเรื่องออกมาให้เสร็จสมบูรณ์เสียก่อน จากนั้น ค่อยมาถึงขั้นตอนเจาะรายละเอียดในส่วนอื่นๆ เช่น ตัวละคร ฉาก และช่วงเวลาต่างๆ จะช่วยประหยัดเวลาในการเขียนได้เยอะทีเดียว
    • หากคุณมีหัวเรื่องที่เต็มไปด้วยรายละเอียดเยอะแยะไปหมด ก็สามารถแตกออกเป็นหัวเรื่องย่อยได้เช่นกัน
  3. How.com.vn ไท: Step 3 เว้นช่องว่างไว้เล็กน้อยในแต่ละหัวเรื่อง.
    เอาไว้ใส่ชื่อและที่มาคร่าวๆ ของตัวละคร โดยใส่เรื่องราวประวัติของตัวละครให้เหมือนกับว่ามีตัวตนอยู่จริง แม้ว่าคุณอาจไม่จำเป็นต้องบอกเล่ารายละเอียดในส่วนนั้นลงในบท เพียงแค่จะใช้มันในการต่อยอดไอเดีย เวลาที่ต้องการรู้ว่าตัวละครตัวนั้นๆ จะทำอย่างไรในแต่ละฉากหรือสถานการณ์
  4. How.com.vn ไท: Step 4 เขียนข้ามบท จดข้ามฉากได้เสมอ.
    หากคุณเกิดปิ๊งไอเดียอะไรขึ้นมาเกี่ยวกับฉากจบ ก็อย่ามัวเสียเวลาสู้รบกับบทที่หนึ่งอยู่ พยายามรีบข้ามไปจดรายละเอียดของฉากจบนั้นไว้ก่อน อย่าปล่อยให้เสียของ
  5. How.com.vn ไท: Step 5 เขียนบทร่าง.
    ตอนนี้บทร่างของคุณเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาแล้ว ด้วยการใช้ประโยชน์จากหัวเรื่อง ตัวละคร และฉากท้องเรื่อง จากขั้นตอนที่ผ่านๆ มา
    • อย่าหยุดเดินต่อ เริ่มหาประเด็นอะไรก็ได้ เพื่อเขียนเป็นบทร่างลงไปคร่าวๆ ก่อน ยังไม่ต้องบรรจงคัดสรรมากนัก
  6. How.com.vn ไท: Step 6 ไหลไปตามเนื้อเรื่อง.
    เรื่องราวต่างๆ มักมีชีวิตชีวาในตัวมันเอง และมันอาจพาคุณไปในมุมที่คุณเองก็คาดไม่ถึง แน่นอนว่าคุณคือผู้กำกับ แต่หากไม่รู้จักไหลตามน้ำ คุณอาจจะติดกับดักตัวเองก็ได้
    • ไม่นานคุณจะพบว่า แค่เพียงคุณใส่บุคลิกนิสัย รวมถึงเป้าหมายและเหตุผลให้ตัวละคร ก็เพียงพอแล้วที่ตัวละครเหล่านั้นจะโลดแล่นไปตามทางของมันเอง
  7. How.com.vn ไท: Step 7 จบบทร่างที่หนึ่ง.
    อย่ามัวเสียเวลาขัดเกลา แค่ปล่อยให้ตัวละครเขาและเธอดำเนินไปอย่างเรียบง่ายก่อน หากคุณเพิ่งจะเกิดไอเดียหักมุมขึ้นมาตอนช่วงท้ายเรื่องว่า นางเอกที่ดูเหมือนยากจน แท้จริงเป็นลูกในไส้ของมหาเศรษฐี ก็อย่าเพิ่งรีบร้อนย้อนกลับไปแก้บทก่อนหน้า พยายามจบบทร่างให้สมบูรณ์ไปก่อน
  8. How.com.vn ไท: Step 8 เริ่มขัดเกลาบทร่างใหม่.
    จำได้ไหมว่า ที่ผ่านมาเป็นแค่บทร่างที่หนึ่ง คราวนี้ก็กลับมาเริ่มต้นใหม่แต่แรก โดยที่ครั้งนี้ คุณสามารถเขียนบทต่างๆ ด้วยข้อมูลและภาพเหตุการณ์ที่แจ่มชัดมากขึ้นกว่าเดิม เช่น ทำไมมหาเศรษฐีคนนั้นถึงรับนางเอกเข้าทำงาน หรือทำไมนางเอกกับนางร้ายจึงมีหน้าตาท่าทางคล้ายคลึงกันในบางแง่มุม
  9. How.com.vn ไท: Step 9 เขียนไปเรื่อยๆ จนจบ.
    เมื่อมาถึงตอนจบของบทร่างที่สอง ตอนนี้คุณก็มีรายละเอียดต่างๆ ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว ทั้งพล็อตเรื่อง ตัวละครต่างๆ และพล็อตย่อย
  10. How.com.vn ไท: Step 10 อ่านและแชร์บทร่าง.
    เมื่อพร้อมแล้วจะรออะไรอยู่ นำบทร่างที่สองนี้ ไปอ่านให้เพื่อนหรือคนรอบข้างฟังสักสองสามคน พยายามอย่าอ่านอย่างตื่นเต้น หรือชื่นชมผลงานตัวเองจนออกหน้าออกตา
  11. How.com.vn ไท: Step 11 เขียนบทร่างสุดท้าย.
    หลังจากได้คำวิจารณ์จากต้นสังกัด รวมถึงคนรอบข้างของคุณมาแล้ว คราวนี้ขอให้ขัดเกลามันอีกเป็นครั้งสุดท้าย เขียนฉากจบให้กระชับ หาทางออกให้ตัวละคร กำจัดตัวประกอบที่ไม่จำเป็นออกไป ฯลฯ
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • อย่ามัวจมปลักอยู่กับบทร่างที่หนึ่ง มันย่อมออกมาหละหลวมเป็นธรรมดา แต่คุณยังมีเวลาแก้ไขให้หนำใจ อีกตั้งอย่างน้อย 2 ครั้ง
  • ปล่อยเนื้อเรื่องให้เดินไปอย่างเป็นธรรมชาติ อย่าเคร่งเครียดเกินไป เพราะจะทำให้คุณใส่อารมณ์เหล่านั้นให้เนื้อเรื่องและตัวละครโดยไม่รู้ตัว พยายามนึกถึงเวลาตัวเองอ่านงานเขียนของคนอื่นๆ ดูสิ คุณก็ไม่ชอบอะไรเครียดๆ เหมือนกันใช่ไหมล่ะ
  • อย่าหยุดยั้งในการเริ่มเขียนจากไอเดียแรกที่ผุดขึ้นมา เขียนๆ ไปก่อน แม้ว่าคุณอาจไม่ค่อยชอบก็ตาม เดี๋ยวสุดท้ายมันก็จะลงตัวเอง
  • การเขียนควรจะเป็นกิจกรรมที่ทำด้วยความสนุก ไม่ใช่การลงโทษตัวเอง คุณอาจรู้สึกเหนื่อยหน่าย หรืออาจตื่นเต้นเร้าใจที่ได้เขียน แต่ขอจงพากเพียรต่อไปจนค่อยๆ รู้สึกลงตัว
โฆษณา

