วิธีการ เพิ่มความแข็งแกร่งทางอารมณ์

ดาวน์โหลดบทความดาวน์โหลดบทความ

คุณรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนที่อะไรนิดอะไรหน่อยก็ร้องไห้ โกรธเรื่องไม่เป็นเรื่อง หรือวิตกกังวลตลอดเวลาหรือเปล่า แต่ไม่ว่าคุณจะรู้สึกอย่างไร คุณควรเริ่มทำความเข้าใจว่า ประสบการณ์ทางอารมณ์ต่างๆ นั้นเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ การมีความรู้สึกถึงอารมณ์อะไรก็แล้วแต่ไม่ใช่เรื่องที่ “ผิด” แต่อย่างใด [1] คุณไม่จำเป็นต้องกำจัดหรือทำเป็นไม่รู้สึกอะไรเพื่อรับมือกับอารมณ์[2] การจะเป็นคนที่มีความเข้มแข็งทางอารมณ์ได้นั้นก็เหมือนการสร้างความแข็งแกร่งให้กับร่างกาย คุณต้องเริ่มจากการฝึกช้าๆ อย่างสม่ำเสมอ สร้างความอึด และเพิ่มความแข็งแกร่งขึ้นไปเรื่อยๆ

วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 4:

รับมือกับอารมณ์ในขณะนั้น

ดาวน์โหลดบทความ
  1. How.com.vn ไท: Step 1 หยุดทำในสิ่งที่กำลังทำอยู่และปรับความสนใจใหม่....
    หยุดทำในสิ่งที่กำลังทำอยู่และปรับความสนใจใหม่. ในขณะที่อารมณ์กำลังเดือดปะทุ อารมณ์ที่คุณกำลังรู้สึกก็อาจจะถาโถมเข้าใส่คุณไม่ยั้ง ถ้ามันเป็นอารมณ์ด้านบวกคุณก็จะรู้สึกดีกับตัวเองมากๆ แต่ถ้ามันเป็นความเศร้าหรือความกังวล มันก็อาจจะโจมตีรวดเร็วมากคุณจนคุณควบคุมไม่ได้ หยุดทำในสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่สักพักและเอาใจไปไว้ที่ประสาทสัมผัสทั้งห้า วิธีนี้จะช่วยเตือนให้คุณอยู่กับปัจจุบันและช่วยให้คุณควบคุมความกังวลหรือความโกรธได้มากขึ้น [3]
    • ลองหยุดแล้วสังเกตปฏิกิริยาของร่างกายโดยที่ไม่ต้องตัดสินมัน เช่น ถ้าอยู่ๆ คุณก็รู้สึกกังวลขึ้นมา ให้ลองคิดว่าร่างกายของคุณกำลังรู้สึกอย่างไร “ตัวของฉันร้อนผ่าว หัวใจเต้นเร็วมาก ฉันหายใจไม่ทั่วท้องเลย มือก็สั่นด้วย” ไม่ต้องไปใส่ใจกับความรู้สึกเหล่านี้ แค่เฝ้าดูมันและปล่อยให้มันผ่านไป [4]
    • การเอาใจไปอยู่กับปัจจุบันยังช่วยลด “ปฏิกิริยาอัตโนมัติ” ได้อีกด้วย เพราะสมองสร้างนิสัยการมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งเร้าซึ่งได้แก่ประสบการณ์ทางอารมณ์ต่างๆ ดังนั้น เมื่อไหร่ก็ตามที่มีสิ่งเร้าเช่นความกังวลหรือความโกรธเข้ามา สมองก็จะสั่งการให้รูปแบบปฏิกิริยาเหล่านี้ทำงานทันที การมุ่งความสนใจไปที่ประสาทสัมผัสทั้งห้าที่คุณกำลังเผชิญอยู่จะทำลายรูปแบบอัตโนมัติที่ว่านี้ออกจากสมอง ถ้าคุณฝึกปรับใจให้มาอยู่กับประสาทสัมผัสทั้งห้าที่กำลังเกิดขึ้นบ่อยๆ เข้า สมองของคุณก็จะเริ่มสร้าง “นิสัย” ใหม่ขึ้นมา [5]
    • “การสังเกตตนเอง” คือการฝึกสำรวจการรับรู้และประสบการณ์ของจิตใจ ซึ่งจะช่วยให้คุณคลายปมจากหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันในช่วงเวลาเดียวได้ เช่น หลายคนไม่รู้ว่า “การรับรู้” นั้นประกอบด้วยเส้นทางข้อมูลหลายเส้นทาง บ่อยครั้งที่ปฏิกิริยาทางอารมณ์ของเราเกิดจากการรวมตัวกันของอารมณ์และประสาทสัมผัสต่างๆ ที่เข้ามาในคราวเดียวกันจนเราแทบแบกรับมันไม่ไหว การทำสิ่งต่างๆ ให้ช้าลงและปรับความสนใจมาอยู่ที่เหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน เช่น คุณกำลังเห็นอะไร ได้ยินอะไร และได้กลิ่นอะไรนั้นจะช่วยให้คุณปรับโครงสร้างนิสัยเก่าในสมองได้ใหม่และเรียนรู้วิธีที่จะทำความเข้าใจกับ “กระแสข้อมูล” ที่แตกต่างกันเหล่านี้ [6]
  2. How.com.vn ไท: Step 2 หายใจ.
    เมื่อร่างกายของคุณเผชิญกับอารมณ์ที่บีบคั้น ร่างกายก็จะมีปฏิกิริยา “การตอบสนองต่อความเครียด” ความรู้สึก “สู้หรือหนี” จะเกิดขึ้นเมื่อระบบประสาทซิมพาเธติกถูกกระตุ้นด้วยฮอร์โมนอย่างอะดรีนาลีน อัตราการเต้นของหัวใจคุณจะพุ่งทะยาน คุณจะหายใจเร็วขึ้นและตื้นขึ้น กล้ามเนื้อจะตึงและเกร็ง [7] การหายใจลึกๆ ช่วยให้คุณรู้สึกผ่อนคลายขึ้นและช่วยให้คุณกลับเข้าสู่ภาวะ “ปกติ” ได้[8][9]
    • หายใจจากช่องท้อง ไม่ใช่จากหน้าอก แล้วคุณจะรู้สึกว่าช่องท้องช่วงล่างของคุณพองขึ้นเวลาที่คุณหายใจเข้า และยุบลงเมื่อคุณหายใจออก[10]
    • วิธีที่ช่วยให้คุณหายใจได้อย่างถูกต้องก็คือ วางมือข้างหนึ่งไว้บนหน้าอก อีกข้างหนึ่งวางไว้บนช่องท้อง ยืนตัวตรง นอนราบ หรือนั่งหลังตรงเพื่อให้หน้าออกเปิดออก ค่อยๆ หายใจเข้าช้าๆ ลึกๆ ผ่านรูจมูก รวมสมาธิไว้ที่ปอดและช่องท้องที่กำลังขยายตัวขึ้นขณะที่คุณหายใจเข้า จากนั้นหายใจออกผ่านรูจมูกหรือปาก พยายามหายใจให้ได้ 6-10 ครั้งใน 1 นาที[11]
    • รวมสมาธิไปที่การหายใจเข้าออกช้าๆ ลึกๆ วิธีนี้จะช่วยเพิ่มออกซิเจนเข้าสู่ร่างกาย (และช่วยเบี่ยงเบนความสนใจของคุณออกจากภาวะอารมณ์ที่กำลังเกิดขึ้นด้วย) [12]
  3. How.com.vn ไท: Step 3 ยิ้ม.
    ตอนแรกๆ มันอาจจะรู้สึกฝืนๆ แต่จากการวิจัยพบว่าการยิ้มทำให้คุณรู้สึกดีขึ้นได้จริงๆ[13]
    • การยิ้มช่วยคลายความเครียดได้ พยายามยิ้มโดยใช้กล้ามเนื้อใบหน้าทุกส่วนไม่ใช่แค่กล้ามเนื้อที่อยู่รอบๆ ปาก รอยยิ้มที่ใช้กล้ามเนื้อทั้งใบหน้าและสะท้อนไปถึงดวงตาให้ความรู้สึกถึงรอยยิ้มที่เป็นธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายของคุณรู้สึกถึงพลังด้านบวกได้มากขึ้น[14]
  4. How.com.vn ไท: Step 4 วาดภาพในจินตนาการ.
    การสร้างภาพประสบการณ์ที่สงบและผ่อนคลายช่วยให้คุณกลับมาควบคุมปฏิกิริยาทางอารมณ์ได้อีกครั้ง[15] คุณอาจจะรู้สึกว่าเทคนิคนี้ต้องอาศัยการฝึกฝนสักหน่อย แต่มันช่วยให้คุณเปลี่ยนความคิดที่เคร่งเครียดไปสู่ความคิดที่คุณสามารถรับมือได้อย่างสบายใจมากขึ้น[16]
    • เริ่มต้นจากการเลือก “ที่ปลอดภัย” คุณจะคิดถึงที่ไหนก็ได้ที่ทำให้คุณรู้สึกผ่อนคลายและใจสงบ อาจจะเป็นชายทะเล สปา ยอดดอย หรือที่ไหนก็ได้ที่คุณคิดว่ามันทำให้คุณรู้สึกปลอดภัยและผ่อนคลาย
    • หาสถานที่ที่คุณสามารถฝึกวาดภาพในจินตนาการได้ ถ้าจะให้ดีควรเป็นที่ที่เงียบสงบและสะดวกสบายที่คุณสามารถใช้จินตนาการได้ และควรเป็นที่ที่ไม่มีใครมารบกวนสัก 3-4 นาที
    • หลับตาแล้ววาดภาพตัวเองอยู่ในสถานที่ปลอดภัย จินตนาการว่าสถานที่นั้นเป็นอย่างไร เกิดอะไรขึ้นที่นั่น กลิ่นรอบข้างเป็นอย่างไร ได้ยินเสียงอะไรบ้าง พยายามแทรกซึมตัวเองเข้าไปในสถานที่ปลอดภัย
    • หายใจช้าๆ และสม่ำเสมอ พยายามผ่อนคลายกล้ามเนื้อถ้ามันตึง ถ้าคุณรู้สึกอึดอัดใจหรือกระวนกระวายก็อย่าไปตัดสินตัวเองที่ตรงนั้น พยายามวาดภาพตัวเองอยู่ในสถานที่ที่ผ่อนคลายและรวบรวมสมาธิไปที่การทำใจให้สบาย
    • จินตนาการว่าอารมณ์ในแง่ลบนั้นเป็นวัตถุที่จับต้องได้ แรกๆ คุณอาจจะรู้สึกแปลกๆ แต่พยายามฝึกอย่างสม่ำเสมอ จินตนาการว่าอารมณ์ในแง่ลบต่างๆ เป็นเหมือนสิ่งของที่คุณสามารถกำจัดออกไปจากสถานที่ปลอดภัยที่คุณจินตนาการขึ้นมาได้ เช่น คุณอาจจะวาดภาพความโกรธเป็นเหมือนไฟ ไฟลุกโชนไม่ได้ถ้าไม่มีออกซิเจน จินตนาการถึงความโกรธว่าเป็นดั่งไฟและนั่งมองมันมอดดับลง หรือคุณอาจจะจินตนาการความเครียดว่าเป็นเหมือนแท่งไม้ คุณสามารถโยนแท่งไม้ออกไปจากชายทะเลที่ปลอดภัยของคุณได้และจินตนาการว่าความเครียดก็ออกจากใจคุณตามแท่งไม้นั้นไป
