วิธีการ เขียนเรื่องราวที่ดี

ดาวน์โหลดบทความดาวน์โหลดบทความ

มนุษย์มีความสามารถในการเล่าเรื่อง และเราทุกคนเองต่างก็เป็นนักเล่าเรื่อง แต่พอเป็นเรื่องของการเขียนเรื่องราวที่ดีแล้ว เราอาจจะรู้สึกไปไม่เป็นแม้ว่าเราจะมีจินตนาการล้ำเลิศและมีไอเดียดีๆ เป็นล้านๆ อย่างก็ตาม แต่คุณต้องคิดอะไรใหม่ๆ ไม่ใช่เขียนอะไรซ้ำๆ ซากๆ! ในการเขียนเรื่องราวให้ออกมาดีนั้น คุณต้องหาแรงบันดาลใจ ปรับปรุงเนื้อหา และแก้ไขงานเขียนของคุณจนกว่าคุณจะได้เรื่องราวที่ดีที่สุดเท่าที่คุณจะเขียนได้ ถ้าคุณอยากเขียนเรื่องสั้นที่ดี ลองมาทำตามขั้นตอนง่ายๆ ในบทความนี้กันเลย

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 4:

หาแรงบันดาลใจ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. How.com.vn ไท: Step 1 สังเกตโลกและสิ่งรอบตัว.
    ถ้าคุณอยากเขียนเรื่องสั้นหรือแม้แต่เรื่องยาวๆ ให้ออกมาดี คุณจะต้องเปิดหูเปิดตาตลอดเวลา รับฟังโลกและให้โลกสร้างแรงบันดาลใจให้กับคุณ! ไม่ช้าคุณจะเจอสิ่งที่คุณสามารถนำมาใช้เขียนเรื่องที่ดีที่สุดของคุณได้! และเนื่องจากว่าคุณเขียนเรื่องให้คนหลายคนอ่าน คุณจึงต้องถามความคิดของคนอื่นที่มีต่อโลกรอบตัวพวกเขาด้วย เพราะฉะนั้นคุณจะเขียนเรื่องจากความคิดเห็นของคุณอย่างเดียวไม่ได้ เมื่อเป็นเรื่องของการเขียนเรื่องแล้ว ไม่มีคำว่าใช้เวลา ความพยายาม หรือการบรรยายมากเกินไป ตัวอย่างวิธีรวบรวมรายละเอียดที่อาจทำให้คุณได้แรงบันดาลใจในการเขียนเรื่องก็เช่น
    • อ่านหนังสือ ประสบการณ์ช่วยคุณได้ การอ่านนั้นดีต่อสมอง เพราะมันช่วยสอนให้คุณรู้ว่าหนังสือที่เขียนดีเป็นอย่างไร แน่นอนว่าในโลกนี้มาหนังสือหลายล้านเล่ม แต่ลองไปที่ห้องสมุดสาธารณะและหาหนังสือที่เหมาะกับความสนใจของคุณ หนังสือและคนแต่ละคนก็แตกต่างกันไป ไม่แน่ว่าหนังสือที่คุณเลือกมาอาจจะทำให้คุณได้ประโยคเริ่มต้นดีๆ ได้แรงบันดาลใจ และได้ประเภทของงานเขียนที่คุณอยากจะเขียน คุณต้องอ่านหนังสือให้หลากหลายเพื่อเพิ่มพูนคลังศัพท์ รู้ตัวอีกทีคุณก็อาจจะได้ไอเดียสำหรับเขียนเรื่องเล่าสุดหฤหรรษ์ของคุณแล้ว
    • สังเกตลักษณะนิสัยที่น่าสนใจ คุณอาจจะเห็นว่าเพื่อนบ้านชอบคุยกับต้นไม้หรือชอบพาแมวไปเดินเล่นทุกเช้า ซึ่งก็ถือเป็นสิ่งที่อยู่ในโลกรอบตัวคุณเช่นกัน พี่สาวของคุณเป็นพวกเด๋อด๋าหรือเปล่า คุณอาจจะสร้างตัวละครเด๋อด๋าจากบุคลิกของเธอ ลองคิดถึงชีวิตข้างในของคนประเภทนี้แล้วดูว่าเรื่องราวมันดำเนินต่อไปได้หรือเปล่า
    • สังเกตสิ่งแวดล้อมรอบตัว ออกไปเดินเล่นหรือหาเวลานั่งในสวนสาธารณะ สังเกตและดูว่าคุณเห็นอะไรบ้าง คุณอาจจะเห็นช่อดอกกุหลาบข้างๆ รางน้ำ หรือเห็นรองเท้าผ้าใบคู่ใหม่เอี่ยมบนเก้าอี้ม้านั่งในสวน มันมาอยู่ตรงนี้ได้ยังไงนะ ค่อยๆ นึกจินตนาการไป!
    • ฟังว่าเขาพูดอะไรกัน ประโยคที่น่าสนใจประโยคเดียวที่คุณได้ยินผ่านหูอาจสร้างแรงบันดาลใจให้คุณเขียนเรื่องได้ทั้งเรื่องก็ได้ คุณอาจจะได้ยินคนพูดว่า "ไม่มีใครเข้าใจฉัน......" หรือ "หมาของฉันมันทำร้ายผู้ชายทุกคนที่ฉันคบเลย..." ประโยคพวกนี้พอสำหรับการเขียนเรื่องไหม แน่นอนอยู่แล้ว!
  2. Step 2 คิดถึงสถานการณ์ "แล้วถ้า..".
    วิธีนี้เป็นอีกหนึ่งวิธีที่เหมาะกับการเริ่มเขียนเรื่องสั้น เวลาที่คุณสังเกตโลก คุณไม่ควรมองแค่ความจริงที่อยู่ในโลกเท่านั้น แต่ควรพิจารณาความเป็นไปได้ของโลกด้วย เวลาที่คุณคิดถึงเรื่องราวที่คุณได้ยินหรือภาพที่คุณเห็น ให้ถามตัวเองว่า "แต่ถ้าเหตุการณ์มันเป็นแบบนี้แทนล่ะ" หรือ "คนๆ นี้จะทำอย่างไรถ้า..." การนึกตามไปเรื่อยๆ แบบนี้จะทำให้คุณได้สำรวจความลึกลับที่กำลังหลอกหลอนคุณอยู่
    • ตอนที่คุณเริ่มเขียนคุณไม่จำเป็นต้องรู้ตอนจบของเรื่องก็ได้ จริงๆ แล้วการที่คุณเริ่มเขียนโดยที่ตัวคุณเองก็ไม่ได้รู้อะไรไปเสียทุกอย่างจะทำให้คุณได้สำรวจความเป็นไปได้ต่างๆ ที่สร้างสรรค์มากยิ่งขึ้นและทำให้เรื่องของคุณชัดเจนขึ้นด้วย
    • สถานการณ์ "แล้วถ้า" อาจอยู่บนพื้นฐานความจริงหรือเป็นเรื่องในจินตนาการล้วนๆ เลยก็ได้ คุณอาจจะถามตัวเองว่า "แล้วถ้าหมาของฉันมันเกิดเริ่มพูดกับฉันขึ้นมาล่ะ" หรือ "แล้วถ้าเพื่อนบ้านที่ชอบมาเล่นกับหมาของฉันบ่อยๆ วันนึงเขาเกิดลักพาตัวมันไปล่ะ"
  3. How.com.vn ไท: Step 3 ใช้ประสบการณ์ของตัวเอง.
    แม้ว่าเรื่องสั้นจะจัดอยู่ในงานเขียนประเภทบันเทิงคดี แต่ก็มีเรื่องสั้นหลายเรื่องที่เน้นหนักไปทางอัตชีวประวัติ ถ้าคุณเขียนเรื่องที่เกิดขึ้นจริงกับตัวเองหรือคนรู้จักก็อาจจะถือว่าเป็นงานเขียนเชิงสารคดีได้ แต่การได้แรงบันดาลใจจากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจริงกับคุณแล้วเปลี่ยนมันให้เป็นงานเขียนบันเทิงคดีเรื่องใหม่นั้นถือว่าเป็นแผนการเขียนเรื่องสั้นที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณรู้สึกว่าตัวเอง "ไม่มีอะไรจะเขียน"
    • หลายคนบอกว่าคุณควร "เขียนเรื่องที่คุณรู้" ซึ่งหลักการคิดก็คือ ถ้าคุณเติบโตมาจากไร่นาในจังหวัดกาญจนบุรีหรือคุณพยายามจะเป็นจิตรกรที่เชียงใหม่มา 10 ปี คุณก็ควรเขียนเกี่ยวกับประสบการณ์เหล่านั้นแทนที่จะมานั่งเดาว่าคนที่เขาอยู่ในที่ๆ คุณไม่เคยไปนั้นเขาเติบโตมาอย่างไร
    • นักเขียนบางคนก็บอกว่าคุณควร "เขียนเรื่องที่คุณไม่รู้เกี่ยวกับสิ่งที่คุณรู้" หมายความว่าคุณอาจจะเริ่มเขียนในเรื่องที่คุณคุ้นเคยก่อน จากนั้นค่อยเริ่มสำรวจสิ่งที่คุณสงสัยหรือสิ่งที่คุณไม่ค่อยรู้เกี่ยวกับมันเท่าไหร่
    • ถ้าคุณสบายใจที่จะเขียนเรื่องที่เกิดขึ้นจริงมากเกินไป คุณจะไม่มีที่ว่างให้ความคิดสร้างสรรค์ เช่น คุณอาจจะมีเพื่อนสมัยเด็กที่วันหนึ่งก็ย้ายบ้านไปโดยที่ไม่บอกใคร หรือตอนเป็นเด็กคุณอาจจะหลงใหลคนบังคับชิงช้าสวรรค์และอยากรู้มาตลอดว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขา สำรวจโลกใบนั้นแล้วสร้างเรื่องราวขึ้นมา