คำเตือน

  • ระมัดระวังเรื่องคำศัพท์ให้มากหน่อย การใช้คำที่ผิดบริบทหรือผิดวัตถุประสงค์ เป็นการบ่งชี้ถึงความมักง่ายและความสะเพร่าขั้นสุดยอด พยายามตรวจสอบความหมายของแต่ละคำ ทั้งความหมายหลักและความหมายโดยนัยยะ รวมถึงคำแสลงต่างๆ ต่อให้มั่นใจ 99% ว่ารู้ความหมาย หากไม่เกินร้อย ก็ต้องพยายามตรวจสอบอีกที ห้ามขี้เกียจ
  • อย่าคัดลอกผลงานใคร! การเอาความคิดและผลงานของผู้อื่นมาทำเหมือนว่าเป็นของตนเอง ถือเป็นการละเมิดสิทธิขั้นรุนแรงทั้งในเชิงวิชาการ วรรณกรรม และวารสารศาสตร์ ซึ่งหากถูกจับได้ คุณอาจถูกอัปเปหิ หรือไล่ออก รวมถึงถูกฟ้องร้องและขึ้นบัญชีดำไม่ให้ตีพิมพ์ผลงานใดๆ อย่าเสี่ยงเลย
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

How.com.vn ไท: Grant Faulkner, MA
ร่วมเขียน โดย:
ผู้อำนวยการ National Novel Writing Month
บทความนี้ ร่วมเขียน โดย Grant Faulkner, MA. แกรนท์ โฟล์คเนอร์เป็นผู้อำนวยการของ National Novel Writing Month (NaNoWriMo) และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งนิตยสารด้านวรรณกรรมชื่อ 100 Word Story แกรนท์ได้ตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับการเขียนสองเล่มและเคยมีผลงานตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ The New York Times กับ Writer’s Digest เขาร่วมจัดรายการ Write-minded พอดคาสต์รายสัปดาห์เกี่ยวกับการเขียนและการจัดตีพิมพ์ เขาจบปริญญาโทด้านการเขียนอย่างสร้างสรรค์จากมหาวิทยาลัยซานฟรานซิสโกสเตท บทความนี้ถูกเข้าชม 16,839 ครั้ง
หมวดหมู่: พัฒนางานเขียน
มีการเข้าถึงหน้านี้ 16,839 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

⚠️ Disclaimer:

Content from Wiki How ไท language website. Text is available under the Creative Commons Attribution-Share Alike License; additional terms may apply.
Wiki How does not encourage the violation of any laws, and cannot be responsible for any violations of such laws, should you link to this domain, or use, reproduce, or republish the information contained herein.

Notices:
  • - A few of these subjects are frequently censored by educational, governmental, corporate, parental and other filtering schemes.
  • - Some articles may contain names, images, artworks or descriptions of events that some cultures restrict access to
  • - Please note: Wiki How does not give you opinion about the law, or advice about medical. If you need specific advice (for example, medical, legal, financial or risk management), please seek a professional who is licensed or knowledgeable in that area.
  • - Readers should not judge the importance of topics based on their coverage on Wiki How, nor think a topic is important just because it is the subject of a Wiki article.

โฆษณา