  5. How.com.vn ไท: Step 5 ฝึกจัดการกับความเครียด.
    เวลาที่คุณเครียด คุณจะรู้สึกว่าตัวเองแทบจะควบคุมอารมณ์ไม่ได้เลย แม้ว่าการตัดทุกสิ่งที่ทำให้คุณเครียดออกไปจากชีวิตอาจจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่คุณก็สามารถเรียนรู้ที่จะรับมือกับความเครียดที่เกิดจากสิ่งเหล่านั้นได้ วิธีที่จะช่วยให้คุณสงบสติอารมณ์ได้ในสถานการณ์ที่ตึงเครียดได้แก่:[17]
    • หายใจลึกๆ 5 ครั้ง หายใจเข้าทางจมูก กลั้นหายใจในร่างกายสักพักแล้วค่อยหายใจออกทางปาก การจดจ่อไปที่ลมหายใจจะช่วยให้คุณรวบรวมสติขึ้นมาได้และทำให้ใจของคุณสงบขึ้น
    • นับ 1 ถึง 10 เวลามีเรื่องเครียดๆ ให้เวลาตัวเองรวบรวมสติ 10 วินาที ถ้าคุณต้องการเวลาเพิ่ม ให้นับเป็น ‘มหาสารคาม 1 มหาสารคาม 2 มหาสารคาม 3...’ ไปเรื่อยๆ
    • เดินออกมาจากตรงนั้น การทำแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าคุณจะหนีปัญหา แต่มันช่วยให้คุณได้เดินออกมาจากสถานการณ์ตรงนั้น สูดลมหายใจ และพิจารณาหาวิธีแก้ไข ถ้าคุณกำลังรับมือกับคนที่ทำให้คุณเครียด บอกเขาหรือเธอว่าคุณต้องการเวลารวบรวมความคิดสักหน่อยด้วยการออกไปเดินเล่น
  6. How.com.vn ไท: Step 6 ทำความรู้จักกับกระบวนการทางความคิดที่บิดเบือน....
    ทำความรู้จักกับกระบวนการทางความคิดที่บิดเบือน. ในบางช่วง คุณอาจจะเผลอกลับไปมีปฏิกิริยาทางอารมณ์แบบเดิมๆ แม้มันจะไม่ดีกับตัวคุณเองก็ตาม ปฏิกิริยาทางอารมณ์เหล่านี้มักจะรวมตัวกันทำให้คุณถูกอารมณ์ของตัวเองจู่โจมจนรู้สึกรับมือไม่ไหว การทำความรู้จักกับ “กับดัก” ที่คุณมักพลาดตกลงไปจะช่วยให้คุณดึงสติออกจากอารมณ์ได้ดีขึ้น การคิดว่าไม่มีอะไรแย่ไปกว่านี้แล้ว การคิดแบบเหมารวม และการมองโลกแบบขาวกับดำคือความคิดบิดเบือนที่พบได้บ่อยมาก[18]
  7. How.com.vn ไท: Step 7 ตระหนักรู้และท้าทายความคิดที่ว่า ไม่มีอะไรแย่ไปกว่านี้แล้ว....
    ตระหนักรู้และท้าทายความคิดที่ว่า ไม่มีอะไรแย่ไปกว่านี้แล้ว. ความคิดที่ว่าไม่มีอะไรแย่ไปกว่านี้แล้วจะเกิดขึ้นเมื่อเหตุการณ์หรือประสบการณ์บางอย่าง ซึ่งส่วนมากจะเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ค่อยสำคัญเท่าไหร่ เริ่มจะใหญ่เกินกว่าที่เป็นอยู่ ความคิดของคุณก็จะเริ่มคดเคี้ยวจนเหนือการควบคุม แล้วคุณก็จะวาดภาพถึงเหตุการณ์เลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นจนทำให้คุณรู้สึกโกรธ เศร้า หรือกังวล [19]
    • เช่น ลองนึกภาพว่าคุณโทรศัพท์ไปหาคนรักแล้วเขา/เธอไม่รับสายคุณ 2-3 นาที หลังจากนั้นคุณก็โทรศัพท์ไปอีกแต่ปรากฏว่าเสียงปลายสายก็ยังให้คุณฝากข้อความไว้เหมือนเดิม ที่นี้ความคิดที่ว่าไม่มีอะไรแย่ไปกว่านี้แล้วก็จะเริ่มก่อตัวขึ้นและทำให้เหตุการณ์ใหญ่เกินจริง: “เขา/เธอไม่รับสายฉัน สงสัยจะโกรธฉันแน่ๆ ฉันไม่รู้ด้วยซ้ำว่าฉันทำอะไรผิด ไม่เห็นเขา/เธอจะบอกฉันเลยว่าฉันทำอะไรผิด เขา/เธอคงไม่อยากคุยกับฉัน บางทีเขา/เธออาจจะเบื่อฉันแล้วก็ได้”
    • ท้าทายความคิดที่ว่าไม่มีอะไรแย่ไปกว่านี้แล้วด้วยการไม่ปล่อยให้ใจกระโดดจากความคิดหนึ่งไปยังอีกความคิดหนึ่งจนกว่าคุณจะวิเคราะห์หลักฐานเพื่อมาสนับสนุนการสันนิษฐานของคุณได้ เช่น จากตัวอย่างนี้ การท้าทายความคิดที่บิดเบี้ยวนี้อาจจะเป็น: “แฟนไม่รับโทรศัพท์ฉันเลย แต่เขา/เธอก็ไม่ได้โกรธอะไรฉันมาก่อนนี่นา เพราะฉะนั้นตอนนี้เขา/เธอก็คงไม่ได้โกรธอะไรฉันหรอกมั้ง ถ้าเขา/เธอโกรธ ก็ค่อยถามเขา/เธอทีหลังก็ได้ว่าโกรธเรื่องอะไร แล้วค่อยคุยกันทีหลัง” คุณอาจจะเตือนตัวเองด้วยว่ามีเหตุผลมากมายร้อยแปดที่จะทำให้คนเราไม่ได้รับโทรศัพท์ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง เช่น: ยุ่งอยู่ ขับรถอยู่ ไม่เห็น/ไม่ได้ยินเสียงโทรศัพท์ [20]
  8. How.com.vn ไท: Step 8 ตระหนักรู้และท้าทาย ความคิดแบบเหมารวม.
    การคิดแบบเหมารวมก็คือการที่คุณเหมาคิดไปเองว่า เหตุการณ์นี้จะต้องเป็นแบบนี้ทั้งๆ ที่มันเป็นคนละสถานการณ์กัน การคิดแบบเหมารวมจะทำให้คุณยึดติดกับความเชื่อเกี่ยวกับตัวเองที่ไม่เป็นผลดีต่อตัวคุณ (และไม่ถูกต้องด้วย)[21]
    • เช่น ลองนึกภาพคุณไม่ได้งานหลังจากที่ไปสัมภาษณ์มาแล้ว การคิดแบบเหมารวมที่มีผลต่อมุมมองของคุณในสถานการณ์นี้ก็เช่น “ฉันนี่มันห่วยจริงๆ เลย ตอนสัมภาษณ์ฉันทำทุกอย่างพังไปหมด นี่ฉันต้องไม่มีวันได้งานแน่ๆ”
    • ท้าทายความคิดแบบเหมารวมด้วยการยึดหลักฐานและรายละเอียดตามสถานการณ์เป็นหลัก คุณไม่มีหลักฐานอะไรมายืนยันว่าคุณ “ห่วย” เหตุผลทั่วไปที่ทำให้คุณไม่ได้งานก็เช่น ทักษะที่คุณมีมันอาจจะไม่เข้ากับบริษัท หรือบุคลิกของคุณอาจจะไม่เข้ากับพนักงานคนอื่น คุณอาจจะทำพลาดตอนสัมภาษณ์จริงๆ หรืออาจจะไม่ก็ได้ แต่เหตุการณ์ในครั้งนี้ก็ไม่ได้สะท้อนมุมมองความเป็นคุณในทุกๆ ด้าน พยายามมองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นรายสถานการณ์ไป และมุ่งความสนใจไปที่ว่าคุณจะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดเช่นเดียวกันนี้ในอนาคตได้อย่างไร: “ฉันว่าตอนสัมภาษณ์ฉันยังทำได้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ฉันประหม่าจริงๆ ครั้งหน้าฉันจะฝึกสัมภาษณ์งานกับเพื่อนก่อนไปสัมภาษณ์งานจริงๆ”[22]
  9. How.com.vn ไท: Step 9 ตระหนักรู้และท้าทาย การมองโลกแบบขาวกับดำ.
    การมองโลกแบบขาวกับดำทำให้คุณไม่สามารถให้ตัวเอง (หรือบางครั้งก็คนอื่นๆ ด้วย) อยู่ตรงกลางได้ ถ้าอะไรๆ มันออกมาไม่สมบูรณ์แบบก็เท่ากับว่ามันล้มเหลว การมองโลกแบบขาวกับดำจะทำให้คุณรับมือกับคำวิจารณ์ได้ยากแม้จะเป็นการติเพื่อก่อ นอกจากนี้ยังอาจทำให้คุณรู้สึกเศร้ากับตัวเองหรือรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า เพราะคุณตั้งมาตรฐานที่เป็นไปไม่ได้และไม่ก่อให้เกิดการพัฒนาตัวเอง[23]
    • เช่น สมมติว่าคุณกำลังควบคุมอาหาร คุณออกไปกินข้าวกลางวันกับเพื่อนแล้วตบท้ายมื้ออาหารด้วยเค้ก 1 ชิ้น การมองโลกแบบขาวกับดำจะทำให้คุณมองว่านี่คือความล้มเหลว และอาจทำให้คุณวิจารณ์ตัวเองอย่างรุนแรงว่า: “แผนพังหมดก็เพราะฉันกินเค้กนี่แหละ ฉันกะแล้วว่าตัวเองจะต้องทำตามแผนใหม่นี้ไม่ได้ ต่อไปนี้ฉันว่าอยากกินอะไรก็กินไปเลยดีกว่า”
    • ท้าทายการมองโลกแบบขาวกับดำด้วยการรักตัวเองให้มากๆ คุณจะวิจารณ์เพื่อนแรงขนาดนั้นไหมถ้าเพื่อนกินเค้กไปชิ้นนึง ไม่หรอกใช่ไหม แล้วทำไมคุณถึงต้องว่าตัวเองแรงขนาดด้วยล่ะ เลิกมองความสำเร็จในมุมที่ว่า ถ้าไม่ชนะก็แพ้ ที่ทุกอย่างต้องเป็นไปตามแผนถึงจะบรรลุเป้าหมายได้ พยายามมองความสำเร็จให้เป็น ระหว่างทาง เป็นหนึ่งในกระบวนการที่กำลังทำให้เกิดการเติบโตและการเปลี่ยนแปลง: “ฉันกินเค้กชิ้นนั้นเข้าไป ซึ่งถึงมันจะไม่ได้ช่วยให้ฉันทำตามแผนควบคุมอาหารที่ฉันวางไว้ได้ แต่ มันก็ไม่ได้ร้ายแรงอะไร เดี๋ยวมื้อเย็นฉันค่อยกลับไปกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพเพื่อให้ฉันกลับมาควบคุมอาหารได้เหมือนเดิมก็แล้วกัน”[24]
    โฆษณา
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 4:

รู้จักและรักตัวเอง

ดาวน์โหลดบทความ
  1. How.com.vn ไท: Step 1 ยอมรับความเปราะบางของคุณ.
    การเพิ่มความแข็งแกร่งทางอารมณ์ไม่ใช่การทำให้ตัวเองไม่หวั่นไหวกับสิ่งใดเลย ที่จริงแล้วความเปราะบางถือเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ช่วยให้คุณได้พัฒนาความสามารถในการเชื่อมโยงตัวเองกับผู้อื่น ได้รับประสบการณ์อย่างเต็มเปี่ยม และยอมรับตัวเอง[25] ความเปราะบางหมายถึงการเปิดรับประสบการณ์ต่างๆ และการยอมรับว่าทุกสิ่งอาจจะไม่ได้เป็นไปอย่างที่ใจเราหวังเสมอไป
    • ถ้าไม่มีความเปราะบาง คุณก็อาจจะไม่สามารถเปิดรับประสบการณ์ที่มีรากฐานมาจากความไม่มั่นคงได้ เช่น ความรัก ความเชื่อใจ และความคิดสร้างสรรค์[26]
    • พยายามอย่าเป็นพวกสมบูรณ์แบบนิยม สมบูรณ์แบบนิยมมักจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับความทะเยอทะยานที่เสริมแรงหรือความปรารถนาที่จะให้ตัวเองเป็นเลิศ แต่ในความเป็นจริง สมบูรณ์แบบนิยมมักมีรากฐานมาจากการกลัวความเปราะบาง และความปรารถนาที่จะให้ตนเป็นคน “สมบูรณ์แบบ” เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเผชิญหน้ากับความพ่ายแพ้หรือความกลัว สมบูรณ์แบบนิยมยึดคุณไว้กับมาตรฐานที่เป็นไปไม่ได้ และตอกย้ำว่าคุณจะต้องได้รับการยกย่องจากผู้อื่น ความเปราะบางจะทำให้คุณปรารถนาที่จะประสบความสำเร็จและบรรลุเป้าหมาย แต่ในขณะเดียวกันก็เข้าใจว่าความพ่ายแพ้เกิดขึ้นได้เสมอ[27]
  2. How.com.vn ไท: Step 2 ค้นหาความเชื่อที่เป็นแก่นของตัวเอง.
    ในการที่จะเพิ่มความแข็งแกร่งทางอารมณ์ให้กับตัวเองนั้น คุณต้องเข้าใจว่าความคิดของคุณที่มีต่อตัวเองและต่อโลกนั้นเป็นอย่างไร ความคิดเหล่านี้ก่อตัวมาเป็นระยะเวลานานและหล่อหลอมปฏิกิริยาทางอารมณ์ของคุณ บางครั้งความเชื่อที่เป็นแก่นของชีวิตคุณมันอาจจะตึงเกินไปจนทำให้คุณไม่สามารถเพิ่มความแข็งแกร่งทางอารมณ์ให้กับตัวเองได้[28]
    • พยายามมองหาว่าตัวเองมีความเชื่อประเภท เสมอ หรือ ไม่เลย หรือเปล่า สถานการณ์ส่วนใหญ่ของชีวิตจะไม่โอนเอียงไปข้างใดข้างหนึ่งแบบสุดขั้ว เพราะฉะนั้นการน้อมนำเอาความเชื่อที่มีพื้นฐานการมองโลกแบบขาวกับดำมาเป็นแก่นของชีวิตอาจจะทำให้คุณไม่สามารถหลุดพ้นไปจากการพยายามไปให้ถึงมาตรฐานที่ไม่มีวันเป็นจริงได้
    • เช่น คุณมีความเชื่อเรื่องความรับผิดชอบอย่างไร คุณคิดว่าคุณต้องรับผิดชอบต่อการกระทำและพฤติกรรมของคุณหรือไม่ ถ้าใช่ นั่นเป็นความคิดที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อตัวคุณเอง แล้วคุณเชื่อว่าคุณต้องรับผิดชอบต่อการกระทำและพฤติกรรมของคนอื่นด้วยหรือเปล่า ไม่แปลกเลยที่เราจะเชื่อว่า เราต้องรับผิดชอบต่อการจัดการกับประสบการณ์และพฤติกรรมของทุกคนที่อยู่รอบตัวเราเหมือนที่เรารับผิดชอบตัวเราเอง แต่จริงๆ แล้วนั่นเป็นความคิดที่ผิด[29]
  3. How.com.vn ไท: Step 3 ไตร่ตรองเรื่องที่คุณคิดว่าคุณ “ควร” ทำในชีวิตของคุณ....
    ไตร่ตรองเรื่องที่คุณคิดว่าคุณ “ควร” ทำในชีวิตของคุณ. Clayton Barbeau นักจิตวิทยาพูดถึงวลีที่ว่า "ฉันควรจะทำอย่างนั้นอย่างนี้" ว่าเป็นกระบวนการคิดบิดเบี้ยวที่ทำให้คุณรู้สึกว่าคุณจำเป็นต้องทำอะไรบางอย่าง ความรู้สึกนี้มักจะเกิดขึ้นเมื่อคุณเปรียบเทียบการกระทำหรือความรู้สึกของตัวเองกับมาตรฐานภายนอก[30] การที่คุณพูดว่าคุณ “ควรจะ” อาจทำให้คุณต้องมานั่งรู้สึกผิดและละอายใจ แทนที่จะมีพลังไปเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในแบบที่สอดคล้องกับค่านิยมของตัวเอง เพราะฉะนั้นเวลาที่เผชิญหน้ากับความคิดที่ว่าฉัน “ควรจะ” ให้ไตร่ตรองให้ดีว่า ทำไม คุณถึงรู้สึกว่าคุณ “ควรจะ” ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ [31]
    • เช่น ถ้าคุณกำลังคิดว่าจะควบคุมอาหารเพราะว่าคุณ “ควร” ลดน้ำหนัก ลองถามตัวเองว่าทำไมคุณถึง “ควร” ทำอย่างนั้น เพราะว่าคุณมีเป้าหมายเรื่องสุขภาพในใจ หมอเคยคุยเรื่องน้ำหนักตัวกับคุณหรือเปล่า คุณ อยากมีรูปร่างแบบที่คุณอยากให้เป็นหรือเปล่า หรือว่าคุณรู้สึกว่าคุณ “ควร” ลดน้ำหนักเพราะคุณรู้สึกได้ถึงความกดดันจากคนอื่นว่าจะมองมาหรือมีปฏิกิริยาต่อคุณอย่างไร
    • สังคมมักสร้างความกดดันให้กับคนในสังคมด้วยคำว่า “ควร” ในหลายๆ เรื่องที่อาจทำให้เรารู้สึกว่าเราต้องยอมรับมันไปโดยปริยาย: คุณควรจะมีรูปร่างหน้าตาเหมือนคนในนิตยสารนะ คุณควรใส่เสื้อผ้าไซส์นี้นะ คุณควรมีเซ็กส์บ่อย/ไม่มีเซ็กส์เลย คุณควรจะมีความสุขนะ คุณควรเป็นคนรัก/พ่อแม่/ญาติพี่น้อง/นักเรียน/ลูกจ้าง/นายจ้าง “ที่ดี” นะ การยอมรับความกดดันจากคนอื่นเข้ามาในชีวิตมากกว่าการทำในสิ่งที่เข้ากับค่านิยมของเราเพื่อตัวเราเองอาจทำให้เรารู้สึกเหนื่อยใจได้
  4. How.com.vn ไท: Step 4 เรียนรู้ที่จะรักตัวเอง.
    บางครั้งคนเราก็จิตใจอ่อนแอเพราะความกลัวเกี่ยวกับตัวเองที่ถาโถมเข้ามาจนอยู่เหนือความคิดอื่นๆ เช่น การมีคุณค่าพอที่จะได้รับความรัก การยอมรับ และความสุข ความกลัวเหล่านี้ก่อให้เกิดความกังวล (“คนอื่นจะยอมรับฉันไหม”) และความกดดัน (“ฉันไม่มีค่าพอสำหรับสิ่งใดเลย”) การฝึกรักตัวเองจะช่วยให้คุณได้เรียนรู้ที่จะรักและยอมรับตัวเอง ซึ่งจะเพิ่มความแข็งแกร่งทางอารมณ์ได้ง่ายขึ้นเวลาที่คุณมีปฏิสัมพันธ์ทางอารมณ์กับผู้อื่น [32] นักจิตวิทยากล่าวว่า การรักตัวเองนั้นประกอบด้วย 3 สิ่งคือ: การมีเมตตาต่อตัวเอง การเห็นความเป็นมนุษย์ในตัวเรา และการมีสติรู้อยู่กับปัจจุบัน[33]
  5. How.com.vn ไท: Step 5 ฝึก มีเมตตาต่อตัวเอง.
    สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับการวิพากษ์วิจารณ์ตัวเอง เรามักจะถูกสอนให้มองหาความสมบูรณ์แบบ และความไม่สมบูรณ์แบบคือความล้มเหลว แต่มันจะดีกับตัวเองมากกว่าไหมถ้าคุณมองตัวเอง (และคนอื่น) ว่าเป็น "ผลงานที่กำลังดำเนินการอยู่" งานวิจัยกล่าวว่า สมบูรณ์แบบนิยมคือสิ่งที่รั้งคุณไว้จากความสำเร็จที่แท้จริง[34][35]
    • ความแข็งแกร่งทางอารมณ์มาจากการที่คุณแผ่ขยายความเข้าใจให้กับตัวคุณเองในแบบที่คุณมีต่อเพื่อน เช่น ถ้าเพื่อนสนิทของคุณทำผิดพลาด คุณก็อาจจะรับรู้ถึงความผิดนั้น แต่คุณก็ยังให้อภัยและรักเพื่อนอยู่ดี เพราะฉะนั้นทำแบบนี้กับตัวคุณบ้าง
  6. How.com.vn ไท: Step 6 รับรู้ถึง ความเป็นมนุษย์ในตัวคุณ.
    สิ่งนี้ตรงข้ามกับการแยกตัวอยู่อย่างโดดเดี่ยว คนเรามักจะเชื่อว่ามีแต่เราเท่านั้นที่ประสบพบเจอกับความเจ็บปวดจากความผิดพลาดและประสบการณ์ในชีวิต ราวกับว่าไม่มีใครในโลกนี้เคยผ่านความเจ็บปวดหรือทำผิดพลาดเช่นเดียวกันกับเรามาก่อน การรับรู้ความเป็นมนุษย์ในตัวเราหมายถึงการตระหนักว่า ความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานนั้นเป็นประสบการณ์หนึ่งที่มนุษย์ทุกคนมีร่วมกัน และการตระหนักรู้นี้จะทำให้คุณเผชิญหน้ากับประสบการณ์ในชีวิตได้โดยที่ตัดสินตัวเองน้อยลง[36]