  4. How.com.vn ไท: Step 4 คิดทบทวนเรื่องที่คุณได้ยินมา.
    สังเกตเรื่องที่เพื่อนๆ หรือคนในครอบครัวเคยเล่าให้ฟังที่คุณสามารถนำไปเขียนเป็นเรื่องแต่งดีๆ ได้ ถ้าแม่หรือคุณยายมักจะเล่าเรื่องสมัยที่ท่านเด็กๆ ให้คุณฟังเสมอ ให้เริ่มจดเรื่องราวเหล่านั้นลงไป พยายามจินตนาการว่าการเติบโตมาในช่วงเวลาหรือสถานที่ที่ต่างออกไปนั้นมันเป็นอย่างไรและเริ่มเขียนความเป็นไปได้ต่างๆ อย่าผัดวันประกันพรุ่งด้วยเหตุผลว่าคุณไม่ได้รู้ทุกอย่างเกี่ยวกับช่วงเวลานั้น เพราะคุณสามารถมาค้นคว้าเพิ่มเติมได้เสมอ
    • เวลาที่เพื่อนคนหนึ่งพูดว่า "เธอต้องไม่เชื่อแน่ๆ ว่าอาทิตย์ที่แล้วเกิดอะไรขึ้นกับฉัน..." ให้เงี่ยหูฟังให้ดี เพราะคุณสามารถเริ่มเรื่องสั้นจากประโยคนั้นได้
    • เรื่องราวอาจจะมาจากที่ที่ไม่น่าเป็นไปได้ก็ได้ ดีเจรายการวิทยุอาจจะรำลึกถึงความหลังในช่วงวัยเด็กออกมาไม่กี่ประโยค แล้วจู่ๆ คุณก็เกิดสนใจขึ้นมาว่าชีวิตเขาน่าจะต้องผ่านอะไรมาบ้าง
    • เตือนไว้ก่อนว่า ถ้าคุณมีชื่อเสียงในฐานะนักเขียนที่ "ขโมย" เรื่องราวที่คนอื่นเล่าใช้เขียนเรื่องแต่ง คนก็อาจจะไม่อยากเปิดใจกับคุณสักเท่าไหร่
  5. How.com.vn ไท: Step 5 หาแรงบันดาลใจจากฉากท้องเรื่อง.
    เรื่องราวอาจจะมาจากความชัดเจนจากสถานที่นั้นๆ ถึงขั้นนี้คุณควรจะรู้แล้วว่าคุณจะเขียนเรื่องราวประเภทไหน อาจจะเป็นเรื่องแนววิทยาศาสตร์ที่เกิดขึ้นในห้องทดลองใต้ดิน หรือเรื่องสยองขวัญที่เกิดขึ้นในกระท่อมผุพัง แรงบันดาลใจไม่ต้องมาจากชายหาดแสนสวยหรือจากทริปที่สนุกสุดเหวี่ยงที่เวนิส แต่แรงบันดาลใจอาจจะมีจากสถานที่ธรรมดาๆ ก็ได้ ลองคิดดูว่าตอนเด็กๆ ที่คุณต้องไปอยู่ที่ไร่ส้มกับคุณยายช่วงปิดเทอมใหญ่ทุกปีมันเป็นอย่างไร นึกดูว่าการขลุกอยู่ในห้องใต้หลังคาบ้านเพื่อนสนิทสมัยมัธยมปลาย/มัธยมต้น/ประถมมันเป็นอย่างไร
    • การเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับสถานที่อาจช่วยให้คุณสร้างตัวละครและปมขัดแย้งที่น่าสนใจขึ้นมาได้
  6. How.com.vn ไท: Step 6 เพิ่มความยากของการฝึกเขียน.
    การฝึกเขียนช่วยให้นักเขียนหลายคนได้พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ พบแรงบันดาลใจในที่ๆ ไม่น่าจะเป็นไปได้ และบังคับตัวเองให้เขียนออกมาในตอนที่ "ไม่รู้จะว่าเขียนอะไร" คุณอาจจะเริ่มจากการฝึกเขียนอุ่นเครื่องทุกวันวันละ 10-15 นาทีเพื่อให้สมองลื่นไหล หรืออาจจะเขียนเป็นชั่วโมงเลยก็ได้แล้วแต่แบบฝึกหัดแม้ว่าคุณจะไม่มีแรงบันดาลใจเลยก็ตาม แบบฝึกหัดการเขียนดีๆ ที่ช่วยให้คุณเริ่มเขียนได้คือ[1]
    • เริ่มเรื่องด้วยประโยคเปิดเรื่องต่อไปนี้ "ฉันไม่เคยบอกเรื่องนี้กับใครมาก่อน" แต่ถ้าเรื่องของคุณไม่ได้เล่าผ่านมุมมองบุคคลที่ 1 คุณก็อาจจะเริ่มเรื่องว่า "เธอปิดประตู น้ำตาไหลอาบแก้ม นี่เขาหลอกเธอหรือ"
    • มองรูปภาพยุ้งฉางในทุ่งนา จากนั้นอธิบายยุ้งฉางจากมุมมองของคนที่เพิ่งฆ่าคนตาย แล้วเปลี่ยนมาเล่าจากมุมมองของเด็กผู้หญิงที่เพิ่งเสียแม่ไป ดูว่าความคิดของตัวละครมีผลต่อการมองโลกของเขาอย่างไร ลองสมมุติว่าตัวเองเป็นตัวละครตัวนั้นดู!
    • เขียนแค่ 10-15 นาทีพอ แล้วค่อยย้อนกลับมาดูทีหลังเพื่อแก้ไข
    • เลือกคนที่คุณไม่ชอบสุดๆ ในชีวิตมาหนึ่งคน จากนั้นลองเขียนเรื่องราวจากมุมมองของคนๆ นั้น พยายามทำให้คนอ่านเห็นใจเขาให้ได้มากที่สุด จำไว้ว่ามันเป็นเรื่องของคุณ
    • ปล่อยให้ตัวละครทำให้คุณประหลาดใจ เขียนเกี่ยวกับตัวละครที่คุณเหมือนจะรู้จักค่อนข้างดี แล้วให้คนๆ นี้ทำในสิ่งที่ทำให้คุณต้องถึงกับผงะ ดูว่าเรื่องราวมันจะพาคุณไปไหน ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้เรื่องราวของคุณน่าสนใจมากยิ่งขึ้น
    • การโต้เถียง ให้ตัวละครสองตัวเถียงกันในเรื่องที่น่าเบื่อสุดๆ อย่างใครจะเป็นคนเอาขยะไปทิ้งหรือใครจะจ่ายค่าตั๋วหนัง เขียนให้ชัดเจนว่าการโต้เถียงในครั้งนี้จริงๆ แล้วบ่งบอกถึงเรื่องที่ใหญ่กว่าและร้ายแรงกว่า เช่น ใครจะเป็นฝ่ายบอกเลิกหรือใครเป็นฝ่ายให้มากเกินไปแล้วไม่ได้อะไรกลับคืน พยายามให้บทสนทนาสื่อเรื่องราวทั้งหมดนี้ออกมา แต่ก็อย่าเขียนให้มันน่าเบื่อล่ะ
    • ภาษาท่าทาง เขียนเรียงความ 500 คำบรรยายตัวละครสองตัวที่นั่งข้างกัน ทำให้คนอ่านเห็นว่าตัวละครสองตัวนี้รู้สึกต่อกันอย่างไรโดยไม่ใช่คำพูด
  7. How.com.vn ไท: Step 7 อ่านเรื่องสั้นอื่นๆ.
    ถ้าคุณอยากจะเขียนเรื่องสั้นได้เก่งๆ คุณก็ควรอ่านเรื่องสั้นให้ได้มากที่สุด คุณควรอ่านทั้งผลงานของนักเขียนคลาสสิกและนักเขียนร่วมสมัย และใช้การเขียนของคนอื่นมาสร้างแรงบันดาลใจให้คุณเขียนเรื่องสั้นของตัวเอง เรื่องสั้นร่วมสมัยและเรื่องสั้นคลาสสิกที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้คุณเขียนเรื่องสั้นของตัวเองได้มากขึ้นคือ
    • "สตรีกับสุนัข" ของอันตอน เชคอฟ
    • "ก่อกองทราย" ของไพฑูรย์ ธัญญา
    • "สถานที่สะอาดและมีแสงสว่างพอเพียง" ของเออร์เนส แฮมมิ่งเวย์
    • "ขุนทองเจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสาง" ของอัศศิริ ธรรมโชติ
    • "ครอบครัวกลางถนน" ของศิลา โคมฉาย
    • "ความน่าจะเป็น" ของปราบดา หยุ่น
    • "เจ้าหงิญ" ของบินหลา สันกาลาคีรี
    • "ซอยเดียวกัน" ของวาณิช จรุงกิจอนันต์
    • "แผ่นดินอื่น" ของกนกพงศ์ สงสมพันธุ์
    • "สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน" ของวินทร์ เลียววาริณ
    • "หลายชีวิต" ของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช
    • "สวัสดี ฒ.ผู้เฒ่า รวมเรื่องสั้นชุดเฒ่าอันเกรียงไกร" ของมนัส จรรยงค์
    • "Bubble Gum และเรื่องสั้นอื่นๆ" ของโบนิตา อาดา
    • "สตรีในกระจก: ภาพสะท้อนห้วงคำนึง และเรื่องสั้นคัดสรรอื่นๆ" ของเวอร์จิเนีย วูล์ฟ
    • "เมตามอร์โฟซิส" ของฟรันทซ์ คัฟคา
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 4:

พัฒนาทักษะการเขียนเรื่อง

ดาวน์โหลดบทความ
  1. How.com.vn ไท: Step 1 ลงคอร์สการเขียน.
    การลงคอร์สการเขียนเป็นวิธีที่ดีที่จะช่วยให้คุณได้เรียนรู้ทักษะการเขียนหนังสือและเรื่องที่ดี หาคอร์สที่เน้นการเขียนทั่วไปหรือในสาขาที่คุณสนใจ การเขียนเรื่องมีมากมายหลายรูปแบบ ตั้งแต่หนังสือเด็กไปจนถึงบทความในนิตยสาร
  2. How.com.vn ไท: Step 2 ฝึกเขียนบรรยายผู้คน สัตว์ สิ่งของ...
    ฝึกเขียนบรรยายผู้คน สัตว์ สิ่งของ และภูมิทัศน์. ฝึกถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึก และปฏิกิริยาผ่านการเขียน นักเขียนที่ดีสามารถถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ออกมาได้ด้วยวิธีที่สร้างสรรค์ที่สุด ลองฝึกบรรยายสิ่งรอบตัว
    • เช่น สมมุติว่าคุณมีผ้าม่านสีม่วง ผ้าม่านนั้นเป็นอย่างไร ทำให้คุณนึกถึงอะไร มันอยู่ตรงไหนในห้อง
    • แต่ก็อย่าบรรยายน้ำเยอะจนเกินไปเพราะมันจะดำเนินเรื่องได้ช้า แค่พยายามเขียนให้คนอ่านเห็นภาพตามความเป็นจริงก็พอ
  3. How.com.vn ไท: Step 3 เน้นการเขียนเรื่องให้จับใจผู้อ่าน.
    ไม่มีใครชอบอ่านอะไรที่มันไม่น่าสนใจหรือไม่ได้ทำให้เกิดความสงสัยใคร่รู้ ใช้คำที่เป็นเอกลักษณ์ เปิดพจนานุกรมผ่านๆ และหาคำที่สะดุดตา หรือไม่ก็ฟังรายการวิทยุที่คุณชอบ ทำให้มันสนุกเพื่อให้คนอ่านอยากอ่านต่อ เป้าหมายของคุณคือเขียนเรื่องให้สะดุดตาคนอ่านและทำให้เขาอยากอ่านงานของคุณต่อ
  4. How.com.vn ไท: Step 4 เขียนให้ถูกต้องตามหลักภาษา.
    คุณจะต้องทำให้คนอ่านเข้าใจสิ่งที่คุณเขียน การใช้คำว่า "หยั่งงี้" อาจจะทำให้คนอ่านสับสน และเวลาที่คุณเขียนหนังสือแบบเป็นเรื่องเป็นราว คุณก็ต้องใช้คำที่ยากสักหน่อยและเลี่ยงการพิมพ์ผิดอย่าง "นะค่ะ" แต่ถ้าตัวละครของคุณพูด "หยั่งงี้" จริงๆ ก็ต้องใส่เครื่องหมายคำพูดและถ่ายทอดการพูดรวมถึงเสียงที่อยู่ในความคิดของตัวละครออกมาให้สมจริงที่สุด
  5. How.com.vn ไท: Step 5 เขียนออกมาจากใจ.
    ถ้าการเขียนคือสิ่งที่คุณหลงใหล ก็ถ่ายทอดความหลงใหลออกมาในฐานะนักเล่าเรื่องที่อินกับเรื่องที่กำลังเล่าอย่างแท้จริง เขียนสิ่งที่คุณชอบและสิ่งที่คุณคิดว่ามันดีกับตัวเรื่อง เรียนรู้ที่จะเขียนจากหัวใจ
    • ฟังคำติเพื่อก่อ แยกให้ออกว่าคำติชมไหนที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาทักษะการเขียนของคุณและอันไหนที่เป็นแค่การติไปเรื่อยเปื่อยหรือเป็นความอิจฉา ฝึกไปเรื่อยๆ แล้วคุณจะค่อยๆ แยกแยะได้เอง
    โฆษณา
ส่วน 3
ส่วน 3 ของ 4:

สร้างเรื่องราวของคุณขึ้นมา

ดาวน์โหลดบทความ
  1. How.com.vn ไท: Step 1 สร้างมุมมองของคุณ.
    เรื่องสั้นส่วนใหญ่จะใช้มุมมองบุคคลที่ 1 2 หรือ 3 ถ้าคุณเพิ่งเริ่มเขียน คุณควรยึดแค่มุมมองใดมุมมองหนึ่งตลอดทั้งเรื่อง มุมมองทั้ง 3 แบบมีลักษณะและวิธีการใช้ดังนี้
    • มุมมองจากบุคคลที่ 1 บุคคลที่ 1 จะถูกถ่ายทอดโดยตรงผ่านมุมมองของตัวละครที่ใช้คำว่า "ฉัน" แทนตัวเอง "ฉันไม่เคยเล่าเรื่องนี้ให้ใครฟังมาก่อน" คือตัวอย่างของการเขียนโดยการใช้มุมมองของบุคคลที่ 1 มุมมองจากบุคคลที่ 1 เป็นมุมมองที่เหมาะกับการเขียนหากคุณอยากจะเล่าเรื่องโดยยึดความคิดและมุมมองของตัวละครอย่างใกล้ชิด แต่มันก็อาจจะค่อนข้างจำกัดถ้ามุมมองของตัวละครมีจำกัด บุคคลที่ 1 อาจจะเป็นมุมมองที่เขียนง่ายที่สุดหากคุณเพิ่งเริ่มเขียน
    • มุมมองจากบุคคลที่ 3 บุคคลที่ 3 คือการที่คุณเขียนถึงตัวละครโดยใช้คำว่า "เขา" หรือ "เธอ" จากมุมมองข้างนอก เช่น การเล่าว่า "เขาเหนื่อย" ในมุมมองบุคคลที่ 3 นักเขียนอาจจะเข้าถึงความคิดของตัวละครอย่างใกล้ชิดหรือเอาตัวเองออกห่างจากตัวละครก็ได้
    • มุมมองจากบุคคลที่ 2 บุคคลที่ 2 กล่าวถึงคนอ่านโดยการใช้คำว่า "คุณ" ออกมาตรงๆ เช่น "คุณกำลังเดินเข้าไปในออฟฟิศของคุณ" มุมมองนี้เป็นเทคนิคการจับใจคนอ่านที่ดี แต่มันอาจจะดูเกินจริงไปหน่อย
  2. How.com.vn ไท: Step 2 สร้างพล็อตเรื่อง.
    เรื่องสั้นทุกเรื่องควรมีพล็อตเรื่องที่ดึงความสนใจของคนอ่านและทำให้คนอ่านตั้งคำถามว่าต่อไปจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเรื่องเล่าของคุณจะต้องมีการไล่ล่าปานสายฟ้าแลบหรือการฆาตกรรม เพราะคนอ่านก็อาจจะอยากรู้ว่าต่อไปจะเกิดอะไรขึ้นแม้จะเป็นแค่เรื่องคนสองคนกำลังคุยกันระหว่างดื่มกาแฟ แม้ว่าเรื่องสั้นแต่ละเรื่องจะแตกต่างกันไป แต่องค์ประกอบของเรื่องสั้นก็โดยทั่วไปก็คือ
    • การขมวดปม/บทเปิดเรื่อง: ส่วนนี้มักจะอยู่ตอนต้นเรื่องของเรื่องสั้น ซึ่งเป็นจุดที่ผู้อ่านจะได้รู้จักตัวละคร ฉากท้องเรื่อง และปมขัดแย้งหลัก แต่บางเรื่องก็จะเริ่มเรื่องท่ามกลางเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นและค่อยให้ผู้อ่านย้อนกลับไปว่าจริงๆ แล้วมันเกิดอะไรขึ้น
    • ปมขัดแย้ง: การเดิมพันของเรื่อง เรื่องทุกเรื่องจะต้องมีการเดิมพันอะไรบางอย่าง ไม่อย่างนั้นคนอ่านจะไม่อยากอ่านต่อไม่ว่าภาษาจะสวยแค่ไหนก็ตาม เรื่องทุกเรื่องจะต้องมีปมขัดแย้งหรือจุดตึงเครียด ซึ่งอาจจะเป็นอะไรที่เร้าอารมณ์มากๆ อย่างการที่ผู้ชายสองคนกำลังแย่งผู้หญิงคนเดียวกัน หรือเด็กผู้หญิงที่รอดูว่าเพื่อนจะชวนเธอไปงานปาร์ตี้หรือเปล่า ลักษณะของปมขัดแย้งไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่สิ่งสำคัญคือคนอ่านจะต้องสนใจในสิ่งที่เกิดขึ้น
    • ภาวะคลี่คลาย: การคลายปมของเรื่อง หลังจากปมขัดแย้งถูกคลี่คลายหรือพูดคุยไปแล้ว เรื่องก็ต้องคลายปมออก แต่เรื่องสั้นส่วนใหญ่จะไม่ได้มีตอนจบที่มีความสุขสมบูรณ์แบบหรืออาจจะไม่ได้มีตอนจบที่สมบูรณ์แบบเลยก็ได้ หลายเรื่องจะจบลงด้วยคำพูดหรือภาพที่ทิ้งให้คนอ่านกลับไปคิด ถ้าเรื่องมัน "คลายปม" ในตอนท้ายแบบสมบูรณ์แบบ มันจะกลายเป็นว่าคุณทำลายความลึกลับและเสน่ห์ของเรื่องสั้นไป
  3. How.com.vn ไท: Step 3 สร้างตัวละคร.
    เรื่องของคุณจะต้องมีตัวละครอย่างน้อย 1 ตัวและเป็นตัวละครที่คนอ่านสนใจและอินกับมันแม้ว่าตัวละครตัวนั้นจะไม่ใช่คนจิตใจดีมีเมตตาก็ตาม คุณสามารถสร้างคุณสมบัติของตัวละครได้จากหลายๆ วิธีซึ่งแต่ละวิธีนั้นล้วนสมเหตุสมผล ตัวอย่างวิธีที่จะทำให้คนอ่านรู้สึกถึงตัวละครของคุณได้อย่างชัดเจนก็เช่น
    • บรรยายสิ่งที่ตัวละครพูด คำพูดที่สมบูรณ์แบบจะแสดงถึงเจตนาของตัวละคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคำพูดไม่ตรงกับสิ่งที่ตัวละครคิด
    • บรรยายสิ่งที่ตัวละครทำ ตัวละครตัวนี้ตื่น 6 โมงเช้าทุกวันโดยไม่ต้องใช้นาฬิกาปลุกหรือเปล่า หรือว่าเขากดปุ่ม "เลื่อนปลุก" หลายชั่วโมงกว่าจะตื่น การกระทำเล็กๆ น้อยๆ ช่วยสร้างลักษณะของตัวละครขึ้นมาได้ แม้ว่าตอนแรกมันอาจจะดูไม่สำคัญก็ตาม
    • บรรยายว่าเขาแต่งตัวอย่างไร ตัวละครแต่งตัวจัดเต็มเวลาไปซูเปอร์มาร์เก็ตหรือเปล่า หรือว่าเขายิ้มแบบบ้าคลั่งเวลาที่เขาด่ำดิ่งอยู่ในช่วงเวลาที่เศร้าที่สุด รูปลักษณ์ภายนอกของตัวละครสามารถบอกถึงสภาวะจิตใจของเขาได้
    • บรรยายว่าเขาปฏิบัติต่อคนอื่นอย่างไร ตัวละครของคุณขี้อายสุดขีดหรือว่าเจ้ากี้เจ้าการเสียจนคนรอบข้างไม่กล้าเปิดปากพูดกับเขา เขาปฏิบัติกับพนักงานเสิร์ฟเป็นอย่างดีเพราะว่าแม่ของเขาเคยเป็นพนักงานเสิร์ฟมาก่อน หรือว่าเขาทำตัวแย่ใส่พนักงานเสิร์ฟทุกคนเพราะเขาเคยโดนสาวเสิร์ฟหักอก หรือเขาแค่ทำตัวแย่เพราะเขาอยากทำแบบนั้นเฉยๆ การได้เห็นตัวละครในโลกข้างนอกสามารถบอกหลายสิ่งเกี่ยวกับตัวละครได้
  4. How.com.vn ไท: Step 4 สร้างบทสนทนา.
