ดาวน์โหลดบทความดาวน์โหลดบทความ

จำได้ไหม ตอนเด็กๆ คุณรู้สึกยังไงตอนได้ซุกตัวใต้ผ้าห่ม อ่านหนังสือเล่มโปรด แล้วโลดแล่นไปในโลกแห่งจินตนาการ? ที่เราเขียนเรื่องราวให้เด็กๆ ได้อ่าน ก็เพื่อสอนสิ่งต่างๆ ที่เราเองได้เรียนรู้มาก่อน เป็นการมอบความสุขและสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขา และอาจเรียกความสุขเหล่านั้นกลับคืนสู่ตัวเองได้ด้วย บทความนี้จะแนะนำแนวทางและขั้นตอนต่างๆ ในการเขียนหนังสือสำหรับเด็กให้คุณ ตั้งแต่การคิดหาไอเดีย ไปจนถึงการนำเสนอผลงานที่เสร็จสิ้นให้สำนักพิมพ์ได้พิจารณา

วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 5:

รวบรวมข้อมูลและเลือกสรรไอเดีย

ดาวน์โหลดบทความ
  1. How.com.vn ไท: Step 1 ตะลุยอ่านหนังสือเด็ก.
    พอเริ่มค้นหาไอเดียมาเขียนหนังสือเด็ก จะดีมากถ้าคุณลองอ่านหนังสือเด็กของนักเขียนคนอื่นๆ ดูด้วย หาอ่านได้ตามห้องสมุดสาธารณะ หรือตามร้านหนังสือ ลองเดินๆ สำรวจดูสัก 2 - 3 ชั่วโมง จากนั้นถามตัวเองซิว่าเล่มไหนถูกใจที่สุด และทำไมถึงเป็นแบบนั้น
    • คุณอยากเขียนหนังสือเด็กแบบมีภาพประกอบด้วยไหม หรือมีแต่เนื้อเรื่องอย่างเดียว?
    • จะเขียนเป็นเรื่องแต่งหรือเน้นสาระ? ถ้าเป็นพวกสารคดีหรือหนังสือออกแนวตำรา คุณก็ต้องค้นคว้าให้แน่นๆ หรือมีความรู้ในด้านนั้นๆ ซะก่อน จะดีมากถ้าคุณเป็นพวกผู้รู้เรื่องไดโนเสาร์ ดาวตก หรือเครื่องยนต์เครื่องจักร อะไรทำนองนั้น
    • ส่วนถ้าเลือกเขียนแบบเรื่องแต่ง หาแรงบันดาลใจจากผลงานอมตะทั้งหลายจะดีที่สุด อย่าคิดแต่จะเขียนตามกระแสนิยม แต่ให้ศึกษาจากเรื่องราวดีๆ ที่ไม่เลือนหายไปตามกาลเวลา คิดพิจารณาว่าอะไรที่ทำให้เรื่องพวกนั้นอยู่ยั้งยืนยง เช่น พวกนิทานอีสป นิทานพื้นบ้านของไทยและเทศ รวมถึงเทพนิยายและเทพปกรณัมต่างๆ เป็นต้น
    • เทพนิยายต่างๆ นี่แหละต้นแบบที่น่าศึกษา เห็นได้ง่ายๆ จากวงการหนัง-ละครต่างประเทศ ที่มักนำเรื่องราวเหล่านี้กลับมาปัดฝุ่นสร้างเวอร์ชั่นใหม่ๆ อยู่เสมอ (ละครจักรๆ วงศ์ๆ ของบ้านเราก็ไม่น้อยหน้า) ในเมื่อเทพนิยายเหล่านี้เก่าแก่ซะจนทุกคนสามารถนำไปขีดเขียนแต่งเติมกันได้ตามใจชอบ ทำไมคุณไม่ลองหยิบยืมเรื่องราวบางส่วนหรือตัวละครบางตัว ไปปรับใช้จนกลายเป็นเรื่องใหม่ที่น่าสนใจในแบบของคุณดูล่ะ!
  2. How.com.vn ไท: Step 2 คุณอยากเขียนให้เด็กช่วงวัยไหนได้อ่าน.