    • เช่น คนเรามักจะพลาดตกหลุมพรางของการว่าร้ายตัวเองที่แยกตัวเราและประสบการณ์ของเราออกจากคนอื่น เช่น "คงไม่มีใครสนใจใยดีพวกขี้แพ้อย่างฉันหรอก" สิ่งที่คุณพูดกับตัวคุณเป็นความคิดเหมารวมที่ไม่ยุติธรรมต่อตัวเองเลย: คุณไม่ใช่ "พวกขี้แพ้" เพียงเพราะคุณล้มเหลวในบางเรื่อง นอกจากนี้ยังเป็นการไม่ยอมรับความจริงที่ว่า ทุกคน ต่างก็เคยผิดพลาด ความคิดนี้ทำให้คุณวางมาตรฐานของคุณสูงเกินกว่าของใครๆ ซึ่งมันไม่ยุติธรรมกับตัวเอง (หรือคนอื่นๆ) เลย[37]
    • ลองเปลี่ยนมาพูดกับตัวเองใหม่ว่า "ฉันไม่ประสบความสำเร็จในเรื่องนั้นเรื่องนี้อย่างที่ฉันวางแผนไว้ แต่ใครๆ ก็เคยล้มเหลวกันทั้งนั้น รวมทั้งตัวฉันด้วย"
  7. How.com.vn ไท: Step 7 ฝึก มีสติรู้อยู่กับปัจจุบัน.
    การมีสติรู้อยู่กับปัจจุบันตรงข้ามกับการหมกมุ่นในตัวเอง แทนที่จะจมอยู่กับวังวนของการปฏิเสธหรือจดจ่ออยู่กับอารมณ์ที่เป็นลบ การมีสติรู้อยู่กับปัจจุบันจะทำให้คุณตระหนักและยอมรับอารมณ์ทุกอย่างที่เกิดขึ้นตามที่คุณประสบโดยไม่ตัดสินมัน
    • เช่น ถ้าคุณคิดอยู่บ่อยๆ ว่า “ฉันน่าเกลียดจะตาย คงไม่มีใครอยากมาเป็นแฟนกับฉันหรอก” ก็ลองเปลี่ยนมาพูดกับตัวเองใหม่ผ่านมุมมองของการมีสติรู้อยู่กับปัจจุบันว่า: “ฉันกำลังคิดว่าฉันน่าเกลียด นี่เป็นหนึ่งในความคิดจากหลายๆ ความคิดและความรู้สึกที่เข้ามาในหัวฉันในวันนี้”
    • อีกหนึ่งเทคนิคที่ช่วยฝึกการมีสติรู้อยู่กับปัจจุบันคือการทำสมาธิแบบวิปัสสนา การทำสมาธิแบบนี้เป็นการเอาใจจดจ่อไปที่ “การมีสติรู้ตัวอย่างไม่มีเงื่อนไข” เช่น การตระหนักรู้และยอมรับว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นในช่วงขณะจิตนั้น วิธีนี้ช่วยบรรเทาความกังวลและช่วยให้คุณตระหนักได้มากขึ้นว่า คุณเข้าถึงประสบการณ์ของคุณอย่างไร[38]
    • สถาบันวิจัยส่งเสริมการมีสติรู้อยู่กับปัจจุบันของ UCLA ได้จัดทำคลิปแนะแนวการทำสมาธิให้ดาวน์โหลดกันได้ฟรี[39] คลิปจะจัดเรียงเป็นหมวดหมู่ตามสถานการณ์ เช่น การมีสติรู้อยู่กับร่างกาย การเตรียมตัวนอน เป็นต้น แต่ละคลิปจะมีความยาวอยู่ที่ 3-19 นาที นอกจากนี้ยังมีแอพพลิเคชั่นอื่นๆ อีกมากมายที่แนะแนวทางการนั่งสมาธิแบบฉบับย่อ เช่น Calm
  8. How.com.vn ไท: Step 8 หาจุดที่ “คุณจะไปได้ไกลที่สุด.”
    งานวิจัยหลายชิ้นพบว่า การจินตนาการภาพตัวเองในจุดที่ “คุณจะไปได้ไกลที่สุด” ช่วยเพิ่มความรู้สึกที่เป็นบวกและทำให้ใจเป็นสุข[40] สิ่งที่คุณต้องทำเพื่อหาจุดที่คุณจะไปได้ไกลที่สุดนั้นมีอยู่ 2 อย่าง ได้แก่: การจินตนาการภาพ "อนาคต" ของคุณที่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย และการคิดว่าคุณสมบัติอะไรที่คุณจะต้องมี (หรือพัฒนา) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น [41]
    • เริ่มจากการจินตนาการถึงช่วงเวลาในอนาคตที่คุณเป็น “คุณ” ในแบบที่คุณอยากเป็น ลองคิดว่าการพัฒนาในด้านไหนที่มี ความหมาย กับคุณ (สิ่งสำคัญก็คือ ภาพที่คุณคิดไว้ต้องเป็นตัวคุณในแบบที่ คุณ อยากเป็น ไม่ใช่คนที่คุณรู้สึกว่าต้องเป็นหรือ “ควรจะ” เป็น)
    • การจินตนาการถึงจุดที่คุณจะไปได้ไกลที่สุดในแง่บวก วาดภาพทุกรายละเอียดที่เกิดขึ้น คุณอาจจะมองว่ามันเป็นเหมือนการจินตนาการถึงฝันที่เป็นจริง เป็นจุดสำคัญในชีวิต หรือเป็นเป้าหมายใหญ่อื่นๆ สำหรับตัวคุณเอง เช่น ถ้าจุดที่คุณจะไปได้ไกลที่สุดคือการเป็นผู้ประกอบการที่มีธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ลองนึกภาพว่าทุกอย่างจะเป็นอย่างไร คุณจะมีลูกจ้างกี่คน คุณจะเป็นเจ้านายแบบไหน คุณจะทำงานมากน้อยเท่าไหร่ คุณจะขายหรือคิดค้นอะไร
    • จดรายละเอียดทุกอย่างที่คุณจินตนาการออกมา คิดว่าอะไรคือคุณสมบัติที่คุณต้องใช้เมื่อคุณไปถึงจุดที่ไกลที่สุดแล้ว เช่น ถ้าคุณเปิดธุรกิจ คุณก็น่าจะต้องมีความคิดสร้างสรรค์ ทักษะการแก้ปัญหา การสร้างเครือข่าย และความมานะอุตสาหะ
    • นึกถึงคุณสมบัติที่คุณมีอยู่แล้ว คุณอาจจะประหลาดใจในตัวเองก็ได้! จากนั้นลองคิดว่ายังมีคุณสมบัติอะไรที่คุณต้องพัฒนาอีก แล้วนึกว่าต้องทำอย่างไรถึงจะสร้างทักษะและคุณสมบัติเหล่านั้นได้
    • สิ่งสำคัญก็คือระหว่างที่คิดอย่าตัดสินตัวเอง อย่าตัดสินตัวเองจากสิ่งที่คุณเป็นในตอนนี้! แล้วไปจินตนาการถึงคนที่คุณอยากจะเป็นแทน
  9. How.com.vn ไท: Step 9 อย่าเก็บเรื่องของคนอื่นมาเป็นเรื่องของตัวเอง....
    อย่าเก็บเรื่องของคนอื่นมาเป็นเรื่องของตัวเอง. คุณไม่สามารถควบคุมความคิดหรือการกระทำของคนอื่นได้ แต่คุณสามารถควบคุมปฏิกิริยาของตัวเองได้ จำไว้ว่าส่วนใหญ่แล้วสิ่งที่คนอื่นพูดหรือทำนั้นมันไม่ได้เกี่ยวอะไรกับคุณ แต่มันเป็นเรื่องของเขาและเป็นภาพสะท้อนความจริงของตัวเขาเอง[42] การเก็บเรื่องของคนอื่นมาใส่ใจเป็นการอนุญาตให้คนอื่นมีอำนาจเหนือคุณทั้งๆ ที่พวกเขาไม่ควรได้รับสิทธิ์นั้นเลย[43]
    • “การตำหนิตัวเอง” เป็นกระบวนการคิดบิดเบือนที่พบเห็นได้ทั่วไป การตำหนิตัวเองเกิดขึ้นเมื่อคุณตีความทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นว่ามีผลพวงมาจากตัวคุณเองโดยตรง กระบวนการคิดแบบนี้อาจทำให้คุณรู้สึกไปเองว่าคนอื่น “ไม่ชอบ” คุณ และนอกจากนี้ยังอาจทำให้คุณรู้สึกว่าต้องรับผิดชอบในสิ่งที่คุณไม่ได้ก่อด้วย[44]
    • เช่น ถ้ามีคนขับรถปาดหน้าคุณ คุณอาจจะเลือกที่จะใส่อารมณ์และโกรธว่าทำไมเขาถึงได้หยาบคายกับคุณขนาดนี้ หรือคุณอาจจะตีความว่ามันเป็นความผิดของคุณที่ “ปล่อยให้” เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ความคิดทั้งสองแบบนี้เป็นความคิดที่มีพื้นฐานมาจากการตำหนิตัวเองซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดผลดีกับตัวคุณ การจะมีปฏิกิริยาที่แข็งแกร่งกว่าเดิมได้นั้นคุณต้องจำไว้ว่า คุณไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมหรือการกระทำของคนขับรถคนนั้นได้ และคุณก็ไม่รู้ด้วยว่าทำไมเขา/เธอถึงทำแบบนั้น บางทีคนขับรถคนนั้นเขาอาจจะเพิ่งผ่านวันแย่ๆ มา หรือบางทีเขาอาจจะเป็นคนไม่แยแสความรู้สึกของคนอื่น แต่ที่แน่ๆ คือคุณไม่ได้เป็น ต้นเหตุ ของพฤติกรรมนี้
    • การไม่ตำหนิตัวเองไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องไม่เจ็บปวดเวลาที่คนอื่นพูดถึงคุณ แต่การปฏิเสธที่จะโทษตัวเองจะช่วยให้คุณเอาตัวเองออกห่างจากปฏิกิริยาที่เป็นลบในขณะนั้น
    โฆษณา
วิธีการ 3
วิธีการ 3 ของ 4:

เสริมสร้างและรักษาลักษณะนิสัยที่ดีต่อตัวคุณ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. How.com.vn ไท: Step 1 เริ่มต้นวันใหม่ด้วยการยืนยันตัวเอง.
    แรกๆ มันอาจจะรู้สึกเชยๆ หน่อย แต่การยืนยันตัวเองซ้ำไปซ้ำมาเป็นการฝึกการรักตัวเอง ขณะที่กำลังแปรงฟันหรือเตรียมตัวไปทำงาน ท่องบทสวดหรือคำพูดที่มีความหมายกับคุณและแสดงเมตตาจิตต่อตนเอง[45]
    • เช่น คุณอาจจะพูดว่า “วันนี้ฉันยอมรับตัวเองในแบบที่ฉันเป็น” หรือ “ฉันรักตัวเองอย่างหมดหัวใจ”
    • ถ้าคุณมีจุดอ่อนในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษ เช่น มีความกังวลหรือมีปัญหาเรื่องรูปร่าง ให้ลองยืนยันตัวเองในเรื่องเหล่านี้ เช่น ถ้าคุณเป็นคนขี้กังวล การยืนยันตัวเองที่มีประโยชน์กับตัวคุณอาจจะเป็น “ฉันจะทำให้ดีที่สุดเท่าที่ฉันจะทำได้ในวันนี้ ฉันไม่สามารถทำให้ดีกว่านี้ได้อีกแล้ว ฉันไม่สามารถควบคุมการกระทำของคนอื่นได้” ถ้าคุณมีปัญหาเรื่องรูปร่าง ลองเปลี่ยนไปให้ความสนใจกับเรื่องดีๆ แทน เช่น: “วันนี้ฉันจะเมตตารูปร่างของฉัน เพราะว่าฉันสมควรได้รับความเมตตา” หรือ "วันนี้ฉันดูมีความสุขแล้วก็สุขภาพดีด้วยนะ."
  2. How.com.vn ไท: Step 2 เพิ่มความมั่นใจในตัวเอง.
    ความมั่นใจคือกุญแจสำคัญของความแข็งแกร่งทางอารมณ์ การมั่นใจว่าคุณเป็นคนที่ไม่เหมือนใครและมีคุณค่าจะช่วยให้คุณควบคุมอารมณ์ได้มากขึ้น พอมีเรื่องร้ายๆ เกิดขึ้น ให้เตือนตัวเองว่าคุณสามารถเอาชนะอุปสรรคนี้ได้ ไม่ว่ามันจะเป็นอะไรก็ตาม[46]
    • เตือนตัวเองว่าแม้แต่ความยากลำบากที่คุณผ่านมานั้นก็เป็นประสบการณ์ชีวิต คุณสามารถดึงจุดแข็งและความกล้าหาญจากการที่คุณรู้ว่าคุณผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน และคุณก็จะต้องผ่านมันไปได้อีกครั้ง[47]
    • เขียนรายการถึงสิ่งที่คุณชอบเกี่ยวกับตัวเอง อาจจะเป็นทักษะ จุดแข็งส่วนบุคคล ความสำเร็จ...อะไรก็ได้ อย่าตีค่าความสามารถและคุณสมบัติที่ดีในตัวเองคุณต่ำเกินไป ถ้าคุณนึกไม่ออกว่าคุณชอบอะไรเกี่ยวกับตัวเองบ้างก็ลองให้เพื่อนช่วยคิดก็ได้ ไม่แน่ว่าพวกเขาอาจจะมองเห็นความเจ๋งในตัวคุณที่แม้แต่ตัวคุณเองก็ยังไม่รู้ก็ได้[48]
    • ตั้งเป้าหมาย (ที่สมเหตุสมผล) แล้วพุ่งชน เช่น คุณอาจจะหัดทำอาหารให้เพื่อนกิน ฝึกท่าโยคะท่าใหม่ๆ หรือหัดถ่ายรูปอาร์ตๆ ถ้าคุณชอบออกกำลังกาย ลองซ้อมวิ่งสำหรับการวิ่งแข่ง 5 หรือ 10 กิโลเมตรดู ถ้าบรรลุเป้าหมายแล้วก็ฉลองเลย! เพื่อเป็นเกียรติแก่ความสำเร็จของคุณ ไม่ว่ามันจะเล็กน้อยสำหรับคุณแค่ไหนก็ตาม
    • อย่าเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น การเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นคือหนทางสู่การทำลายล้างความมั่นใจ บนโลกนี้มีแค่คุณคนเดียวเท่านั้นที่จะเป็น ตัวคุณ ได้ คนเดียวที่คุณจะต้องขออนุมัติก่อนจะทำอะไรก็คือตัวคุณ ตั้งเป้าหมายที่มีความหมายกับคุณ และอย่าไปคิดมากถ้ามันไม่ใช่เป้าหมายเดียวกับคนอื่น[49]
  3. How.com.vn ไท: Step 3 รักษาร่างกายให้แข็งแรง.
    สุขภาพร่างกายมีผลโดยตรงต่อสุขภาพจิตใจ และสุขภาพจิตใจก็มีผลโดยตรงต่อสุขภาพร่างกาย[50] การรักษาร่างกายให้แข็งแรงช่วยคลายความเครียดให้คุณได้ นอกจากนี้ยังทำให้คุณรู้สึกสบายอกสบายใจมากขึ้นและทำให้คุณสามารถรับมือกับอารมณ์ต่างๆ ได้ง่ายขึ้นด้วย[51]
    • การออกกำลังกายคือส่วนสำคัญของการมีสุขภาพจิตที่ดี เวลาที่คุณออกกำลังกาย ร่างกายของคุณจะหลั่งสารเอ็นดอร์ฟินที่ทำให้คุณรู้สึกมีความสุข คราวหน้าเวลาที่ไม่สบายใจ ให้ออกไปเดินเล่น วิ่ง หรือเข้าฟิตเนส เพราะจากการศึกษาพบว่าการออกกำลังกายปานกลางอย่างสม่ำเสมอช่วยให้คุณจิตใจสงบและมีความสุขมากขึ้น[52]
  4. How.com.vn ไท: Step 4 เพิ่ม “ความแข็งแกร่ง” ทางอารมณ์.
    คุณสามารถพัฒนาความแข็งแกร่งทางอารมณ์ได้ด้วยการเอาใจจดจ่อไปที่อารมณ์ด้านบวกอย่างความเห็นอกเห็นใจหรือการสำนึกบุญคุณ[53] การรักษาทัศนคติที่เต็มไปด้วยความเห็นอกเห็นใจหรือการสำนึกในบุญคุณของคนอื่นจะช่วยให้คุณเข้าใจว่า คนอื่นก็ต้องต่อสู้กับความกลัวและความกังวลเช่นเดียวกันกับคุณ ซึ่งจะทำให้คุณมีเมตตาต่อตนเองและผู้อื่นมากขึ้น
    • จากงานวิจัยพบว่า คนที่ฝึกกตัญญูต่อผู้อื่นจะมีความแข็งแกร่งในการรับมือกับความบอบช้ำทางจิตใจได้ดีกว่า[54] นอกจากนี้ ความกตัญญูยังอาจช่วยให้คุณตีความความทุกข์และเรื่องร้ายๆ ในชีวิตว่าเป็นประสบการณ์การเรียนรู้หรือการเอาชีวิตรอดที่ทำให้คุณเป็นคุณมาได้จนถึงทุกวันนี้ ความกตัญญูช่วยให้คุณไม่ตัดสินคนอื่น[55]
    • ความกตัญญูนั้นเป็นมากกว่าการ รู้สึก ขอบคุณ บ่อยครั้งที่เราควบคุมไม่ได้ว่าความรู้สึกไหนจะเกิดขึ้น และการพยายามควบคุมความรู้สึกก็เป็นเรื่องที่หนักหนาเกินไปสำหรับพวกเรา แท้จริงแล้ว ความกตัญญูคือการ แสดง ถึงความตระหนักรู้และดื่มด่ำไปกับสิ่งดีๆ [56] การเขียนบันทึกขอบคุณ การสวดบทสวดแห่งความกตัญญูตามความเชื่อทางศาสนาของคุณ และการหยุดเพื่อชื่นชมประสบการณ์ที่สวยงามหรือเรื่องราวดีๆ ก็สามารถช่วยให้คุณฝึกความกตัญญูได้[57]
  5. How.com.vn ไท: Step 5 ฝึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่น.
    การฝึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่นช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแรงและดีกับทั้งสองฝ่ายได้ นอกจากนี้ยังช่วยให้คุณได้พัฒนาวิธีการรับมือกับอารมณ์และความรู้สึกของคุณเองได้อีกด้วย[58]
    • จากการศึกษาพบว่า “การแผ่เมตตา” หรือการทำสมาธิกรรมฐานแบบ “การเจริญความรักความเมตตา” เป็นวิธีที่ดีที่จะช่วยให้คุณฝึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่นได้มากขึ้น[59] การแผ่เมตตาไม่เพียงแต่เพิ่มความรู้สึกของคุณที่มีต่อผู้อื่น แต่ยังได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถลดอาการซึมเศร้าได้ด้วย[60] การฝึกแผ่เมตตานั้นทำได้หลายแบบ แม้ว่าวิธีการส่วนใหญ่จะมีรากฐานมาจากศาสนาพุทธ[61]
    • อ่านนิยาย เรื่องแต่งกระตุ้นให้คุณจินตนาการถึงประสบการณ์ทางอารมณ์และสถานการณ์ที่คุณไม่เคยพบเจอมาก่อน จากการศึกษาพบว่า การอ่านนิยายช่วยเพิ่มความสามารถในการเห็นอกเห็นใจผู้อื่นได้[62]
    • อย่าด่วนสรุป จากการศึกษาพบว่า เวลาที่เราคิดว่าใคร “สมควรได้รับ” สิ่งที่ไม่ดี นั่นหมายความว่าเราเห็นอกเห็นใจเขาน้อยลง พยายามอย่าตัดสินว่าใคร “สมควรได้รับ” หรือต้องรับผิดชอบสิ่งที่ตามมาให้ได้ไม่ว่ามันจะทุกข์แค่ไหน ทั้งนี้คุณก็ต้องเลิกบอกว่าตัวเองสมควรได้รับสิ่งที่ไม่ดีด้วยเช่นกัน เพราะเราต่างก็เป็นมนุษย์ด้วยกันทั้งสิ้น[63]
  6. How.com.vn ไท: Step 6 เรียนรู้ที่จะอยู่กับความไม่แน่นอน.
    ความไม่แน่นอนเป็นสิ่งที่น่ากลัวและเป็นสาเหตุของปัญหาทางอารมณ์ต่างๆ มากมาย การไม่สามารถอยู่กับความไม่เที่ยงได้นั้นจะทำให้คุณกังวล คอยหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่อาจมีการเปลี่ยนแปลง หรือพึ่งพากำลังใจจากคนอื่นมากเกินไปอยู่ตลอดเวลา ความไม่แน่นอนคือความจริงของชีวิตมนุษย์ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ คุณสามารถเพิ่มความแข็งแกร่งทางอารมณ์ได้ด้วยการฝึกยอมรับความไม่แน่นอน[64][65][66]
    • “การไม่สามารถทนอยู่กับความไม่แน่นอนได้” สร้างความกังวลใจอย่างใหญ่หลวง ถ้าคุณมีความอดทนต่อความไม่แน่นอนต่ำ คุณจะทำใจยอมรับว่าอาจมีเรื่องร้ายๆ เกิดขึ้นได้ยากมาก คุณอาจจะถามตัวเองว่า “แล้วถ้า...” หรือประเมินความเสี่ยงและผลที่จะตามมาของสถานการณ์หรือเหตุการณ์เลวร้ายเกินกว่าความเป็นจริงไปมาก ซึ่งจะทำให้คุณถูกความกังวลกัดกินใจ[67]
    • เขียนบันทึกเวลาที่คุณรู้สึกไม่มั่นคงหรือวิตกกังวลในแต่ละวัน เขียนให้เจาะจงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ว่าอะไรที่กระตุ้นอารมณ์ให้คุณรู้สึกแบบนั้น แล้วคุณรับมือกับมันอย่างไร[68]
    • ให้คะแนนความรู้สึกไม่มั่นคง พยายามให้คะแนนเรื่องที่ทำให้คุณไม่สบายใจหรือวิตกกังวลตั้งแต่ 0-10 เช่น คุณอาจจะให้ “การไปช้อปปิ้งโดยไม่มีรายการของที่ต้องซื้อ” 2 คะแนน แต่ถ้าเป็น “ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการโครงการแทนคนอื่นที่ทำงาน” คุณก็อาจจะให้คะแนนสัก 8 หรือ 9 [69]