    บทสนทนาจะเป็นจุดที่บอกว่าตัวละครพูดอะไร ซึ่งมักจะอยู่ในเครื่องหมายคำพูด บทสนทนาบอกตัวตนของตัวละครได้มากมายทั้งจากสิ่งที่เขาพูดและสิ่งที่เขาเลือกจะไม่พูด คุณควรสร้างบทพูดที่เหมือนคนจริงๆ พูดกันแทนที่จะใช้ภาษาที่มันหรูหราหรือฟังดูประดิษฐ์ อ่านบทสนทนาออกเสียงเพื่อฟังว่ามันเหมือนคนจริงๆ เขาพูดกันหรือเปล่า
    • บทสนทนาระหว่างตัวละครสองตัวยังสามารถบ่งบอกถึงลักษณะความสัมพันธ์ของคนทั้งคู่ได้ด้วย
    • สนใจสิ่งที่ตัวละครไม่ได้พูดด้วย เช่น ถ้าเด็กผู้ชายไม่พอใจที่พ่อไม่ยอมไปดูการแข่งขันเบสบอล แต่พอได้เจอพ่อเขาก็ไม่พูดถึงการแข่งขันเลยแต่กลับถามว่า "งานเป็นยังไงบ้างครับ" แทน นั่นก็บ่งบอกอะไรเกี่ยวกับเด็กผู้ชายคนนี้ได้มากเหมือนกัน
    • อย่าใช้คำบรรยายเยิ่นเย้อในบอกว่าใครเป็นคนพูด เช่นการบอกว่า "มินกล่าวว่า..." แทนที่จะเป็น "มินเอ่ย..."
  5. How.com.vn ไท: Step 5 สร้างฉากท้องเรื่อง.
    ฉากท้องเรื่องของเรื่องสั้นอาจจะสำคัญหรือไม่สำคัญกับเหตุการณ์ในเรื่องเลยก็ได้ ถ้าเรื่องของคุณเกิดขึ้นในบ้านทั่วไปที่ไม่ได้สำคัญกับเนื้อเรื่องเลย ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเมียน้อยของตัวละครบุกเข้ามาในบ้านที่เขาอยู่กับภรรยา รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ทุกอย่างล้วนสำคัญกับเรื่องเพราะมันสามารถบอกถึงความสัมพันธ์ของตัวละครกับภรรยา และบอกได้ว่าเมียน้อยมองความสัมพันธ์ของทั้งคู่อย่างไร พิจารณาว่าฉากท้องเรื่องสำคัญกับเนื้อเรื่องไหมแล้วสร้างฉากท้องเรื่องตามระดับความสำคัญ
    • ถึงฉากท้องเรื่องจะไม่ได้สำคัญกับเนื้อเรื่อง แต่ก็อย่าทำให้คนอ่านสับสนและบอกให้คนอ่านรู้ว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นที่ไหน แม้ว่ามันจะเป็นแค่ทุ่งเลี้ยงวัวที่ลพบุรีหรือโรงเรียนมัธยมที่ไม่ได้บอกชัดเจนว่าเป็นที่ไหนก็ตาม
    • ช่วงเวลาก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของฉากท้องเรื่องเช่นเดียวกัน ถ้าเรื่องราวของคุณเกิดขึ้นในช่วงพ.ศ. 2500 ก็บอกใบ้ให้คนอ่านเดาได้ด้วยหรือไม่ก็บอกตรงๆ ไปเลย ไม่ใช่ว่าคนอ่านอ่านไปครึ่งเรื่องแล้วยังคิดว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน
  6. How.com.vn ไท: Step 6 สร้างน้ำเสียงของตัวเอง.
    ในงานเขียนเสียงของคุณคือวิธีการเขียนที่เป็นเอกลักษณ์ คำที่เขียนลงไปจะบ่งบอกว่างานเขียนแบบนี้มีแต่คุณเท่านั้นที่เขียน คำพูดที่คุณเขียนลงไปควรจะมีความแปลก จังหวะ และน้ำเสียงสูงต่ำที่คนอื่นเลียนแบบไม่ได้ ในช่วงแรกๆ มันเป็นเรื่องปกติที่นักเขียนเรื่องสั้นจะพยายามเลียนแบบนักเขียนเรื่องสั้นคนโปรดของตัวเอง แต่พอคุณเขียนเรื่องสั้นไปเรื่อยๆ คุณก็ควรหาวิธีถ่ายทอดความคิดและแนวคิดในแบบของคุณเอง
    • น้ำเสียง บ่งบอกว่าคำพูดของคนเขียนฟังดูเป็นอย่างไร ไม่ใช่แค่ว่าคำพูดของตัวละครเป็นอย่างไร ทุกคำที่เขียนลงไปในเรื่องนั้นทำให้เกิด น้ำเสียง ของคนเขียน
  7. How.com.vn ไท: Step 7 ระวังหลุมพรางของการเขียนเรื่องสั้น.
    แม้ว่าจะพอมีแนวทางในการเขียนเรื่องสั้นอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มีกฎตายตัวว่าเรื่องสั้นที่ดีเป็นอย่างไรและเรื่องสั้นที่แย่เป็นอย่างไร คุณสามารถเพิ่มโอกาสในการเขียนเรื่องสั้นให้ประสบความสำเร็จได้ด้วยการหลีกเลี่ยงความผิดพลาดทั่วไปของนักเขียนเรื่องสั้น สิ่งที่คุณควรเก็บไปคิดขณะเขียนเรื่องสั้นก็คือ
    • เลี่ยง "ต้นเรื่องที่เยิ่นเย้อ" ไม่ต้องบอกคนอ่านทุกเรื่องที่คุณคิดว่าเขา ต้อง รู้ตั้งแต่ตอนเริ่มเรื่อง ถ้าคุณบรรยายตัวละครและเหตุการณ์เข้าไปสามหน้ากว่าจะเข้าเรื่องได้จริงๆ คนอ่านจะพาลไม่อยากอ่านเสียก่อน
    • เลี่ยงตอนจบแบบหักมุม ไม่มีใครชอบเวลาที่อุตส่าห์อ่านเรื่องมาตั้งนานแต่ตอนจบกลายเป็นว่าเรื่องราวทั้งหมดเป็นแค่ความฝันหรือทั้งหมดนี้เล่าจากมุมมองของมนุษย์ต่างดาว โอ เฮนรีชอบเขียนตอนจบแบบนี้ แต่ตอนนี้มันดูเชยไปแล้ว
    • ใช้คำธรรมดา คุณอาจจะคิดว่าการใช้ภาษาหรูหราสละสลวยในเรื่องสั้นเป็นวิธีที่ดี ถ้าคุณเขียนเรื่องสั้นเกี่ยวกับชีวิตสังคมชั้นสูงในปราสาทแสนสวย การใช้ภาษาแบบนี้ก็อาจจะเหมาะ แต่สำหรับแนวคิดของเรื่องส่วนใหญ่แล้ว เขียนให้กระชับและใช้คำธรรมดาๆ จะดีที่สุด
    • อย่าบรรยายเรื่องในบทสนทนา คำบรรยายที่ไม่ใช่บทสนทนาควรบอกให้คนอ่านรู้ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับเรื่อง บทสนทนาควรมีไว้เพื่อบอกข้อมูลเกี่ยวกับตัวละคร สิ่งที่เขากำลังฝ่าฟัน และความสัมพันธ์ของเขา แต่อย่าใส่ "ข้อเท็จจริง" ของเรื่องไว้ในบทสนทนา เช่น ตัวละครไม่ควรจะพูดว่า "ส้มโอ ถึงเธอจะอายุ 20 แล้วก็ขึ้นปีสองที่จุฬาฯ แล้ว..." เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่ตัวละครทั้งสองคนรู้อยู่แล้ว
    • แสดงการเดิมพันของเรื่องให้ชัดเจน คนอ่านควรจะตอบได้ว่า "การเดิมพันของเรื่องคืออะไร" ขณะที่กำลังอ่านและตอนที่อ่านจบแล้ว แต่ถ้าเขาอ่านจบเรื่องแล้วแล้วยังไม่รู้อีกว่าการเดิมพันที่อยู่ในเรื่องนี้คืออะไร ก็แสดงว่าเรื่องนั้นไม่ประสบความสำเร็จ
    โฆษณา
ส่วน 4
ส่วน 4 ของ 4:

แก้ไขเรื่องที่เขียน

ดาวน์โหลดบทความ
  1. How.com.vn ไท: Step 1 วางเรื่องพักไว้ก่อนแล้วค่อยกลับมาอ่านใหม่.
    พักเรื่องเอาไว้ก่อนแม้จะแค่ 1 วันก็ตาม จากนั้นค่อยกลับมาอ่านด้วยมุมมองใหม่และอ่านในฐานะคนอ่าน ไม่ใช่ในฐานะคนเขียน ในฐานะคนอ่านประโยคไหนที่คุณรู้สึกว่าไม่จำเป็นหรืองง ข้อเท็จจริงไหนที่ต้องการรายละเอียดมากกว่าเดิม ประเด็นในพล็อตเรื่องประเด็นไหนที่มันชัดเจนเกินไปหรือซับซ้อนเกินไป การอ่านเรื่องที่เขียนด้วยมุมมองใหม่จะทำให้คุณได้มุมมองใหม่ๆ ว่าจุดไหนที่ต้องปรับ
    • บางครั้งแค่ปรินต์เรื่องที่เคยไว้ในไฟล์ Word ออกมาก็ช่วยให้คุณได้มุมมองใหม่ๆ แล้ว
    • ถ้าคุณอยากจะแก้ไขเนื้อเรื่องจริงๆ แต่ไม่รู้เลยว่าจะแก้ตรงไหนดี ให้ทิ้งงานเขียนไว้สัก 1 หรือ 2 เดือน แล้วคุณจะประหลาดใจว่าคุณได้ความกระจ่างมากแค่ไหนในช่วงเวลานี้
    • การทิ้งงานไว้สักพักเป็นสิ่งที่ควรทำ แต่ก็อย่าทิ้งไว้นานเกินไปจนคุณเลิกสนใจมันไปเลย
  2. How.com.vn ไท: Step 2 หาคำติชม.
    ถ้าคุณพร้อมนำงานเขียนออกสู่สายตาโลกแล้ว คุณก็อาจจะให้เพื่อนสนิท เพื่อนนักเขียน ครูสอนภาษาไทย หรือแม้กระทั่งกลุ่มเพื่อนนักเขียนอ่านเรื่องของคุณ แต่อย่าขอความคิดเห็นก่อนที่เรื่องจะเป็นรูปเป็นร่างอย่างสมบูรณ์ ไม่อย่างนั้นคำวิจารณ์จะทำให้คุณฝ่อ การเข้าร่วมเวิร์กช็อปการเขียนกับคนที่ตั้งใจจะเขียนงานให้ออกมาดีเหมือนกันจะช่วยให้คุณได้มุมมองใหม่ๆ ในงานเขียนของคุณ
    • คุณต้องพร้อมรับฟังคำติชมจริงๆ ไม่อย่างนั้นมันจะไม่เกิดประโยชน์ ถ้าคุณคิดว่าเรื่องที่คุณคิดมันดีที่สุดในโลกแล้ว คุณจะได้ไม่ได้ยินคำติชมของคนอื่นจริงๆ
    • คุณต้องเลือกคนอ่านที่เหมาะกับงานเขียนของคุณ ถ้าคุณเขียนเรื่องแนววิทยาศาสตร์แต่กลับให้เพื่อนนักเขียนที่ไม่เคยอ่านเรื่องแนววิทยาศาสตร์จริงๆ มาก่อน คุณก็อาจจะไม่ได้คำติชมที่ดีที่สุด
  3. How.com.vn ไท: Step 3 ใช้เทคนิคหลากหลายเวลาแก้ไขเรื่อง.
    การแก้ไขงานเขียนทำได้หลายวิธี และทั้งหมดนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าต้นฉบับแรกของเรื่องที่คุณเคยเป็นอย่างไรและต้องเก็บงานอีกแค่ไหน หลายๆ เรื่องต้องเขียนเป็นสิบๆ ฉบับหรือมากกว่ากว่าจะได้ฉบับสุดท้าย เพราะฉะนั้นอย่าท้อถ้าคุณรู้สึกว่าตัวเองจะต้องแก้ ทุกอย่าง ในเรื่อง ขณะแก้ไขงานเขียน สิ่งที่คุณต้องคำนึงถึงก็คือ
    • ความจำเป็นในการเปลี่ยนมุมมองบุคคล ตอนแรกคุณอาจจะคิดว่าเรื่องของคุณเหมาะจะเล่าจากมุมมองบุคคลที่ 1 มากที่สุด แต่พอมาอ่านอีกรอบคุณอาจจะเห็นว่าเรื่องน่าจะเล่าผ่านมุมมองบุคคลที่ 3 ได้ดีกว่า
    • ตัดการบรรยายเยิ่นเย้อออกไป กฎกำปั้นทุบดินคือให้ตัดออกไป 250 คำ (สำหรับงานเขียนอย่างน้อย 10 หน้า) หลังจากที่คุณคิดว่าน่าจะใช้ได้แล้ว แล้วคุณจะแปลกใจว่าคุณเจอคำบรรยายเยิ่นเย้อเยอะแค่ไหน
    • ตัดสิ่งที่ทำให้สับสัน ถามตัวเองว่าถ้าคุณไม่ได้เป็นคนเขียนเรื่องนี้เองคุณจะเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างถ่องแท้หรือเปล่า แนวคิดของเรื่องอาจจะชัดเจนสำหรับคุณ แต่สำหรับคนอ่านแล้วเขาอาจจะงงเป็นไก่ตาแตกก็ได้
    • คุณต้องใส่อารมณ์ เสียง และอื่นๆ ลงไปในเรื่องด้วย เพราะความรู้สึกทำให้เรื่องมีชีวิต เรื่องที่ไม่มีความรู้สึกจะถือเป็นเรื่องได้อย่างไร จริงไหม
    • ค้นคว้าเพิ่มเติมถ้าจำเป็น ถ้าคุณเขียนเรื่องที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ยุคอันธพาลครองเมืองแต่คิดว่าตัวเองไม่ได้รู้จักช่วงเวลานี้มากอย่างที่เคยเข้าใจ ก็ต้องกลับไปหาหนังสือมาอ่านเพิ่มเติมเพื่อให้มีความรู้มากพอที่จะเขียนเรื่องในยุคนี้ให้ดูสมจริง
    • สู้ต่อไป เวลาที่คุณรู้สึกแย่ ให้บอกตัวเองว่าไม่มีงานเขียนฉบับแรกเรื่องไหนที่ดีมากๆ แต่ถ้าคุณเขียนฉบับที่สอง สาม และสี่ เรื่องสั้นที่คุณเขียนก็มีโอกาสจะกลายเป็นเรื่องสั้นที่ดีมากๆ ได้
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • รู้ว่าตัวเองอยากให้ตัวละครหลักดูเป็นอย่างไร อย่าให้เด็กคงแก่เรียนหน้าห้องพูดอะไรเท่ๆ ออกมาถ้าคุณรู้ว่าเขา/เธอจะไม่พูดแบบนั้น รู้จักตัวละครเหมือนที่คุณรู้จักตัวเอง ลองคิดแบบตัวละครตัวนั้นดูสักวัน