    หนังสือประเภท “หนังสือสำหรับเด็ก” นั้นครอบคลุมตั้งแต่หนังสือ board book (หนังสือกระดาษแข็ง) ที่มีหน้าละคำ ไปจนถึงหนังสือเป็นบทๆ นิทานนิยาย และตำราสารคดีที่เขียนให้เด็กโตชั้นมัธยมต้นและวัยรุ่น (หรือ young adult คือผู้ใหญ่ตอนต้น) ได้อ่านกัน จะเขียนให้ได้ดี พล็อต เนื้อหา และธีมของหนังสือนั้นต้องสัมพันธ์กันกับช่วงอายุของเด็กที่อ่าน (อย่าลืมว่าคนเลือกหนังสือให้ลูกๆ อ่านก็คือปราการด่านแรกอย่างพ่อแม่นั่นแหละ)
    • ถ้าเป็นหนังสือภาพก็ต้องสำหรับเด็กเล็กหน่อย ภาพต้องสีสันสดใส ทำให้ค่าพิมพ์แพงกว่าหนังสือแบบอื่นๆ ก็ต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย แต่ข้อดีก็คือเขียนแค่เรื่องสั้นๆ ก็พอ แต่ถึงสั้นก็ต้องประทับใจและให้ประโยชน์ในเวลาเดียวกัน
    • ส่วน Chapter book หรือหนังสือที่แบ่งออกเป็นหลายๆ บท รวมถึงพวกตำราหรือสารคดีต่างๆ จะเน้นไปที่เด็กโต ตั้งแต่หนังสืออ่านง่ายไปจนถึงนิยายวัยรุ่น ถือเป็นหนังสือประเภทที่ขายดีเป็นพิเศษ แต่ก็ต้องเขียนเยอะหน่อย และข้อมูลก็ต้องแน่นทีเดียว
    • ถึงไม่ค่อยมีใครเขียน แต่พวกบทกลอนกับเรื่องสั้นก็น่าสนใจ จริงๆ แล้วเด็กเขาก็ชอบอ่านกัน คุณจะลองเขียนดูก็ดี
  3. How.com.vn ไท: Step 3 เลือกว่าจะเขียนแต่เรื่อง เน้นภาพ หรือควบคู่กันไป....
    เลือกว่าจะเขียนแต่เรื่อง เน้นภาพ หรือควบคู่กันไป. ถ้าคุณเขียนให้เด็กเล็กอ่าน ก็ต้องมีภาพประกอบสวยๆ ด้วย ถ้าคุณเองพอวาดภาพได้ ก็ลองวาดภาพประกอบเรื่องของตัวเองซะเลย เพราะนักเขียนหนังสือเด็กหลายคนเขาก็ทำแบบนั้น แต่ถ้าไม่ค่อยถนัด ก็ต้องจ้างนักวาดมืออาชีพให้เขาสร้างสรรค์ผลงานสำหรับหนังสือของคุณ แต่ถ้าคุณเขียนหนังสือสำหรับเด็กโต จะใช้รูปวาด แผนภูมิ หรือภาพสีสดใสก็ได้ทั้งนั้น แต่ในบางเรื่องราว ถึงไม่ต้องมีภาพก็ไม่เป็นไร
    • ก่อนจะขอความช่วยเหลือจากนักวาด ให้ลองร่างภาพจากจินตนาการของคุณคร่าวๆ ว่าแต่ละหน้าจะมีรูปอะไรบ้าง เวลาแก้ไขปรับปรุงจะได้ง่ายๆ แถมสะดวกสำหรับนักวาด เพราะเขาจะได้พอรู้แนวทางว่าคุณต้องการแบบไหน
    • นักวาดแต่ละคนก็มีสไตล์และลายเส้นแตกต่างกันไป เพราะฉะนั้นให้ศึกษาและสอบถามดูให้ดีก่อนตัดสินใจ ลองหาดูตามเน็ตก็ได้ แล้วเข้าไปดู portfolio ของเขา แต่ถ้างบน้อยไม่พอจ้างมืออาชีพ ก็ลองหาเพื่อนหรือคนในครอบครัวที่วาดรูปเก่งๆ มาช่วยแทนได้เหมือนกัน
    • รูปถ่ายก็เป็นอีกตัวเลือกที่ดีสำหรับภาพประกอบ ถ้าคุณชอบถ่ายรูปอยู่แล้ว ก็เอารูปวิวรูปคนจริงๆ ไปใช้ซะเลย หรือจะเป็นรูปตุ๊กตุ่นตุ๊กตาและอื่นๆ ก็น่าสนใจ นอกจากนี้คุณยังสามารถเอารูปถ่ายนั้นๆ มาตกแต่งหรือตัดต่อเพิ่มเติมได้ด้วยโปรแกรมกราฟฟิกต่างๆ อีกด้วย
    โฆษณา
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 5:

จัดเตรียมเนื้อหา

ดาวน์โหลดบทความ
  1. How.com.vn ไท: Step 1 เลือกองค์ประกอบของเรื่องราว.
    จดไอเดียทั้งหมดไว้ในสมุดบันทึก พวกเรื่องที่ควรคำนึงถึงก็เช่น
    • เรื่องออกไปทางเด็กหรือผู้ใหญ่มากกว่ากัน เรื่องที่โด่งดังมักประกอบด้วยองค์ประกอบพื้นฐานดังต่อไปนี้: ตัวละครหลัก ตัวละครรอง ฉากที่น่าสนใจ และพล็อตที่เริ่มจากปมปัญหาหลัก เรื่องราวเข้มข้นขึ้น ไปจนถึงจุดไคลแมกซ์ และสุดท้ายปัญหาก็คลี่คลาย
    • สำหรับตำราหรือสารคดี มักให้ความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ ชีวประวัติ เหตุการณ์สำคัญๆ สิ่งต่างๆ รอบตัว ไม่ก็วิธีทำอะไรบางอย่าง
    • ถ้าเป็นหนังสือภาพ ก็ต้องมีภาพประกอบเยอะๆ สีสันสดใส ซึ่งอาจส่งผลต่อค่าพิมพ์บ้าง ส่วนตัวเรื่องนั้นถึงจะสั้นก็ต้องแปลกใหม่และให้ความรู้คู่ความสนุกสนาน บอกเลยว่าไม่ใช่ง่าย กับการประหยัดคำแต่ไม่ประหยัดคุณค่าของเรื่องราวแบบนี้
  2. How.com.vn ไท: Step 2 ถ้าเป็นนิทานหรือนิยายต้องแฝงไปด้วยคำสอนดีๆ....
    ถ้าเป็นนิทานหรือนิยายต้องแฝงไปด้วยคำสอนดีๆ. หนังสือเด็กส่วนใหญ่มักให้ข้อคิดดีๆ ตั้งแต่เรื่องพื้นๆ อย่าง “ต้องรู้จักแบ่งปันกัน” ไปจนถึงบทเรียนชีวิตที่ซับซ้อนกว่าอย่างการปรับตัวเมื่อสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก หรือปัญหาใหญ่อย่างการใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการเคารพให้เกียรติวัฒนธรรมของชนชาติอื่นๆ คำสอนต่างๆ นั้นอย่าพยายามยัดเยียดหรือใส่ไปทื่อๆ ไม่งั้นเรื่องจะออกมาหนัก ไม่สนุก แล้วเด็กเขาจะพาลไม่อ่านเอาได้
  3. How.com.vn ไท: Step 3 คิดนอกกรอบหน่อย.
    ถ้าคุณจะเขียนนิทานนิยาย ก็เขียนไปเลย จะติงต๊อง พิลึก เนิร์ด ชวนฝัน หรือมหัศจรรย์ก็ได้ทั้งนั้น อะไรที่คุณชื่นชอบเป็นพิเศษตอนเด็กๆ ล่ะ? เริ่มจากตรงนั้น แล้วค่อยขยับขยายต่อยอดไอเดีย แต่ไม่ใช่ให้จงใจเขียนประหลาดๆ เพราะแค่อยากเด่นดังนะ ตัวละครของคุณต้องจริงใจและสมเหตุสมผล ถ้าเขียนลวกๆ นี่คนอ่านเขารู้ทันทีเลย แล้วจะเสียแฟนๆ ไปก็เพราะแบบนี้ แต่ถ้าเขียนแบบเน้นสาระ ก็ถือเป็นเวลาแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณกับนักอ่านรุ่นใหม่ที่สนใจ ไม่ว่าจะเรื่องการทำอาหาร วิศวกรรม หรือศิลปะก็ตาม! ที่สำคัญคือสร้างสรรค์ได้แต่ต้องสมจริง ถึงจะเปี่ยมด้วยเนื้อหาแต่ก็ต้องคงไว้ซึ่งความสนุกน่าอ่าน เด็กเขาจะได้เข้าใจและอยากติดตามต่อไป
    • ลองเสนอไอเดียให้เด็ก จะเป็นลูกหรือหลานก็ได้ หรือลูกของเพื่อนสนิท เด็กๆ มักจะบอกความคิดออกมาอย่างซื่อตรง ดังนั้นพวกเขาจะช่วยคุณพัฒนาเรื่องราวขึ้นได้ถ้าหากเรื่องของคุณตรงกับช่วงอายุของพวกเขา
    โฆษณา
วิธีการ 3
วิธีการ 3 ของ 5:

ร่างเรื่องราว

ดาวน์โหลดบทความ
  1. How.com.vn ไท: Step 1 เริ่มร่างแรก.
    อย่าเพิ่งไปกังวลว่าจะออกมายังไง ยังไม่มีคนเห็นอยู่แล้ว ตอนนี้ให้สนใจร่างเรื่องราวทั้งหมดออกมาในกระดาษก่อน แล้วค่อยไปปรับแต่งกันทีหลัง มีหนังสือเยอะแยะที่จบไม่ลง จบไม่สวย เพราะคนเขียนไปเน้นผิดจุด รีบเข็นออกมาสู่สายตาคน ซะจนโดน สับ เพราะไม่ทันได้ตรวจทาน
  2. How.com.vn ไท: Step 2 นึกไว้เสมอว่าเขียนให้เด็กอายุเท่าไหร่อ่าน.
    ทั้งคำศัพท์ ไปจนถึงโครงสร้างและความยาวของประโยค ต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับช่วงอายุของเด็กที่อ่าน ถ้าคุณไม่แน่ใจตรงไหน ให้ลองไปคุยกับเด็กๆ ในช่วงอายุนั้นดู แล้วลองหยิบยกคำที่คุณเลือกใช้มา จะได้รู้ว่าพวกเขาเข้าใจมากน้อยแค่ไหน ถึงจะบอกว่าเด็กควรอ่านอะไรที่เกินความรู้ของตัวเองไปสักนิด แต่คงไม่สนุกถ้าเด็กต้องคอยเปิดพจนานุกรมควบคู่กันไปตลอดทุกสองคำ!
    • เขียนแต่ละประโยคให้ชัดเจนได้ใจความ ถ่ายทอดสิ่งที่คุณต้องการจะบอกได้ครบถ้วน นี่แหละหลักการเขียนเบื้องต้นสำหรับทุกเพศทุกวัย และยิ่งสำคัญสำหรับเด็กที่อยู่ในวัยเรียนรู้ เขาจะได้เรียนรู้ศัพท์ใหม่ๆ แต่ยังเข้าใจไปในเวลาเดียวกัน
    • แต่ก็อย่าดูถูกสติปัญญาของเด็ก เด็กสมัยนี้หัวไวจะตายไป ถ้าไปเขียนแบบ “ต่อให้” เพราะคิดว่าจะไม่เข้าใจละก็ แป๊บเดียวเด็กก็เบื่อแล้วเลิกอ่านไปเอง ถึงจะมีธีมที่สมวัย และภาษาที่เรียบง่ายชัดเจนแล้ว เรื่องราวของคุณยังต้องแปลกใหม่ให้เขาสนใจอยากอ่านกัน
    • อย่าตกยุค ไม่ใช่อะไรที่ตัวเองไม่ชอบหรือไม่เข้าใจก็เลี่ยงไม่เขียนซะอย่างงั้น เด็กๆ เขาชอบอ่านกันจะตาย อะไรที่กำลังอินเทรนด์ทั้งด้านภาษาและเรื่องราว คุณต้องรู้จักปรับตัว หัดเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ อย่างการเขียนโปรแกรมหรือศัพท์วัยรุ่นที่กำลังเป็นที่นิยม เรื่องและข้อมูลของคุณจะได้สมจริง แถมเป็นการเปิดโอกาสให้ตัวเองได้รู้เรื่องใหม่ๆ ไปพร้อมกัน!
  3. How.com.vn ไท: Step 3 ถ้าเป็นเรื่องแต่งต้องระบุทางแก้หรือจุดจบที่สมจริง....
    ถ้าเป็นเรื่องแต่งต้องระบุทางแก้หรือจุดจบที่สมจริง. ไม่จำเป็นต้องจบแบบ happy ending เสมอไป เพราะอาจไม่เป็นการดีกับนักอ่านรุ่นเยาว์ ก็ชีวิตจริงมันสวยงามตลอดซะที่ไหนล่ะ ตอนจบต้องสำคัญไม่แพ้เรื่องราวที่ผ่านๆ มา ไม่ใช่ตัดจบซะเฉยๆ บางทีก็จำเป็นต้องทิ้งช่วงจากการเขียนไปสักหน่อย แล้วค่อยกลับมาแต่งเติมในภายหลัง ถึงตอนนั้นคุณก็จะมีบทสรุปที่เหมาะสมในหัวของคุณแล้ว บางคนเขาก็ถึงกับคิดตอนจบเตรียมไว้แล้วตั้งแต่ยังไม่ทันลงมือเขียนเลยด้วยซ้ำ!
    • สำหรับเรื่องเน้นสาระ พยายามลงท้ายให้สมบูรณ์ครบถ้วนที่สุด อาจจบแบบปลายเปิดให้คนอ่านเก็บไปคิดต่อก็ได้ หรือเป็นบทสรุปว่าประเด็นของเรื่องทั้งหมดนี้คืออะไร ไม่ก็บอกใบ้เป็นแนวทางถึงเรื่องที่คนอ่านน่าจะลองหามาต่อยอดก็ได้ ไม่ว่าคุณจะเลือกแบบไหนขอให้สั้นกระชับเข้าไว้ เพราะนักอ่านรุ่นเยาว์เขาไม่ค่อยเสียเวลามาอ่านอะไรที่ยาวเกินครึ่งหน้าหลังจากอ่านเรื่องแนวตำราหรือสารคดีจบแล้วหรอก
    โฆษณา
วิธีการ 4
วิธีการ 4 ของ 5:

ตรวจแก้ให้สมบูรณ์

ดาวน์โหลดบทความ
  1. How.com.vn ไท: Step 1 ตรวจทานต้นฉบับของคุณ.
    อ่านทวนซ้ำๆ หลายๆ รอบ จนกว่าต้นฉบับของคุณจะเนี้ยบกริบ คุณอาจพบว่าเรื่องของคุณนั้นยาวไปหรือสั้นไป หรือถ้าเปลี่ยนมาเขียนด้วยมุมมองของตัวละครใหม่จะดีกว่า ถ้าต้องมีภาพประกอบด้วย คุณอาจพบว่าพอเพิ่มเติมบางภาพเข้าไปแล้ว ถึงกับเปลี่ยนโทนเรื่องกันเลยทีเดียว ขัดเกลาซะให้พอใจ จนกว่าจะได้ต้นฉบับสมบูรณ์พร้อมออกสู่สายตาประชาชน
    • แต่ก็ต้องรู้จักปล่อยวาง เรารู้ว่ามันยากที่จะตัดใจทิ้งส่วนไหนที่อุตส่าห์เขียนมาเป็นชั่วโมงๆ แต่อันไหนที่เห็นว่ามันไม่เข้าเค้าหรือไม่เข้าพวกก็ตัดไปเถอะ คิดจะเป็นนักเขียนก็แบบนี้แหละ การรู้จักตัดส่วนที่ไม่จำเป็นออกจากเนื้อเรื่อง นี่แหละจุดสำคัญของการเขียนหนังสือ ลองปลีกตัวจากการเขียนสักพักแล้วกลับมาดูใหม่ จะได้มองอย่างเป็นกลาง เห็นจุดที่ต้องแก้ไขได้ชัดเจน
  2. 2
    เช็คตัวสะกดกับไวยากรณ์ด้วย. พอเขียนเรื่องเสร็จ อ่านต้นฉบับเพื่อตรวจทานตัวสะกดกับไวยากรณ์ นอกเหนือความผิดพลาดเหล่านี้แล้ว ลองดูว่ามีการใช้คำซ้ำมากเกินไป คำที่ชวนให้เข้าใจผิดหรือสับสนได้ง่าย หรือประโยคที่เขียนยาวจนยืดเยื้อ
    • เครื่องมือตรวจตัวสะกดเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์อยู่ แต่มันไม่สามารถตรวจจับได้ทุกอย่าง อ่านทวนต้นฉบับซ้ำเพื่อความแน่ใจว่าได้เจอข้อผิดพลาดพื้นฐานทั้งหมด เว้นเวลาแต่ละครั้งที่อ่านต้นฉบับเพื่อสายตาจะไม่เกิดความคุ้นชินเกินไป
    • จำไว้ว่าประโยคที่ซับซ้อนและยาวเหยียดมีแต่จะทำให้ผู้อ่านสับสน ความท้าทายอย่างหนึ่งของการเขียนเพื่อเด็กคือการสื่อสารเรื่องราวที่ซับซ้อนได้รวบรัดและชัดเจน
  3. How.com.vn ไท: Step 3 ได้เวลานำเสนอผลงาน.
    ลองเอาต้นฉบับไปให้พ่อแม่พี่น้องเพื่อนฝูงอ่านกันดู แต่พอเป็นคนกันเองแล้วก็เลยไม่ค่อยจะได้รับคำติชมแบบจริงจังจริงใจสักเท่าไหร่ ก็แหม เขาแคร์ความรู้สึกคุณซะขนาดนั้น เพราะงั้นลองไปเข้าร่วม workshop ด้านการเขียนดู หรือจะตั้งกลุ่มนักเขียนขึ้นมาก็ได้ จะได้รู้ feedback จริงๆ สักทีว่าต้นฉบับของคุณเป็นยังไง
    • อย่าลืมเอาต้นฉบับไปลองให้กลุ่มเป้าหมายอ่าน ก็เด็กๆ ไงล่ะ จะเป็นคนอ่านให้เด็กๆ ฟังก็ได้ แล้วคอยสังเกตว่าเขา “เข้าใจ” กันไหม ตรงไหนที่ฟังแล้วเด็กเบื่อ อะไรประมาณนั้น
    • พิจารณาว่าหนังสือของคุณจะถูกใจพ่อแม่ คุณครู และบรรณารักษ์หรือเปล่า อย่าลืมว่าพวกนี้แหละคนควักกระเป๋าซื้อหนังสือของคุณตัวจริง ถ้าพวกเขาสนใจเรื่องของคุณด้วยก็สบายไป
    • พอได้ feedback จากหลายๆ แหล่งมาพอประมาณแล้ว ก็ถึงเวลาแก้ไขต้นฉบับกันอีกครั้ง
    โฆษณา
วิธีการ 5
วิธีการ 5 ของ 5:

เปิดตัวผลงานชิ้นสำคัญ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. How.com.vn ไท: Step 1 ถ้าพิมพ์ขายเอง.
    ถือเป็นทางเลือกที่ไม่ขี้ริ้วขี้เหร่และได้รับการยอมรับกันมากขึ้นแล้วในวงการสิ่งพิมพ์สมัยนี้ ลองค้นดูในเน็ต แล้วคุณจะเจอโรงพิมพ์มากมายที่พร้อมให้บริการพร้อมคำแนะนำในการสั่งพิมพ์ หรือจะทำเป็น e-book ก็ได้ แต่ถ้าชอบแบบพิมพ์เป็นเล่มก็ตามสะดวก พอพิมพ์เองแล้วจะลงทุนมากลงทุนน้อยก็แล้วแต่คุณเลย แต่ที่คนเขาชอบกันเพราะไม่ต้องมานั่งรอคอยความหวังจากสำนักพิมพ์ทั้งหลายกันเป็นเดือนๆ เหมือนสมัยก่อนนี่แหละ
    • หลายโรงพิมพ์ก็บริการดีและคุณภาพสูงกว่าที่อื่น เพราะฉะนั้นก่อนจะเลือกต้องศึกษาถึงขั้นว่าจะใช้กระดาษแบบไหน ขอดูตัวอย่างก่อนได้ไหม แล้วค่อยสั่งพิมพ์จริง
    • ถึงจะเลือกพิมพ์ขายเองแล้ว แต่สมัยนี้ก็มีหลายสำนักพิมพ์ที่รับพิจารณาต้นฉบับของคุณอยู่ดี และยิ่งดีซะอีกเพราะจะมีรูปเล่มที่สมบูรณ์แล้วให้เขาดูด้วย ถ้าอ่านง่ายและหน้าตาสวยงาม เขาอาจเทคะแนนให้คุณก็ได้นะ
  2. How.com.vn ไท: Step 2 ถ้าอยากส่งสำนักพิมพ์.
    ถ้าหมายมั่นปั้นมือไว้แล้ว ว่าจะต้องออกหนังสือกับสำนักพิมพ์ในดวงใจให้ได้ ก็ลองศึกษารายละเอียดต่างๆ จากในเว็บของสำนักพิมพ์หรือในเน็ตดู เช่น สำนักพิมพ์ในเครืออมรินทร์ เป็นต้น http://www.amarinpocketbook.com
    • เวลาจะส่งต้นฉบับต้องมีทั้งประวัติส่วนตัวและเรื่องย่อ เรื่องย่อนี่แหละด่านแรกว่าต้นฉบับของคุณจะตรงดิ่งลงถังไปหรือเปล่า ส่วนเวลาในการพิจารณานั้น กองบรรณาธิการส่วนใหญ่มักใช้เวลาประมาณ 1 - 3 เดือนขึ้นไป
    • ถ้าสำนักพิมพ์แรกปฏิเสธมา ก็ถึงเวลาส่งต้นฉบับไปสำนักพิมพ์ถัดไป เตือนกันไว้ตรงนี้ว่าให้ส่งทีละสำนักพิมพ์ เพราะถือว่าเสียมารยาทมากทีเดียวถ้าคุณหว่านส่งไปหลายๆ ที่พร้อมกัน
    • ถ้าต้นฉบับของคุณผ่านการพิจารณาแล้ว กองบรรณาธิการก็มักให้คำแนะนำติชมเพื่อแก้ไขปรับปรุงต่อไป (ไม่ผ่านก็เช่นกัน) คุณจะได้เอามารีไรท์ให้ตรงใจคนอ่านมากยิ่งขึ้น จากนั้นก็ถึงขั้นตอนการพิมพ์ ซึ่งก็แล้วแต่ตกลงทำสัญญากัน ว่าค่าเรื่องและจำนวนพิมพ์เท่าไหร่อย่างไร
  3. How.com.vn ไท: Step 3 พิมพ์เองอ่านกันเองก็สบายใจดี.