    • ฝึกอดทนต่อความไม่แน่นอน เริ่มจากเรื่องเล็กๆ ที่ปลอดภัยก่อน เรียนรู้ที่จะจัดการกับความกลัวด้วยการเผชิญหน้ากับสถานการณ์ไม่แน่นอนในระดับที่ปลอดภัยและจัดการได้ เช่น ถ้าคุณกินข้าวอยู่ร้านเดียวเพราะกลัวว่าถ้าไปกินร้านอื่นแล้วจะไม่ถูกปาก ให้พยายามเลือกร้านใหม่มาหนึ่งร้านแล้วสั่งอาหารที่คุณไม่เคยกินมาก่อน คุณอาจจะชอบหรือไม่ชอบอาหารจานนั้นก็ได้ แต่นั่นก็เท่ากับว่าคุณได้พิสูจน์ให้ตัวเองเห็นแล้วว่า คุณสามารถรับมือกับความไม่แน่นอนได้และสุดท้ายผลลัพธ์ที่ได้ก็ไม่ได้แย่อะไร จากนั้นค่อยๆ ฝึกเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอนในระดับที่ใหญ่ขึ้น[70]
    • บันทึกปฏิกิริยาของตัวเอง เวลาที่คุณลองทำสิ่งที่ไม่แน่นอน จดบันทึกว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อคุณทำสิ่งนั้น คุณทำอะไร คุณรู้สึกอย่างไรตอนที่คุณทำแบบนั้น แล้วผลที่เกิดขึ้นมันเป็นอย่างไร ถ้าผลไม่เป็นไปตามที่วางแผนไว้ (ซึ่งมันจะเกิดขึ้นแน่ๆ) คุณมีปฏิกิริยาต่อมันอย่างไร คุณสามารถรับมือกับผลลัพธ์ที่ไม่คาดคิดได้หรือไม่[71]
  7. How.com.vn ไท: Step 7 อย่าคิดมาก.
    การคิดมากเป็นปฏิกิริยาทั่วไปที่มีต่ออารมณ์หลายประเภทด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับความรู้สึกเศร้าหรือโกรธ[72] เวลาที่คุณคิดมาก ใจคุณกำลังหมกมุ่นอยู่กับบางสิ่ง คุณอาจจะคิดถึงสถานการณ์ ความคิด หรือความรู้สึกซ้ำไปซ้ำมา ไม่ต่างอะไรกับซีดีหักที่เล่นเพลงท่อนเดิม 5 วินาทีตลอดเวลา[73] การคิดมากจะทำให้คุณคิดถึงวิธีการแก้ปัญหาที่เป็นประโยชน์ไม่ออก และอาจจะดึงคุณให้ติดอยู่ในวังวนความคิดลบที่นำไปสู่ความหดหู่และความเครียด[74]
    • สมบูรณ์แบบนิยมทำให้เกิดการคิดมาก เช่นเดียวกับ “การให้ความสำคัญเชิงความสัมพันธ์มากเกินไป” ซึ่งก็คือการที่คุณให้ค่ากับความสัมพันธ์ของคุณมากจนถึงขนาดที่ว่าคุณยอมทำ ทุกอย่าง เพื่อรักษามันไว้ แม้ว่าจะต้องแลกกับอะไรมากมายหรือไม่ดีต่อตัวคุณเองเลยก็ตาม[75]
  8. How.com.vn ไท: Step 8 คิดบวกแทนการคิดลบ.
    ส่วนหนึ่งของวังวนการคิดมากคือการติดอยู่กับความคิดลบเดิมๆ แทนที่จะปล่อยให้ตัวเองคิดเรื่องเดิมซ้ำไปซ้ำมา ลองท้าทายความคิดลบเหล่านั้นดูสิ! พยายามปรับมุมมองความคิดลบให้กลายเป็นบวก [76]
    • เช่น ถ้าคุณเพิ่งเลิกกับแฟนหรือสามีภรรยา มันก็มีแนวโน้มที่คุณจะให้ความสนใจไปที่ทุกสิ่งทุกอย่างที่มันผิดพลาด ซึ่งความคิดเหล่านี้มันก็จะเริ่มเกินจริงขึ้นทุกทีจนถึงจุดที่คุณคิดว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของคุณทั้งหมด คุณอาจจะเริ่มถามตัวเองไปมาว่า “แล้วถ้า...” คุณอาจจะรู้สึกว่าคุณมันห่วย ทำอะไรก็ผิดไปเสียทุกเรื่อง
    • แทนที่จะคิดแบบนั้น ลองเปลี่ยนมาคิดให้มันเป็นบวกเข้าไว้และมองตามความเป็นจริง เช่น: “ความสัมพันธ์ระหว่างฉันกับคนคนนั้นได้จบลงแล้ว ฉันก็ไม่อยากให้มันเกิดขึ้นหรอกนะ แต่ฉันก็ยังสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแรงขึ้นใหม่ได้ ฉันสามารถนำสิ่งที่ฉันได้เรียนรู้จากความสัมพันธ์ในครั้งนี้ไปสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งขึ้นกับคนรักคนต่อไปได้”
  9. How.com.vn ไท: Step 9 จดจ่ออยู่ที่การแก้ปัญหา.
    การคิดมากมักเป็นการเอาใจเข้าไปจดจ่อกับคำถามนามธรรมที่ไม่มีใครตอบได้ เช่น “ทำไมต้องเกิดเรื่องแบบนี้กับฉันอยู่เรื่อย” หรือ “นี่ฉันเป็นอะไรไปเนี่ย” แทนที่จะจดจ่ออยู่กับความคิดใหญ่ไม่เป็นรูปเป็นร่างที่อาจจะไม่ตรงกับความเป็นจริงด้วยซ้ำ พยายามคิดเจาะจงไปว่า คุณจะสามารถทำอะไรเพื่อจัดการปัญหานี้ได้บ้าง[77]
    • เช่น ถ้าคุณกังวลว่างานที่ทำอยู่มันไปได้ไม่ค่อยดี ให้เจาะจงเขียนรายการสิ่งที่คุณสามารถทำได้เพื่อจัดการกับปัญหานี้ โทรศัพท์หาเพื่อนหรือใครสักคนที่คุณไว้ใจเพื่อขอความช่วยเหลือถ้าคุณคิดเองไม่ออก
    • เช่นเดียวกับอีกตัวอย่างที่ยกไปว่า บางทีคุณอาจจะคับข้องใจเพราะว่าความสัมพันธ์ของคุณจบแบบซ้ำๆ อยู่เรื่อย ลองคิดอย่างเจาะจงว่าลักษณะนิสัยแบบไหนที่คุณค้นหาในตัวคนรัก คนแบบไหนที่ดึงดูดคุณ เวลาคุณคบกับพวกเขาคุณมีแนวโน้มที่จะทำอะไร พวกเขา มีแนวโน้มที่จะทำอะไร แล้วเรื่องพวกนี้มันมีผลต่อการเลิกราหรือไม่
  10. How.com.vn ไท: Step 10 เรียนรู้ที่จะสื่อสารอย่างมั่นใจ.
    การรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนอารมณ์อ่อนแออาจยิ่งทำให้คุณแสดงความรู้สึก ความคิด และความต้องการให้คนอื่นรับรู้ได้ยากขึ้น การฝึกการสื่อสารอย่างมั่นใจจะช่วยให้คุณทบทวนว่า คุณได้บอกความจำเป็นและความต้องการให้คนอื่นได้รับรู้อย่างชัดเจนไปแล้ว และอาจจะทำให้คุณมั่นใจในตัวเองมากขึ้น[78]
    • การแสดงออกอย่างมั่นใจไม่เหมือนกับการหยิ่งทะนง การแสดงออกถึงอารมณ์ของตัวเองอย่างมั่นใจไม่ได้หมายความว่าคุณไม่สนใจความรู้สึกของคนอื่น ตรงกันข้ามคือคุณเคารพอารมณ์และความต้องการของคนอื่น และคุณก็เคารพอารมณ์และความต้องการของตัวเองด้วย การสร้างการสื่อสารที่มีพื้นฐานมาจากความเคารพซึ่งกันและกันและความเปิดเผยจะทำให้คุณเป็นนักสื่อสารที่แข็งแกร่งขึ้น
    • คนที่ทะนงตนมักจะวางจุดแข็งและความมั่นใจบนพื้นฐานของปัจจัยภายนอก เช่น คนอื่นจะคิดอย่างไรกับเขา และสิ่งนี้อาจทำให้คนที่ทะนงตนคำนึงถึงความรู้สึกของตัวเองก่อนความรู้สึกของคนอื่น การแสดงออกอย่างมั่นใจคือการที่คุณรู้ว่าคุณมีคุณค่าในตัวเอง คุณสามารถสื่อสารอารมณ์ได้อย่างเปิดเผย ซื่อสัตย์ และนอบน้อมเพราะคุณไม่ได้กังวลว่าคนอื่นจะตัดสินคุณอย่างไร[79]
    • ขึ้นต้นประโยคด้วยคำว่า “ฉัน” วิธีนี้จะช่วยให้คุณควบคุมอารมณ์ได้โดยไม่ต้อง “อ่านใจ” หรือทำให้คนอื่นรู้สึกผิด เช่น ถ้าคนรักลืมวันเกิดของคุณ อย่าไปคิดเอาเองว่านี่ต้องแปลว่า เขา/เธอไม่สนใจเราเลยแล้วแสดงออกตามความรู้สึกนั้น ให้ขึ้นต้นประโยคด้วยคำว่า “ฉัน” เพื่อบอกว่าคุณรู้สึกอย่างไร : “ฉันเสียใจนะที่คุณลืมวันเกิดฉัน ฉันอยากจะคุยกับคุณเรื่องนี้สักหน่อย” แทนที่จะกล่าวโทษและทำให้อีกฝ่ายต้องตั้งรับ คุณต้องแสดงความรู้สึกออกมาและเชื้อเชิญให้อีกฝ่ายร่วมรับรู้ความรู้สึกของคุณด้วย
  11. How.com.vn ไท: Step 11 สร้างภาพจนกว่ามันจะเป็นตัวเราจริงๆ.
    ถ้าคุณรอจนกว่าคุณจะ รู้สึก ว่าคุณอยากจะเปลี่ยนแปลงตัวเองในด้านอารมณ์ บอกเลยว่าคุณอาจจะต้องรอนานหน่อย การฝึกพฤติกรรมว่า ฉันเป็นคน... ก็เท่ากับว่าคุณได้เริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเองแล้ว การเรียนรู้ที่จะทนอยู่กับความอึดอัดใจและความไม่แน่นอนด้วยวิธีคิดและพฤติกรรมใหม่ๆ เป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมที่จะช่วยให้คุณแข็งแกร่งทางอารมณ์มากยิ่งขึ้น[80]
    • เช่น ถ้าคุณรู้สึกโดดเดี่ยวและเศร้าซึมเพราะว่าคุณมักจะขี้อายและไม่ค่อยเข้าหาคนใหม่ๆ ให้เปลี่ยนพฤติกรรมดู ในตอนแรกคุณอาจจะไม่ “รู้สึกอยาก” ที่จะเดินเข้าไปหาหรือเริ่มบทสนทนาก่อน แต่พอฝึกไปสักพักคุณก็จะรู้สึกดีขึ้น และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ คุณจะรู้ว่าตัวเองกำลังกลายเป็นคนที่มีอารมณ์แข็งแกร่งและแข็งแรงขึ้นไปอีกก้าวหนึ่งแล้ว
  12. How.com.vn ไท: Step 12 ขอความช่วยเหลือจากมืออาชีพ.
    คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่า คนที่จะเข้ารับการบำบัดนั้นมีแต่คนที่มีปัญหา "หนักๆ" จนถึงขั้นที่ไม่สามารถทำอะไรได้นอกจากเข้ารับการบำบัด ซึ่งไม่เป็นความจริงเลย นักบำบัดหรือที่ปรึกษาสามารถช่วยให้คุณเรียนรู้ที่จะเข้าใจและกลั่นกรองอารมณ์ของตัวเองได้ พวกเขาช่วยให้คุณเรียนรู้เทคนิคการรับมือและวิธีที่จะทำให้คุณเป็นคนที่แข็งแกร่งและแข็งแรงมากยิ่งขึ้น[81]
    • วิชาชีพสายสุขภาพนั้นมีหลายประเภท โดยมากมักจะมีแต่จิตแพทย์และผู้ประกอบวิชาชีพพยาบาลจิตเวชเท่านั้นที่สามารถจ่ายยาได้ และพวกเขาก็อาจจะมีบริการปรึกษา นักจิตวิทยาคลินิก นักสังคมสงเคราะห์คลินิกที่มีใบประกอบวิชาชีพ นักบำบัดด้านชีวิตคู่และครอบครัวที่มีใบประกอบวิชาชีพ และที่ปรึกษามืออาชีพที่มีใบประกอบวิชาชีพสามารถให้บริการด้านการปรึกษาได้[82]
    • มีบริการหลายที่ที่รับปรึกษาและบำบัด คุยกับแพทย์หรือบริษัทประกันเพื่อหาที่รับบริการใกล้บ้าน
    โฆษณา
วิธีการ 4
วิธีการ 4 ของ 4:

ข้ามผ่านเหตุการณ์ยากๆ ในชีวิต

ดาวน์โหลดบทความ
  1. How.com.vn ไท: Step 1 เลิกวิ่งหนีอารมณ์ของตัวเอง.
    การหลีกหนีอารมณ์ของตัวเองอาจจะช่วยให้คุณโล่งใจได้ชั่วครั้งชั่วคราว แต่ท้ายที่สุดแล้ว การเพิกเฉยหรือปฏิเสธความรู้สึกของตัวเองจะยิ่งก่อให้เกิดปัญหามากกว่าแก้ไข จากงานวิจัยพบว่า ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่เลี่ยงการกลั่นกรองอารมณ์ของตัวเองจะทรุดหนักเร็วกว่าคนไข้ที่ยอมรับและทำความเข้าใจว่าตัวเองกำลังรู้สึกอย่างไร[83] กลยุทธ์การวิ่งหนีอารมณ์ของตัวเองก็เช่น:
    • ทำให้ตัวเองยุ่งจนไม่มีเวลาคิดถึงปัญหา
    • ทำเหมือนว่าไม่มีปัญหาเกิดขึ้น
    • เพิกเฉยต่อปัญหาหรือไม่ยอมพูดถึงมัน
    • ใช้สิ่งอื่นมาเบี่ยงเบนอารมณ์ของตัวเองเพื่อให้รู้สึกดีขึ้น (เช่น ทีวี แอลกอฮอล์ อาหาร การพนัน)
    • นึกถึงแต่เหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นได้
  2. How.com.vn ไท: Step 2 เรียนรู้ว่า การทำความเข้าใจอารมณ์เกิดขึ้นอย่างไรหลังจากที่ผ่านเหตุการณ์ยากๆ ไปแล้ว....
    เรียนรู้ว่า การทำความเข้าใจอารมณ์เกิดขึ้นอย่างไรหลังจากที่ผ่านเหตุการณ์ยากๆ ไปแล้ว. อารมณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ยากๆ หรือฝังใจในชีวิตนั้นเป็นเรื่องที่เจ็บปวดอย่างแสนสาหัส และดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะเริ่มหาจุดที่จะทำความเข้าใจความรู้สึกลึกๆ เหล่านี้ อย่างไรก็ดี การทำความเข้าใจอารมณ์นั้นมีอยู่ 4 ระยะที่เราทุกคนต้องก้าวผ่านเพื่อที่จะเริ่มฟื้นฟูตัวเอง[84]
    • ‘’ระยะตัดวงจร’’ ขั้นตอนนี้มักเกิดขึ้นหลังจากที่เกิดเหตุการณ์เลวร้ายในชีวิต บางครั้งก็เหมือนเป็นความรู้สึก “เฉยชา” หรือ “ช็อก” เมื่อร่างกายของคุณรับเหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นไม่ไหว ระบบก็จะปิดการทำงาน สมองจะสูญเสียประสิทธิภาพการทำงานจากจุดสูงสุดถึง 50-90%[85] ระบบอื่นๆ ของร่างกายก็อาจจะปิดการทำงานด้วย เพราะฉะนั้นคุณก็จะมีอาการอื่นๆ เช่น นอนไม่หลับหรือปวดหัวทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่เป็น และคุณก็อาจจะสังเกตว่าอาการอื่นๆ ทุเลาไป เช่น ข้ออักเสบหรือแม้กระทั่งสิว
    • ‘’ความรู้สึกกลับมา’’ เมื่อความรู้สึกเฉยชาเริ่มหายไป ซึ่งจะมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน ความรู้สึกต่างๆ ก็จะกลับมาอีกครั้ง มันอาจจะค่อยๆ กลับมาหรืออาจจะโจมตีคุณจากทั่วสารทิศในคราวเดียว ในระยะนี้สภาวะอารมณ์ต่างๆ ของคุณอาจจะแปรปรวนมาก ความรู้สึกของคุณอาจจะเปลี่ยนแปลงไปทุกวันหรือแม้กระทั่งทุกช่วงเวลา
    • ‘’ทำสิ่งใหม่เพื่อให้ทุกอย่างดีขึ้น’’ ระยะนี้เชื่อมโยงกับระยะที่ 2 อย่างชัดเจน 2 ระยะนี้เติมเต็มกันและกัน แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่คุณจะไม่เผชิญกับ 2 ระยะนี้ในเวลาใกล้เคียงกัน พอคุณเริ่มเข้าถึงความรู้สึกของตัวเองมากขึ้น ให้ทำสิ่งใหม่ที่จะช่วยฟื้นฟูตัวคุณให้รู้สึกถึงอำนาจและความหมาย เช่น ถ้าคุณเคยมีความสัมพันธ์ที่คุณถูกทำร้ายจิตใจตลอดเวลา คุณก็อาจจะอยากไปเป็นอาสาสมัครสถานสงเคราะห์สตรีใกล้บ้าน การลงมือทำสิ่งใหม่ที่มีความหมายต่อคุณจะช่วยต้านทานความรู้สึกสิ้นไร้ไม้ตอกหรือการสูญเสียการควบคุมที่มักซ่อนอยู่ในความเปราะบางทางอารมณ์
    • ‘’กลับคืนสู่วิถีชีวิต’’ ระยะนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้จนกว่าจะผ่านทั้ง 3 ระยะในข้างต้นมาแล้ว ในระยะนี้ คุณจะเข้าถึงอารมณ์และค่านิยมของตัวเองมากขึ้น คุณเรียนรู้ที่จะมีชีวิตอยู่บนพื้นฐานของ “ค่านิยมที่สอดคล้องกัน” ซึ่งก็คือการที่คุณใช้ชีวิตตามความเชื่อหลักของคุณ (เช่น ความซื่อสัตย์ ความเมตตา ความกล้าแสดงออก)
  3. How.com.vn ไท: Step 3 ทำความเข้าใจความรู้สึกของตัวเอง.
    การที่คุณแสดงความรู้สึกของตัวเองให้คนอื่นได้รับรู้นั้นคุณจะต้องทำความเข้าใจกับมันด้วย แต่การทำความเข้าใจกับความรู้สึกของตัวเองนั้นแตกต่างจากการแค่บอกเล่าประสบการณ์ของตัวเอง บางครั้งคนเราก็พูดถึงประสบการณ์ที่ทุกข์ทรมานหรือเลวร้ายในชีวิตที่ประสบมาแบบไม่ปะติดปะต่อ ราวกับว่าเรื่องที่กำลังพูดถึงนั้นเป็นเรื่องของคนอื่นไม่ใช่เรื่องของตัวเอง และการแสดงออกทางอารมณ์แบบไม่ปะติดปะต่อนี้เองที่ทำให้คุณไม่สามารถทำความเข้าใจอารมณ์ของตัวเองที่มีต่อสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง[86]
    • เทคนิคการมีสติรู้อยู่กับปัจจุบันจะช่วยให้คุณอยู่กับปัจจุบัน ณ ขณะที่คุณกำลังเล่าถึงเหตุการณ์ทุกข์ทรมานหรือเรื่องเลวร้ายในชีวิต การใช้เทคนิคการมีสติรู้อยู่กับปัจจุบันจะช่วยให้คุณควบคุมอารมณ์เพื่อที่ใจคุณจะได้ไม่แตกออกเป็นเสี่ยงๆ มันจะช่วยไม่ให้คุณคิดมากหรือ "หมกมุ่น" กับความรู้สึกหรืออารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งมากเกินไป นอกจากนี้ยังช่วยลดความกังวลและอาการซึมเศร้าได้อีกด้วย ซึ่งจะทำให้คุณทำความเข้าใจกับความรู้สึกของตัวเองได้ง่ายขึ้น[87] ย้อนกลับไปดูวิธี 1 เพื่อฝึกฝนเทคนิคมีสติรู้อยู่กับปัจจุบัน
    • การรักษาความเครียดหลังจากประสบเหตุการณ์รุนแรงในชีวิตก็เช่น พยายามให้ผู้ป่วยนึกถึงเหตุการณ์เลวร้ายในแบบที่ควบคุมได้เพื่อช่วยให้พวกเขาได้ทำความเข้าใจกับความรู้สึกที่เกิดจากเหตุการณ์เลวร้ายเหล่านั้น[88]
    • แม้ว่าบางคนแค่ได้คุยกับเพื่อนๆ หรือครอบครัวก็เพียงพอแล้ว แต่สำหรับบางคนการขอความช่วยเหลือจากผู้ประกอบอาชีพด้านการดูแลสุขภาพจิตก็เป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าอายเลย! ที่ปรึกษาและนักบำบัดคอยให้ความช่วยเหลือและยอมรับคุณอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นคุณสามารถซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกของตัวเองได้อย่างแท้จริง
  4. How.com.vn ไท: Step 4 แสดงความเป็นตัวเองออกมา.
    การแสดงออกถึงตัวตนไม่ว่าจะผ่านทางศิลปะ ดนตรี การเต้น การเขียน หรือการพูดคุยกับคนอื่นๆ ล้วนมีประโยชน์ต่อการเยียวยาหัวใจหลังผ่านเหตุการณ์เลวร้ายในชีวิตด้วยกันทั้งสิ้น การที่เราพยายามเข้าถึงอารมณ์ของตัวเองมากกว่าหนึ่งช่องทางจะกระตุ้นให้เราได้สำรวจและเข้าใจมันมากขึ้น[89]
    • จดจ่อไปที่กิจกรรมที่คุณรู้สึกปลอดภัยและปลอบประโลมใจคุณ การสำรวจอารมณ์ด้านลบในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเป็นบวกจะช่วยให้คุณทำความเข้าใจกับอารมณ์เหล่านั้นได้ดียิ่งขึ้นและช่วยฟื้นฟูอารมณ์ของคุณเอง[90]
    • ถ้าคุณอึดอัดหรือไม่แน่ใจว่าจะแสดงอารมณ์ของตัวเองผ่านวิธีการเหล่านี้ได้อย่างไร อย่างน้อยขั้นแรกคุณควรไปปรึกษานักบำบัดที่เชี่ยวชาญด้านการบำบัดด้วยศิลปะเพื่อการสื่อสาร มีที่ปรึกษาและนักบำบัดมืออาชีพหลายคนที่ได้รับการฝึกอบรมในด้านนี้ [91]
  5. How.com.vn ไท: Step 5 สร้างเครือข่ายให้กำลังใจและใช้มันให้เป็นประโยชน์....
    สร้างเครือข่ายให้กำลังใจและใช้มันให้เป็นประโยชน์. การต่อสู้กับจิตใจที่บอบช้ำหรือความเครียดตัวคนเดียวอาจหนักหนาเกินไปสำหรับคุณ งานวิจัยชิ้นแล้วชิ้นเล่าพิสูจน์แล้วว่า แรงสนับสนุนจากสังคมและส่วนตัวสามารถช่วยฟื้นฟูคนที่เผชิญกับปัญหาทางอารมณ์ได้[92] การได้พูดคุยกับเพื่อนสนิทและครอบครัว นักบำบัดหรือที่ปรึกษามืออาชีพ คนที่นับถือศาสนาเดียวกัน และ/หรือกลุ่มให้กำลังใจล้วนเป็นวิธีที่ดีที่จะได้รับแรงสนับสนุนจากผู้อื่น
    • หาแรงสนับสนุนจากคนที่ยอมรับคุณในแบบที่คุณเป็น เพราะถ้าคุณมีบาดแผลทางอารมณ์จากสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต สิ่งสุดท้ายที่คุณอยากทำก็คือการเปิดใจและเปลือยความเปราะบางของคุณให้คนที่เขาตัดสินคุณเห็น แบ่งปันความรู้สึกกับคนที่คุณไว้ใจ คนที่เขารักคุณและสนับสนุนคุณอย่างไม่มีเงื่อนไข
  6. How.com.vn ไท: Step 6 เรียนรู้จากอดีต.
    เวลาที่คุณนึกถึงเหตุการณ์ในอดีต ให้มองว่ามันเป็นประสบการณ์การเรียนรู้และเป็นที่มาของความแข็งแกร่งแทนที่จะเห็นว่ามันเป็นจุดอ่อน แม้กระทั่งเหตุการณ์ที่ยากลำบากและกดดันก็ยังสอนให้คุณได้พัฒนาความยืดหยุ่นทางอารมณ์และตอบโต้มันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคต[93] คำถามต่อไปนี้คือคำถามที่คุณควรถามตัวเอง:[94]
    • ประสบการณ์หรือเหตุการณ์แบบไหนที่มันสร้างความเครียดให้ฉันมากที่สุด
    • ปฏิกิริยาของฉันที่มีต่อประสบการณ์เหล่านี้เป็นอย่างไร
    • ประสบการณ์เหล่านี้มีผลกระทบต่อฉันในแง่ไหน
    • ฉันเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับตัวเองและฉันมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นอย่างไรหลังจากประสบเหตุการณ์นี้
    • การได้ช่วยให้คนอื่นทำความเข้าใจกับประสบการณ์แบบเดียวกันจะมีประโยชน์ต่อฉันไหม
    • ฉันเอาชนะอุปสรรคที่ผ่านมาได้อย่างไร
    • ฉันจะเอาวิธีที่ฉันเอาชนะอุปสรรคในครั้งนั้นมาปรับใช้กับอุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างไร
    โฆษณา