  • คนทั่วไปไม่พูดเต็มประโยค แต่จะตอบคำเดียวมากกว่า เพราะฉะนั้นให้ใส่คำพูดขี้เกียจๆ อย่าง “อืม ใช่” เป็นต้น ลงไปบ้าง แต่ก็อย่าใส่มากเกินไป! บทสนทนาที่ดีไม่ใช่บทสนทนาที่คนพูดกันจริงๆ แต่เป็นคำพูดจริงๆ ที่ตัดส่วนที่น่าเบื่อทั้งหมดออก
  • มองหาวิธีใช้คำที่ดีขึ้น หาคำที่ตรงกับสิ่งที่คุณต้องการจะสื่อ เช่น ตัวละครไม่พอใจหรือกระวนกระวายกันแน่ ค้นคว้าและนึกถึงความหมายโดยนัยของคำ ลองเปิดพจนานุกรมเพื่อเทียบคำที่มีความหมายใกล้เคียงกันเพื่อเรียนรู้ว่าจะต้องพูดอย่างไรถึงจะสื่อสิ่งที่คุณต้องการพูดออกมาได้อย่างชัดเจน ได้ผล และเป็นเอกลักษณ์ในแบบฉบับของคุณเอง
  • เข้าอินเทอร์เน็ตแล้วหาความหมายของชื่อเพื่อให้ได้ชื่อที่เหมาะกับตัวละคร ซึ่งเป็นวิธีที่ดีถ้าคุณคิดชื่อที่เหมาะกับตัวละครไม่ออก เช่น ถ้าในเรื่องมีตัวละครชายหนุ่มที่เป็นที่รักของคนมากมาย ให้มองหาชื่อที่มี "ความหมาย" ของคำว่า "รัก" แล้วคุณจะได้รายชื่อที่ตรงกับความหมายที่คุณต้องการ ชื่อกานต์แปลว่า "เป็นที่รัก" เพราะฉะนั้นตัวละครในเรื่องนี้ก็อาจจะชื่อกานต์ก็ได้
  • แก้ไข แก้ไข และแก้ไข ตรวจเครื่องหมายวรรคตอน การสะกด หลักภาษา และความหมายของประโยค แต่ก็อย่าละเลยประเด็นที่ใหญ่กว่า เช่น การกระทำและการโต้ตอบของตัวละครมันมีความเป็นไปได้จริงๆ ไหม พล็อตเรื่องของคุณใช้ทางลัดที่ทำให้เรื่องมันน่าเบื่อหรือตื้นเขินหรือเปล่า
  • ถ้าคุณซึมซับงานเขียนของคนอื่นได้ง่าย ก็อย่าอ่านมากเกินไป ให้อ่านเฉพาะหนังสือที่คุณคุ้นเคยและศึกษาว่าผู้เขียนสร้างตัวละคร พล็อตเรื่อง และเป้าหมายของเรื่องอย่างไรสักระยะ แต่ก็อย่าจำกัดตัวเองว่าคุณต้องเขียนงานประเภทไหนด้วยเช่นกัน
  • พัฒนาตัวละครไปเรื่อยๆ และจำไว้ว่าตัวละครไม่ได้อายุเท่าเดิมตลอดกาล เพราะฉะนั้นขณะที่เขาโตขึ้น อารมณ์และบุคลิกของเขาบางครั้งก็เปลี่ยนไปด้วย เขาอาจจะอารมณ์เสียหรือประหม่าได้ง่ายๆ สร้างช่วงอายุที่เหมาะสมกับตัวละครที่ตัวคุณเองเข้าถึงได้
  • ใช้ประสบการณ์ในชีวิตเป็นแรงบันดาลใจในการเขียนเรื่อง
  • ใช้คำบรรยายที่บอกว่าใครพูดอะไรให้น้อย (เช่น “อันดากล่าว” หรือ “มดกระซิบ”) ทีนี้สงสัยใช่ไหมว่าแล้วคุณจะบอกอย่างไรว่าใครกำลังพูดอยู่ คุณสามารถทำได้โดยการสร้างน้ำเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวละครแต่ละตัวขึ้นมาและยึดบทสนทนาไว้ในฉาก คนเราเวลาพูดจะขยับตัวไปด้วยและมีสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นรอบตัวในขณะที่พูด ใช้คำบอกใบ้จากบริบทเพื่อบอกว่าใครกำลังพูด ถ้าคุณต้องใช้คำว่า “พูด” จริงๆ ก็ใช้ไป (ก็ดีกว่าทำให้คนอ่านสับสน) แต่ถ้าคุณให้ภาพที่เกิดขึ้นในฉากนั้นๆ ได้จริงๆ คุณจะพบว่ามันไม่จำเป็นต้องใช้เลย ใช้การออกเสียงที่ไม่ค่อยชัด สำเนียง น้ำเสียงแสดงอำนาจ น้ำเสียงแสดงความอ่อนน้อม หรือการพูดชัดเจนแบบห้วนๆ และบอกว่าใครเป็นคนพูดผ่านการเลือกใช้คำ ระวังการใช้ภาษาถิ่น ถ้าต้องใช้จริงๆ ให้ใช้เป็นบางจุด ถ้าคุณรู้จักตัวละครดี คุณจะรู้ดีว่าเขาพูดจาแบบไหน สื่อสิ่งที่เขาต้องการจะพูดอย่างไร และอะไรที่เขาจะไม่มีวันพูดออกมา
  • อย่าให้พล็อตเรื่องมันชวนสับสนจนเกินไป ถ้าหลายเหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมกันมากเกินไป ให้หยุดก่อน ไปพักสักเดี๋ยวให้สมองโล่ง การย้อนกลับไปอ่านเรื่องตั้งแต่ต้นเป็นวิธีที่ดีเสมอเพราะมันทำให้คุณได้มุมมองใหม่ๆ และช่วยให้คุณคิดออกว่าจะไปทางไหนต่อ
  • อย่าลอกบางอย่างมาจากหนังสือเล่มอื่น ถ้าคุณเขียนไม่ออก ให้มองหาแรงบันดาลใจ
  • ใช้ภาษาที่สื่อประสาทสัมผัส สิ่งนี้เป็นหัวใจของการดึงให้คนอ่านเข้ามาอยู่ในโลกของเรื่องที่คุณเล่า คุณต้องทำให้คนอ่าน "เห็น ได้กลิ่น และได้ยิน" สิ่งที่อยู่รอบตัว ใช้คำบรรยายให้เห็นภาพ หนังสือของคุณต้องไม่น่าเบื่อหรือทื่อ แต่คนอ่านจะต้องจินตนาการออกว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอย่างไร ถ้าคุณไม่ใช่มาร์เซล พรุสต์คนต่อไปแล้วล่ะก็ ไม่ต้องบรรยายใบไม้ทุกใบที่อยู่บนต้นไม้ทุกต้น ไม่อย่างนั้นพล็อตเรื่องมันอืดอาดยืดยาดเกินไป
โฆษณา