    แค่คุณเขียนหนังสือจบสักเล่มก็ถือว่าประสบความสำเร็จไปขั้นนึงแล้ว ไม่จำเป็นต้องตีพิมพ์ให้อ่านกันในวงกว้างเลยถ้าคุณไม่สนใจ บางทีก็ดีกว่าถ้าจะเผยแพร่ให้อ่านกันเฉพาะคนที่คุณสนิทสนมเท่ากัน ถ้าเป็นแบบนี้ก็แค่เอาต้นฉบับไปถ่ายเอกสารซะ แล้วเข้าเล่ม จากนั้นก็แจกจ่ายกันในหมู่เพื่อนพ้องน้องพี่ โดยเฉพาะลูกๆ หลานๆ น้องๆ ทั้งหลาย บางร้านก็มีบริการพิมพ์สีพร้อมเข้าเล่มเลยด้วยซ้ำ แบบนั้นจะได้ดูสวยงามเหมือนหนังสือจริงๆ เลยไง
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • ใส่อารมณ์ขันลงไปด้วย เด็กๆ เขาไม่กลัวที่จะแสดงออกอย่างสนุกสนานสร้างสรรค์หรอกนะ เพราะฉะนั้นคุณเองก็ใช้ไปเลย พวกคำ พวกสำนวนตลกๆ จะได้ดึงดูดใจให้เขาติดตาม
  • เด็กชอบเรื่องอะไรก็เขียนเรื่องแบบนั้น ถ้าคุณมีน้องหรือมีลูก ลองถามดูเลยว่าชอบเรื่องแบบไหน แล้วถ้าคุณเองก็คิดว่าน่าสนใจ จะรออะไรรีบไปเขียนเลย ปรากฏว่าเขียนแล้วจะออกมาสนุกกว่าที่คิดซะอีก
  • การใช้บุคลาธิษฐาน (ให้สัตว์หรือวัตถุพูดหรือทำท่าทางเหมือนมนุษย์) จะว่าง่ายก็ไม่ง่าย มีนักเขียนหลายคนเหมือนกันที่นิยมเขียนเรื่องแนว "หัวผักกาดพูดได้" หรือ "ปลากับก้อนหินคุยกัน" ถ้าคิดจะเขียนจริงๆ ก็ต้องเทคนิคเจ๋งพอ ไม่งั้นล่ะแป้กแน่
  • หลายคนนิยมเขียนหนังสือเด็กด้วยกันเป็นทีม ถ้าคิดจะจ้างนักวาดภาพประกอบ ก็อย่าลืมให้เครดิต ลงชื่อเขาไว้ในหนังสือของคุณด้วย
  • พวกบทกลอนหรือคำคล้องจองต่างๆ ถ้าเขียนดีๆ ก็เพราะแถมสนุก แต่ส่วนใหญ่จะออกแนวเสียงไม่พ้อง แถมไม่ค่อยมีเนื้อหาจริงจังอีกต่างหาก ถ้าเลี่ยงไม่ได้หรือตั้งใจจะมาทางนี้จริงๆ ก็ให้ใช้อย่างเหมาะสม ถ้าอยากแต่งกลอน จะแต่งเป็นกลอนเปล่าก็ได้ง่ายหน่อย แต่ถ้าจะให้คล้องจองเป็นจังหวะจะโคน ก็อย่าลืมเปิดพจนานุกรมเป็นระยะเพื่อหาคำพ้องที่มีความหมายตรงตามต้องการ
  • นึกอยู่เสมอว่าเขียนให้เด็กวัยไหนอ่าน เด็กเล็กหรือเด็กโต ต้องเจาะจงไปเลย
  • เนื้อหาต้องเหมาะสมกับช่วงอายุของคนอ่านที่คุณกำหนดไว้ เช่น อย่าใส่ศัพท์วัยรุ่นหรือคำสบถสาบานในหนังสือเด็กเล็ก และอย่าใช้คำง่ายเกินไปในหนังสือของเด็กโต
  • เขียนเฉพาะตอนที่อยากเขียนเท่านั้น
  • อะไรที่ตัดออกจากเรื่องนึง ให้บันทึกเก็บแยกไว้ก่อน เพราะอาจมีประโยชน์ในวันข้างหน้าก็ได้ (หนังสือเรื่องต่อไปของคุณไง)
โฆษณา