  1. http://www.apa.org/topics/anger/control.aspx
  2. http://healthland.time.com/2012/10/08/6-breathing-exercises-to-relax-in-10-minutes-or-less/
  3. http://www.health.harvard.edu/mind-and-mood/relaxation-techniques-breath-control-helps-quell-errant-stress-response
  4. http://www.scientificamerican.com/article/smile-it-could-make-you-happier/
  5. http://www.theatlantic.com/health/archive/2012/07/study-forcing-a-smile-genuinely-decreases-stress/260513/
  6. http://www.apa.org/topics/anger/control.aspx
  7. http://www.calmclinic.com/anxiety/treatment/visualization
  8. http://www.heart.org/HEARTORG/GettingHealthy/StressManagement/FourWaystoDealWithStress/Four-Ways-to-Deal-with-Stress_UCM_307996_Article.jsp
  9. http://www.apsu.edu/sites/apsu.edu/files/counseling/COGNITIVE_0.pdf
  10. http://psychcentral.com/lib/15-common-cognitive-distortions/0002153
  11. http://www.apsu.edu/sites/apsu.edu/files/counseling/COGNITIVE_0.pdf
  12. http://psychcentral.com/lib/15-common-cognitive-distortions/0002153
  13. http://www.apsu.edu/sites/apsu.edu/files/counseling/COGNITIVE_0.pdf
  14. http://psychcentral.com/lib/15-common-cognitive-distortions/0002153
  15. http://www.apsu.edu/sites/apsu.edu/files/counseling/COGNITIVE_0.pdf
  16. https://www.ted.com/talks/brene_brown_on_vulnerability/transcript?language=en
  17. http://www.forbes.com/sites/danschawbel/2013/04/21/brene-brown-how-vulnerability-can-make-our-lives-better/
  18. http://www.forbes.com/sites/danschawbel/2013/04/21/brene-brown-how-vulnerability-can-make-our-lives-better/
  19. http://www.forbes.com/sites/groupthink/2013/12/03/5-powerful-exercises-to-increase-your-mental-strength/
  20. http://psychcentral.com/lib/15-common-cognitive-distortions/0002153
  21. https://www.psychologytoday.com/blog/inviting-monkey-tea/201304/stop-shoulding-yourself-death-0
  22. https://www.psychologytoday.com/blog/inviting-monkey-tea/201304/stop-shoulding-yourself-death-0
  23. http://www.willmeekphd.com/developing-self-compassion/
  24. http://self-compassion.org/what-is-self-compassion/the-three-elements-of-self-compassion.html
  25. http://www.psychologicalscience.org/index.php/publications/observer/2012/march-12/the-price-of-perfectionism.html
  26. https://www.psychologytoday.com/blog/shift-mind/201105/the-problem-perfection
  27. http://self-compassion.org/the-three-elements-of-self-compassion-2/#3elements
  28. http://self-compassion.org/exercise-5-changing-critical-self-talk/
  29. https://www.psychologytoday.com/blog/the-courage-be-present/201001/how-practice-mindfulness-meditation
  30. http://marc.ucla.edu/body.cfm?id=22
  31. http://mina.education.ucsb.edu/janeconoley/ed197/documents/sheldonincreaseandsustainpositiveemotion.pdf
  32. https://www.psychologytoday.com/blog/what-matters-most/201303/what-is-your-best-possible-self
  33. http://blogs.psychcentral.com/leveraging-adversity/2014/10/want-to-be-mentally-tough-stop-doing-these-five-things/
  34. https://www.psychologytoday.com/blog/in-flux/201408/how-stop-taking-things-personally
  35. http://psychcentral.com/lib/15-common-cognitive-distortions/0002153
  36. http://www.huffingtonpost.com/sahaj-kohli/a-guide-to-building-emotional-strength_b_5586433.html
  37. http://www.helpguide.org/mental/mental_emotional_health.htm
  38. http://greatergood.berkeley.edu/article/item/how_a_challenging_past_can_lead_to_a_happier_present
  39. https://www.psychologytoday.com/blog/hide-and-seek/201205/building-confidence-and-self-esteem
  40. http://www.forbes.com/sites/womensmedia/2014/10/07/how-you-can-build-your-confidence-and-keep-it/
  41. http://www.takingcharge.csh.umn.edu/enhance-your-wellbeing/health/thoughts-emotions/how-do-thoughts-emotions-impact-health
  42. http://www.mayoclinic.org/healthy-living/stress-management/in-depth/exercise-and-stress/art-20044469
  43. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/20479481
  44. http://www.huffingtonpost.com/sahaj-kohli/a-guide-to-building-emotional-strength_b_5586433.html
  45. http://greatergood.berkeley.edu/article/item/can_giving_thanks_help_heal_from_trauma
  46. http://greatergood.berkeley.edu/article/item/how_gratitude_can_help_you_through_hard_times
  47. http://greatergood.berkeley.edu/topic/gratitude/definition#how_to_cultivate
  48. http://greatergood.berkeley.edu/article/item/ten_ways_to_become_more_grateful1/
  49. http://greatergood.berkeley.edu/topic/empathy/definition#how_to_cultivate
  50. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/18365029
  51. http://news.harvard.edu/gazette/story/2012/11/meditations-positive-residual-effects/
  52. http://www.contemplativemind.org/practices/tree/loving-kindness
  53. http://greatergood.berkeley.edu/article/item/chaning_our_minds
  54. http://greatergood.berkeley.edu/article/research_digest/do_our_brains_think_some_people_deserve_to_suffer/
  55. http://www.forbes.com/sites/groupthink/2013/12/03/5-powerful-exercises-to-increase-your-mental-strength/
  56. http://www-psychology.concordia.ca/fac/dugas/downloads/en/Intolerance_of_uncertainty.pdf
  57. http://www.anxietybc.com/sites/default/files/ToleratingUncertainty.pdf
  58. http://www-psychology.concordia.ca/fac/dugas/downloads/en/Intolerance_of_uncertainty.pdf
  59. http://www.anxietybc.com/sites/default/files/ToleratingUncertainty.pdf
  60. http://www.anxietybc.com/sites/default/files/ToleratingUncertainty.pdf
  61. http://www.anxietybc.com/sites/default/files/ToleratingUncertainty.pdf
  62. http://www.anxietybc.com/sites/default/files/ToleratingUncertainty.pdf
  63. http://www.apa.org/monitor/nov05/cycle.aspx
  64. http://psychcentral.com/blog/archives/2011/01/20/why-ruminating-is-unhealthy-and-how-to-stop/
  65. http://www.apa.org/monitor/nov05/cycle.aspx
  66. http://www.apa.org/monitor/nov05/cycle.aspx
  67. http://www.forbes.com/sites/groupthink/2013/12/03/5-powerful-exercises-to-increase-your-mental-strength/
  68. http://psychcentral.com/blog/archives/2011/01/20/why-ruminating-is-unhealthy-and-how-to-stop/
  69. http://www.cci.health.wa.gov.au/docs/Assertmodule%202.pdf
  70. http://socialwork.buffalo.edu/content/dam/socialwork/home/self-care-kit/exercises/assertiveness-and-nonassertiveness.pdf
  71. http://www.forbes.com/sites/groupthink/2013/12/03/5-powerful-exercises-to-increase-your-mental-strength/
  72. http://psychcentral.com/lib/9-myths-and-facts-about-therapy/0009331
  73. http://www2.nami.org/Content/ContentGroups/Helpline1/Mental_Health_Professionals_Who_They_Are_and_How_to_Find_One.htm
  74. http://www.simplypsychology.org/emotion-focused-coping.html
  75. https://www.psychologytoday.com/articles/200308/recovering-trauma
  76. https://www.psychologytoday.com/articles/200308/recovering-trauma
  77. https://drkathleenyoung.wordpress.com/2011/06/09/talking-vs-processing-in-trauma-therapy/
  78. https://www.psychologytoday.com/blog/the-art-now/201404/using-mindfulness-trauma-survivors
  79. http://www.ptsd.va.gov/professional/treatment/overview/mindful-PTSD.asp
  80. https://www.psychologytoday.com/articles/200308/recovering-trauma
  81. https://www.psychologytoday.com/blog/arts-and-health/201203/trauma-informed-expressive-arts-therapy
  82. http://www.trauma-informedpractice.com/
  83. https://www.uic.edu/classes/psych/psych270/PTSD.htm
  84. http://greatergood.berkeley.edu/article/item/how_a_challenging_past_can_lead_to_a_happier_present
  85. http://www.apa.org/helpcenter/road-resilience.aspx

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

How.com.vn ไท: Trudi Griffin, LPC, MS
ร่วมเขียน โดย:
ผู้ให้คำปรึกษามืออาชีพที่มีใบอนุญาต
บทความนี้ ร่วมเขียน โดย Trudi Griffin, LPC, MS. ทรูดี้ กริฟฟินเป็นผู้ให้คำปรึกษามืออาชีพที่มีใบอนุญาตในวิสคอนซิน เธอได้รับปริญญาโทด้านการให้คำปรึกษาเรื่องสุขภาพจิตจากมหาวิทยาลัยมาร์เกว็ตต์ในปี 2011 บทความนี้ถูกเข้าชม 4,709 ครั้ง
มีการเข้าถึงหน้านี้ 4,709 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

⚠️ Disclaimer:

Content from Wiki How ไท language website. Text is available under the Creative Commons Attribution-Share Alike License; additional terms may apply.
Wiki How does not encourage the violation of any laws, and cannot be responsible for any violations of such laws, should you link to this domain, or use, reproduce, or republish the information contained herein.

Notices:
  • - A few of these subjects are frequently censored by educational, governmental, corporate, parental and other filtering schemes.
  • - Some articles may contain names, images, artworks or descriptions of events that some cultures restrict access to
  • - Please note: Wiki How does not give you opinion about the law, or advice about medical. If you need specific advice (for example, medical, legal, financial or risk management), please seek a professional who is licensed or knowledgeable in that area.
  • - Readers should not judge the importance of topics based on their coverage on Wiki How, nor think a topic is important just because it is the subject of a Wiki article.

โฆษณา