คำเตือน

  • อย่าเขียนไปแก้ไปเพราะจะทำให้เขียนได้ช้า แต่ให้พักบ่อยๆ แล้วกลับมาแก้ไขตอนที่มีเวลาดีกว่า
  • ถ้าจะเขียนเรื่องให้น่าสนใจ อย่าลอกงานเขียนของคนอื่นเด็ดขาด การเขียนเรื่องที่ดีต้องใช้เวลาเสมอ เพราะฉะนั้นอดทนไว้!
  • อย่ายืดเยื้อเรื่องยาวจนเกินไป อย่าขยายประเด็นให้มากความ แค่ให้รายละเอียดพอประมาณเพื่อให้คนอ่านเข้าใจและสนใจก็พอ
  • การบรรยายฉากยาวๆ อาจ กลายเป็นจุดสิ้นสุดของเรื่องได้
  • คุณต้องเขียนให้ระดับความยาวของประโยคคละกัน
  • การใช้คำบรรยายที่ใกล้เคียงกับคนที่คุณรู้จักดีอย่างครอบครัวก็เป็นเรื่องที่นักเขียนเขาทำกันและง่ายดี แต่คุณต้องปกปิดตัวละครให้มากพอเพื่อไม่ให้ครอบครัวไม่พอใจ หรือไม่ก็เตรียมใจไว้เลยว่าพวกเขาอาจจะไม่ชอบขี้หน้าคุณไปสักพัก
  • อย่าใช้คำใหญ่และหรูหรามากเกินไป มันจะฟังดูเหมือนไม่ใช่มืออาชีพมาเขียนเหมือนคุณให้คอมพิวเตอร์เขียนงานให้ แต่ก็อย่าใช้คำธรรมดาๆ น่าเบื่อๆ มากเกินไปเช่นกัน
  • ภาวะเขียนไม่ออกเป็นเรื่องปกติมากๆ คุณจะหงุดหงิด แต่อย่ายอมแพ้ พักสักครู่แล้วทำใจให้สบาย จำไว้ว่าแค่นั่งลงแล้วเขียน ยึดคำพูดนี้ไว้แล้วบอกตัวเองในหัว ทั้งหมดที่คุณต้องทำคือนั่งแล้วเขียน!
โฆษณา

ข้อมูลอ้างอิง

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

How.com.vn ไท: ทีมงานวิกิฮาว
ร่วมเขียน โดย:
นักเขียนในทีมวิกิฮาว
บทความนี้ร่วมเขียนโดยเหล่าบรรณาธิการและนักวิจัยที่ผ่านการฝึกฝนมาเพื่อความถูกต้องและครอบคลุมของเนื้อหา

ทีมผู้จัดการด้านเนื้อหาของวิกิฮาว จะตรวจตราผลงานจากทีมงานด้านเนื้อหาของเราเพื่อความมั่นใจว่าบทความทุกชิ้นได้มาตรฐานตามที่เราตั้งไว้ บทความนี้ถูกเข้าชม 5,630 ครั้ง
หมวดหมู่: การเขียน
มีการเข้าถึงหน้านี้ 5,630 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

⚠️ Disclaimer:

Content from Wiki How ไท language website. Text is available under the Creative Commons Attribution-Share Alike License; additional terms may apply.
Wiki How does not encourage the violation of any laws, and cannot be responsible for any violations of such laws, should you link to this domain, or use, reproduce, or republish the information contained herein.

Notices:
  • - A few of these subjects are frequently censored by educational, governmental, corporate, parental and other filtering schemes.
  • - Some articles may contain names, images, artworks or descriptions of events that some cultures restrict access to
  • - Please note: Wiki How does not give you opinion about the law, or advice about medical. If you need specific advice (for example, medical, legal, financial or risk management), please seek a professional who is licensed or knowledgeable in that area.
  • - Readers should not judge the importance of topics based on their coverage on Wiki How, nor think a topic is important just because it is the subject of a Wiki article.

โฆษณา