คำเตือน

  • น้อยคนที่จะเลี้ยงตัวได้เพราะเขียนหนังสือเด็ก วงการนี้มันเล็ก ทำรายได้ไม่เป็นกอบเป็นกำ ที่สำคัญคืออย่าเพิ่งด่วนลาออกจากงาน ถ้าเขียนเล่นๆ เป็นงานอดิเรก หรือเขียนฆ่าเวลาก็พอได้อยู่ เอาไว้ถ้าประสบความสำเร็จ เล่มแรกขายดีเป็นเทน้ำเทท่าขึ้นมาเมื่อไหร่ ค่อยมาคิดยึดเป็นอาชีพตอนนั้นก็ยังไม่สาย
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

How.com.vn ไท: Alexander Peterman, MA
ร่วมเขียน โดย:
ปริญญาโทด้านศึกษาศาสตร์
บทความนี้ ร่วมเขียน โดย Alexander Peterman, MA. อเล็กซานเดอร์ ปีเตอร์แมนเป็นติวเตอร์เอกชนในฟลอริดา เขาจบปริญญาโทด้านศึกษาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฟลอริดาในปี 2017 บทความนี้ถูกเข้าชม 9,329 ครั้ง
หมวดหมู่: พัฒนางานเขียน
มีการเข้าถึงหน้านี้ 9,329 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

⚠️ Disclaimer:

Content from Wiki How ไท language website. Text is available under the Creative Commons Attribution-Share Alike License; additional terms may apply.
Wiki How does not encourage the violation of any laws, and cannot be responsible for any violations of such laws, should you link to this domain, or use, reproduce, or republish the information contained herein.

Notices:
  • - A few of these subjects are frequently censored by educational, governmental, corporate, parental and other filtering schemes.
  • - Some articles may contain names, images, artworks or descriptions of events that some cultures restrict access to
  • - Please note: Wiki How does not give you opinion about the law, or advice about medical. If you need specific advice (for example, medical, legal, financial or risk management), please seek a professional who is licensed or knowledgeable in that area.
  • - Readers should not judge the importance of topics based on their coverage on Wiki How, nor think a topic is important just because it is the subject of a Wiki article.

โฆษณา